แรงงานไทยเกินครึ่งเป็นกลุ่มคนด้อยทักษะความรู้ ขาดฝีมือระดับสูง

แรงงานไทยเกินครึ่งเป็นกลุ่มคนด้อยทักษะความรู้ ขาดฝีมือระดับสูง

รัฐบาลประกาศก้าวสู่ Thailand 4.0 ขณะที่ศักยภาพของคนในประเทศ โดยเฉพาะแรงงาน กว่า 21.2 ล้านคน หรือเกินครึ่งของแรงงานทั้งหมดที่เรียกว่า “แรงงานนอกระบบ” ตั้งแต่ช่วงวัย 15-60 ปีขึ้นไป ยังเป็นกลุ่มแรงงานด้อยทักษะความรู้

ขณะนี้หลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนต่างพยายามมุ่งพัฒนาฝีมือแรงงานของไทยให้มีทักษะตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกดิจิทัล “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทำหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำทั้งด้านการศึกษาและเศรษฐกิจในกลุ่มแรงงานนอกระบบ จึงได้ร่วมกับ 73 หน่วยงานพัฒนาอาชีพที่ได้รับการคัดเลือก อาทิ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัย ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์ปราชญ์ กศน.อำเภอ วิสาหกิจชุมชน ดำเนินโครงการพัฒนาระบบตัวอย่างการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสโดยมีชุมชนเป็นฐาน

โดยมุ่งยกระดับฝีมือแรงงานระดับ 1.0 และ 2.0 ทุกช่วงอายุ กลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและมีรายได้ต่ำกว่า 6,500 บาท รวมถึงผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้ที่ว่างงาน คนพิการ คนเร่ร่อน เยาวชนในสถานพินิจ ผู้ต้องขัง ที่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม หัตถกรรม เน้นการใช้แรงงานหนักและราคาถูก ให้มีทักษะสูงขึ้น มีงานทำ มีโมเดลธุรกิจของตัวเอง มีรายได้สูงขึ้น โดยมีพื้นที่ชุมชน ตำบลหรือเทศบาลเป็นฐานสร้างการเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมกันจำนวนกว่า 76 ตำบล ใน 42 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาค ซึ่งในปีแรกจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากกว่า 6,239 คน

10658361791934

 นายสมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)กล่าวว่าแรงงานนอกระบบเป็นทั้ง คนว่างงาน คนพิการ และสุดท้ายกลายเป็นภาระชุมชน สังคม ถูกตีตราเป็นคนด้อยโอกาส การศึกษาที่ผ่านมาดึงลูกหลานออกจากชุมชนทุกวัน ชุมชนอ่อนแอลงตามลำดับ ช่องว่างในประเทศมากขึ้นทุกวัน ความเหลื่อมล้ำเป็นผลพวงจากเรื่องนี้ การแก้ไขต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ให้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของประเทศ และตัดวงจรความเหลื่อมล้ำข้ามชั่วคนได้

“การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงานมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแรงงานยากจน ต้องยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาอีกด้วย โดยความร่วมมือกับเครือข่ายหน่วยพัฒนาอาชีพทั้ง 73 แห่ง จะไปจับคู่กับชุมชนดำเนินงานยกระดับทักษะการประกอบอาชีพให้กับแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โครงการจะส่งเสริมให้ชุมชนและสถานประกอบการ ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เกิดเป็นเครือข่ายจับคู่การพัฒนา เช่น การร่วมเป็นวิทยากร การใช้สถานที่ฝึกงาน และการสมทบทรัพยากรในรูปแบบที่เป็นไปได้ เน้นกระบวนการเสริมศักยภาพของชุมชนในการพัฒนาอาชีพ บนฐานข้อมูล ความรู้ ทุนทางสังคม เศรษฐกิจ และทรัพยากร สร้าง Creative Space ที่มีการใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และทุนทางสังคมเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ มุ่งเป้าตรงตามความต้องการของชุมชนหรือตลาดแรงงานท้องถิ่นร่วมไปกับการสร้างพื้นฐานทักษะอาชีพในฐานะผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ขนาดย่อมในชุมชน” นายสมพงษ์ กล่าว

