เปิด 21 ประเด็นแนบท้าย'ซีพี'เคลียร์จบ ค้างปมทุบโฮปเวลล์

เปิด 21 ประเด็นแนบท้าย'ซีพี'เคลียร์จบ ค้างปมทุบโฮปเวลล์

ร.ฟ.ท.สรุป 22 ประเด็นเจรจาเอกสารแนบท้ายไฮสปีดกับ "ซีพี" เสนอรองนายกฯ อนุทิน ได้ข้อสรุป 20 ประเด็น ค้างเรื่องทุบเสาโฮปเวลล์

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้สรุปประเด็นที่มีการเจรจาในเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาร่วมลงทุน รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) กับ กิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) เพื่อเสนอนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา

เอกสารดังกล่าวสรุปประเด็นที่มีการเจรจากับกลุ่มซีพี 21 ประเด็น โดยมี 1 ประเด็นที่เจรจาจบแบบมีเงื่อนไข คือ การจัดหาและส่งมอบพื้นที่ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟและพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการ

ทั้งนี้ มีรายละเอียดร่างสัญญากำหนดว่า พื้นที่ของโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนที่เป็นสาระสำคัญซึ่ง ร.ฟ.ท.พร้อมส่งมอบให้เอกชนคู่สัญญาตามที่กำหนดไว้ โดยพื้นที่ดังกล่าวจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 50% ของจำนวนพื้นที่โครงการทั้งหมด

การเจรจาในประเด็นนี้เอกชนยื่นขอเสนอเจรจาในประเด็นนอกเหนือเอกสารข้อกำหนดการเสนอโครงการ (RFP) โดยเอกชนมีความเห็นไม่ตรงกันในส่วนหน้าที่และการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายโครงสร้าง โฮปเวลล์

ส่วนประเด็นที่เจรจาแล้วเสร็จอีก 20 ประเด็น คือ 1.การจัดหาและให้เงินที่รัฐร่วมลงทุนโครงการ โดยอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นผู้เบิกเงินงบประมาณแทน ร.ฟ.ท.

2.การให้สิทธิการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟและการให้สิทธิการบริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูง

3.การให้สิทธิการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟและให้สิทธิเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟใน่สวนของรถไฟความเร็วสูง และการให้สิทธิการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของ แอร์พอร์ต เรลลิงก์ ให้เอกชนคู่สัญญา เมื่อเอกชนคู่สัญญาชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์

ในประเด็นดังกล่าวมีการเจรจารายละเอียดเสร็จแล้ว โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมให้เอกชนคู่สัญญาจะต้องเสนอแผนงานในส่วนแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ให้ ร.ฟ.ท.ก่อน เพื่อให้ ร.ฟ.ท.จัดเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและพื้นที่

4.การให้สิทธิการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟและให้สิทธิการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงก์

5.การให้สิทธิการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการ

6.การให้สิทธิการดำเนินการทางพาณิชย์ โดยระบุถึงสัญญาพันธะผูกพันที่ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ (1) สัญญาเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์กับโคอะฉะ มีเดีย ในพื้นที่แอร์พอร์ต เรลลิงก์ 8 สถานี ซึ่งหมดสัญญาวันที่ 6 ก.พ.2562 และ (2) สัญญาเช่าพื้นที่โฆษณากับโคอะฉะ มีเดีย ในพื้นที่แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 8 สถานี หมดสัญญาวันที่ 3 ต.ค.2564

7.การช่วยประสานงานกับหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง กรณีที่เอกชนคู่สัญญาประสงค์จะทำ ระบบขนส่งต่อเนื่อง (Feeder System) ตามที่ ร.ฟ.ท.เห็นสมควร

8.หน้าที่อื่นของ ร.ฟ.ท.ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน

9.การดำเนินโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ได้แก่ HSR ARL และ ARLX

10.การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบเครื่องกลและไฟฟ้า รวมถึงจัดหาขบวนรถให้เพียงพอ โดยต้องทำแผนโอนถ่ายธุรกิจที่ตกลงร่วมกับ ร.ฟ.ท.และส่งมอบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญส่วนที่ปรับปรุง

11.การให้บริการเดินรถและปรับปรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนแอร์พอร์ต เรลลิงก์ โดยต้องเดินรถอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดให้บริการและไม่มีผลกระทบกับการให้บริการประชาชน ภายหลังการส่งมอบทรัพย์สินในกรรมสิทธิ์ที่เป็นสาระสำคัญส่วนที่ปรับปรุง

12.การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟโครงการ และหน้าที่ในการดำเนินกิจการทางพาณิชย์

13.การนำส่งผลประโยชน์ตอบแทน ร.ฟ.ท.

14.การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญ

15.การชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงก์ภายใน 2 ปี นับจากวันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลใช้บังคับ

16.การชำระค่าเช่าที่ดินที่ใช้ในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการบริการของโครงการบริเวณ สถานีแอร์พอร์ต สถานีมักกะสัน และสถานีศรีราชา

17.หน้าที่อื่นของเอกชนคู่สัญญาที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน

18.การดำเนินการใดๆ เพื่อให้ได้มาและดำรงรักษาใบอนุญาตใดๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการ ตลอดจนการดำเนินกิจการของเอกชนคู่สัญญาให้มีผลใช้บังคับ และยื่นขอใบอนุญาตใดๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการ ตลอดจนดำเนินกิจการของเอกชนคู่สัญญาภายในระยะเวลาที่กฎหมายไทยกำหนด รวมทั้งจดทะเบียนและปฏิบัติตามกฎหมายไทย ซึ่งจำเป็นต่อภาระหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุน

19.การวางหลักประกันที่ออกโดยธนาคารและส่งมอบหนังสือรับประกันทุกฉบับที่ออกโดยผู้ถือหุ้นของเอกชนคู่สัญญา

20.การให้ความร่วมมือกับเอกชนคู่สัญญาเพื่อให้เอกชนคู่สัญญาประสานงานอำนวยความสะดวก และดำเนินการอื่นใดเพื่อให้หน่วยงานของรัฐอื่นที่เกี่ยวข้องในการรื้อย้าย หรือปรับปรุง หรือก่อสร้างใหม่ในงานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับรถไฟในพื้นที่เขตทางรถไฟ ซึ่ง ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างประสานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

21.การใช้ความพยายามอย่างสมเหตุผลในการประสายกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เอกชนคู่สัญญาได้รับสิทธิและประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนและกฎหมายอื่น