Green Pulse I เส้นใยเก่าสู่เสื้อตัวใหม่

Green Pulse I เส้นใยเก่าสู่เสื้อตัวใหม่

กลุ่มฟาสต์ รีเทลลิ่ง เจ้าของสินค้าเครื่องแต่งกายแบรนด์ดัง Uniqlo จากญี่ปุ่นเตรียมทดลองรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ที่ถูกใช้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นใยที่ใช้บุในเสื้อแจ็คเก็ตกันหนาวของแบรนด์ และเส้นใยที่ทำมาจากขวดน้ำที่ใช้แล้ว มาผลิตเป็นเครื่องแต่งกายใหม่ โดยจะร่วมมือกับผู้ผลิตวัสดุอุตสาหกรรมชื่อดัง Torey

ยิ่งไปกว่านั้น ทางกลุ่มวางแผนที่จะนำผลิตภัณฑ์รีไซเคิลเหล่านี้ ออกวางขายจริงในตลาดภายในปี 2020, สื่อญี่ปุ่น รวมทั้ง Nikkei Asian Review ได้รายงานเมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา

ทางผู้บริหารของทั้งสองบริษัทคือ นายทาดาชิ ยานาย และ นาย อากิฮิโร ฯ นิกกากุจาก Toreyได้ประกาศความคิดริเริ่มดังกล่าวในกรุงลอนดอนเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน หลังจากฟาสต์แฟชั่นเป็นอีกเซ็คเตอร์หนึ่งที่ถูกตั้งคำถามว่ามีส่วนในการผลิตขยะของเสีย และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อนในเวลานี้

โดยนายยานายกล่าวว่า ทางกลุ่มต้องการสร้างความยั่งยืนของสังคมผ่านผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย

“โลกทั้งใบนี้กำลังเผชิญภาวะวิกฤติ และปราศจากโลกใบนี้ เราทุกคนก็ไม่สามารถทำธุรกิจได้อีก เราจึงต้องการที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมผ่านผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย”

Uniqlo นับเป็นแบรนด์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสำเร็จรูปจากต่งประเทศอีกแบรนด์ที่สามารถทำตลาดในประเทศไทยได้สำเร็จ โดยมีการขยายสาขาทั่วประเทศถึง 50 สาขา

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา ทางบริษัทได้เริ่มขับเคลื่อนโครงการ Uniqlo Sustainability ที่พยายามผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ไปจนถึงการรีไซเคิลหรือการนำเครื่องแต่งกายของแบรนด์ที่ถูกใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ผ่านงานบริจาคต่างๆ

และในครั้งนี้ บริษัทได้พยายามขับเคลื่อนงานด้านรีไซเคิลซึ่งมีความยุ่งยากซับซ้อนในกระบวนการผลิตซ้ำ หลังจากประสบความสำเร็จในการริเริ่มงานในสองด้านแรก คือการจัดหาวัตถุดิบและการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น อาทิ การจัดหาเส้นใยจากสำลีที่ได้รับการรับรองว่าปลอดสารพิษและลดการใช้น้ำ หรือการจัดหาเส้นใยที่ใช้บุเสื้อกันหนาวต้องมาจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ไม่ทารุณสัตว์ เป็นต้น

ในงานด้านการนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล บริษัทได้ริเริ่มรับการบริจาคเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายภายใต้แบรนด์ เพื่อนำไปบริจาคให้กับผู้ลี้ภัยหรือผู้ประสบภัยในที่ต่างๆ ร่วมกับUnited Nations High Commissioner for Refugees (UNHCR) และองค์การไม่หวังกำไรต่างๆ โดยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่บริจาคไม่ได้ จะถูกนำไปรีไซเคิลเป็นเชื้อเพลิงหรือกระดาษ จนกระทั่งเวลานี้ที่ทางบริษัทคิดนำมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ทางแบรนด์สามารถรวบรวมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสำหรับนำไปบริจาคได้ถึง 77.57 ล้านชิ้นใน 18 ประเทศที่มีสาขาอยู่ โดยได้นำไปบริจาคราว 30.29 ล้านชิ้น ใน 65 ประเทศ

โดยร้าน Uniqlo ทั่วญี่ปุ่นจะเริ่มเปิดรับบริจาคเสื้อกันหนาวบุเส้นใยที่ใช้แล้วจากลูกค้าตั้งแต่เดือนนี้เพื่อนำไปรีไซเคิล ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตวัสดุจาก Torey จะเป็นตัวช่วยให้โปรเจ็คใหม่นี้สำเร็จ ผู้บริหารกลุ่มกล่าว

ในขณะเดียวกัน ขวดน้ำที่ใช้แล้วจะถูกนำมาแปรสภาพเป็นเส้นใยสำหรับการผลิตเสื้อ T-shirt อีกด้วย

นอกจากผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย แบรนด์ Uniqlo ยังพยายามลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวในร้าน ไม่ว่าจะเป็นถุงใส่สินค้า หรือหีบห่อผลิตภัณฑ์ โดยพยายามหันมาใช้กระดาษแทน หรือไม่ใช้เลย ซึ่งจะเริ่มภายในเดือนนี้เช่นกัน

ทาง Uniqlo หวังว่า จะสามารถลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวในร้นทั่งโลกได้ถึง 85% ภายในปีหน้า หรือราว 7,800 ตัน

สำหรับฟาสต์แฟชั่น ซึ่งถูกตั้งคำถามถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตขยะของเสีย และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถูกองค์กรรณรงค์ต้านภาวะโลกร้อนและมลพิษระดับโลก กรีนพีซ (Greenpeace) ตั้งคำถามมาก โดยมีรายงานจากโครงการ Unearthed ขององค์กร ระบุว่าในประเทศอังกฤษเอง ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของฟาสต์แฟชั่นของยุโรป ผู้บริโภคแต่ละคนซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายถึงกันคนละ 26.7 กิโลกรัมต่อปี มากกว่าผู้บริโภคในที่อื่นๆ อาทิ เยอรมันนี ฝรั่งเศส อิตาลีถึงราว 10 กิโลกรัม

ในกระบวนการผลิตเส้นใยสังเคราะห์เพียงอย่างเดียว มีการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจาก ปี 2000 หรือราว 60% ในปี 2562นี้ โดยกรีนพีซระบุว่า แค่เพียงเสื้อเชิ๊ตที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ มีการผลิตคาร์บอนถึงราว 5.5 กิโลกรัม เทียบกับเสื้อเชิ๊ตที่ทำจากเส้นใยสำลีที่ผลิตคาร์บอนน้อยกว่าครึ่งหรือราว 2.1 กิโลกรัม

และหากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ เท่ากับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมีสัดส่วนของคาร์บอนที่ต้องลดเพื่อช่วยรักษาไม่ให้อุณหภูมอของโลกเกิน 2 องศาถึง 1 ใน 4 ที่ต้องการ หรือราว 26% กรีนพีซระบุ โดยอ้างอิงรายงานของรัฐสภาอังกฤษ

ภาพ: Uniqlo FB page.