73 โครงการ จะเป็นโมเดลหรือระบบต้นแบบสำคัญของประเทศ ในการยกระดับแรงงาน 1.0 หรือ 2.0 ให้เป็นแรงงานมีฝีมือ เป็นผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ของชุมชนช่วยการแก้ไขความเหลื่อมล้ำไม่ใช่เศรษฐกิจมหภาค แต่เป็นเศรษฐกิจฐานราก

10658361896602

นายบัญชร แก้วส่อง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ต้องมองเห็นนิเวศของชุมชนว่าเป็นอย่างไร เพื่อความเข้าใจต่อวิถีชีวิตของผู้คน ที่ผ่านมาการศึกษามักพาคนออกจากพื้นที่ ทำให้ชุมชนอ่อนแอลง ขณะที่การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานมุ่งเน้นในระดับปัจเจกไม่ได้เชื่อมโยงกับศักยภาพของชุมชน จึงยังไม่เกิดพลังจากเครือข่ายที่สามารถช่วยเหลือ เกื้อกูลกันได้

“หน่วยพัฒนาอาชีพ จะทำอย่างไรให้ผู้คนรักการเรียนรู้ เกิดปัญหา เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน นำมาสร้างเส้นทางอาชีพ และจะต้องเป็นการสร้างอาชีพให้เหมาะกับพื้นที่ ที่สำคัญการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ต้องให้การศึกษา มีพลังที่จะหาทางแก้ให้อยู่ในพื้นที่ให้ได้พัฒนาทั้งทักษะฝีมือแรงงานพัฒนาปัญญา พัฒนาหัวใจ ควบคู่ไปกับฝีมือ”นายบัญชา กล่าว

10658361976106

นายชาญ อุทธิยะ ปราชญ์ชาวบ้านภาคเหนือ บ้านสามขา อำเภอแม่ทะ จ.ลำปาง กล่าวว่าถ้าอาชีพนั้นมีฐานทุนในชุมชนและต่อยอด โอกาสประสบความสำเร็จมีสูง เพราะยกระดับจากฐานความรู้เดิมที่มีอยู่ในชุมชน ขยายตัวไปถึงคนอื่นได้มาก อย่าง ชุมชนเคยทำกล้วยอบ มีความรู้ว่าทำอย่างไร ขายที่ไหน แต่ทำไม่นานก็ล้มเหลว เพราะไม่มีกล้วย แรงงานในชุมชนมีฝีมือแต่ขาดทรัพยากรจากชุมชนก็เดินต่อไม่ได้ การทำโครงการฯ จะประสบความสำเร็จ เพิ่มทักษะแรงงานผู้ขาดแคลนและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนได้ผลสำเร็จ ต้องเริ่มด้วยเข้าถึง ควรมาก่อนความเข้าใจ จากนั้นสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดความเชื่อใจ ไว้ใจและออกแบบการทำงานร่วมกัน หน่วยพัฒนาอาชีพต้องสวมบทบาทเป็นพี่เลี้ยง ไม่คิดแทน ทำแทนและรับประโยชน์แทน มีการถอดบทเรียนความรู้ และสื่อสารกัน เป็นระยะ เพื่อสร้างกำลังใจต่อกัน

10658362109786

10658361849824

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-'รองปลัดแรงงาน' เผย ไทยมุ่งส่งเสริมคุ้มครองสิทธิแรงงานภายใต้ฉันทามติอาเซียน

-แรงงานฯประสานคลัง ช่วยพนักงานตกงานหลังควบ 2 แบงก์

-การขับเคลื่อนนโยบายแรงงาน

-แรงงานยุคใหม่ ฮิตหางานผ่านไลน์