Human Genomic Music ดนตรีที่ฟังแล้วจะเข้าใจ พันธุกรรมมนุษย์

Human Genomic Music ดนตรีที่ฟังแล้วจะเข้าใจ พันธุกรรมมนุษย์

ทีเซลส์เปิดตัว Human Genomic Music ประยุกต์ผลงานจากการศึกษาวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ใช้รหัสพันธุกรรมมนุษย์ หรือ ดีเอ็นเอ นำมาสร้างเป็นบทเพลงและเสียงดนตรี เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารให้แก่ประชาชนขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

 Human Genomic Music : เครื่องมือสื่อสารสร้างความรับรู้ด้านจีโนมมนุษย์ เปิดตัวในงาน Bio Investment Asia 2019 โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

การถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ เปรียบเสมือนการเผยความลับของ “พิมพ์เขียวมนุษย์” ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญในทางชีววิทยาศาสตร์  พันธุศาสตร์ และการแพทย์สมัยใหม่ ที่นักวิจัยทั่วโลกศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อค้นหาและไข “รหัสลับ” ที่ทำให้มนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไป เช่น ความสูง สีผิว สีผม สีของนัยน์ตา หรือก่อให้เกิดโรคพันธุกรรมที่จะถูกถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ความรู้ด้านจีโนมิกส์เข้ามามีอิทธิพลสำคัญต่อการแพทย์และสาธารณสุขของโลกอย่างมาก ในเรื่องแนวทางการดูแล รักษาและป้องกันสุขภาพของมนุษย์ ได้ประยุกต์ใช้และเชื่อมโยงข้อมูลด้านพันธุกรรม (Genomic information) สภาพแวดล้อม (Environment) และวิถีชีวิต (Lifestyle) การเข้าถึงและเข้าใจถึงความเชื่อมโยงนี้ ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย และยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ถึงรายละเอียดและความสัมพันธ์นี้ 

S__27140106

ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ทีเซลส์ (TCELS) เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างความตระหนักและการรับรู้ต่อประชาชน โดยได้จัดทำ Human Genomic Music: เครื่องมือสื่อสารสร้างความรับรู้ด้านจีโนมมนุษย์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของจีโนมิกส์เผยแพร่สู่สาธารณชน ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย จึงได้จัดทำโครงการ Human Genomic Music ขึ้น เพื่อประยุกต์ผลงานจากการศึกษาวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ใช้รหัสพันธุกรรมมนุษย์ หรือ ดีเอ็นเอ นำมาสร้างเป็นบทเพลงและเสียงดนตรี เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารให้แก่ประชาชนขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย  โดยดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ใช้การจับคู่เบส 3 ในการแปลงเป็นโน้ตดนตรี 1 เสียง ดังนั้น รหัสดีเอนเอ ซึ่งประกอบด้วยเบส 4 ตัว คือ A T C G เมื่อจับคู่ 3 เป็น AAA AAG AAC AAT ACA ACG ACT จะสามารถเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมเหล่านี้ได้ออกมาเป็น 64 ตัวโน้ต หรือ 64 เสียง ซึ่งโครงการนี้ ได้ใช้   

ดีเอ็นเอ จากคนไทย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่ไม่มีโรค กลุ่มคนที่มียีนโรคมะเร็ง และจากกลุ่มคนที่มียีนอัลไซเมอร์ นำมาร้อยเรียงใส่จังหวะให้เป็นบทเพลง ซึ่งต้องใช้ความเข้าใจถึงพันธุศาสตร์ และความสามารถเฉพาะทางดนตรีที่จะถอดรหัสทางพันธุกรรม เป็น code และถ่ายทอดจากชุด code ดังกล่าว เป็นโน้ตดนตรี จากนั้นจึงนำมาเรียบเรียงใส่จังหวะ เพื่อให้เป็นดนตรีที่มีความสมบูรณ์ มีคุณภาพ ถ่ายทอดให้เกิดอรรถรส สื่อความหมาย เกิดแรงบันดาลใจ ไปยังประชาชนได้ 

S__27140104

ในการดำเนินงานครั้งนี้ได้ผู้ประพันธ์บทเพลง Music Director และนักดนตรี มืออาชีพ คือ คุณหนึ่ง-จักรวาล เสาธงยุติธรรม มาเรียบเรียงดนตรีให้โดยบทเพลงแห่งชีวิตทั้ง 3 บทเพลง ได้แก่

1. Homo sapieno #1: Human Genomic Musical Stories Music Style: Progressive Blues นำเสนอจังหวะการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่ผ่านช่วงต่างๆ ของชีวิต มีทั้งความสุข ความเศร้า เริ่มตั้งแต่เกิด เติบโต เรียนรู้ เข้าสู่วัยทำงาน ฝ่าพันอุปสรรคต่างๆ จนเข้าสู่วัยชรา จนสิ้นอายุขัย

2. Homo sapieno #2: Cancer storiesMusic Style: New Age นำเสนอเรื่องราวความเศร้า ความท้อแท้ของการเกิดโรค และความหวังที่จะบำบัดรักษาให้หายขาด สลับกันไปตามช่วงเวลาต่างๆ และถ่ายทอดออกมาเป็นแนวดนตรีสมัยใหม่ ที่ไม่ได้มีจังหวะที่ชัดเจน

3. Homo sapieno#3: The Alzheimer’s Stories Music Style: Waltz เนื่องด้วยผู้ป่วยอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีอาการหลงลืม สับสน จึงได้ นำเสนอความสับสนของการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผ่านจังหวะวอลซ์ที่มีความเนิบช้าและสับสน แต่ประคองให้อยู่ในท่วงจังหวะทำนองที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะประติดประต่อเรื่องราวและความจำระยะยาวที่ยังฝังอยู่ในจิตใจ 

S__27140101

Henry Wadsworh Longfellon จินตกวีชาวอเมริกันได้กล่าวไว้ “ดนตรีเป็นภาษาสากลของมนุษยชาติ เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และมนุษย์ได้นำมาดัดแปลงแก้ไขให้ประณีตงดงามไพเราะ เมื่อฟังดนตรีแล้วทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดต่างๆ” (Music is the universal language of mankind.) ดังนั้น โครงการ Human Genomic Music ของ ทีเซลส์ (TCELS) ในครั้งนี้ จึงมีเป้าหมายในการสร้างความรับรู้ในเรื่องพันธุศาสตร์ และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารด้านจีโนมมนุษย์ และลักษณะของโรคพันธุกรรมได้อีกทางหนึ่ง  

• Download ฟังตัวอย่างผลงานดนตรี จีโนมมนุษย์ https://drive.google.com/drive/folders/1_3ZElNf0Z40AdiNfVHo6ZQKmeRZNvh0W

หรือ https://drive.google.com/drive/mobile/folders/1_3ZElNf0Z40AdiNfVHo6ZQKmeRZNvh0W?usp=sharing

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม www.tcels.or.th