กสทช.ประกาศเงื่อนไขรับเงินจัดเรตติ้งใหม่

กสทช.ประกาศเงื่อนไขรับเงินจัดเรตติ้งใหม่

ชี้ใน 1 ปี ไม่มีใครสน เอาเงินคืนรัฐ

“ฐากร” แจง ยกเลิกประกาศเงื่อนไขรับเงินจัดเรตติ้งฉบับเก่าแล้ว พร้อมนำฉบับใหม่ประกาศขึ้นเว็บทันที หลังช่อง 7 ร้องศาล เงื่อนไขไม่เป็นธรรม ชี้ประกาศฉบับใหม่เปิดกว้าง ภายใน 1 ปี หากไม่มีใคร ต้องนำเงินคืนรัฐ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.ได้ยกเลิกประกาศสำนักงานกสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขการจัดสรรเงินในการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอล ลงวันที่ 23 พ.ค. 2562 และปรับปรุงแก้ไขประกาศฉบับใหม่ขึ้นเว็บไซต์ของกสทช.ในวันที่ 27 ก.ย. 2562 เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือ ช่อง 7 ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่าประกาศดังกล่าวไม่เป็นธรรม

สำหรับประกาศเดิมระบุว่าผู้ที่มีสิทธิ์ในการรับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกสทช.เพื่อดำเนินการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ (เรตติ้ง) นั้นต้องเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนมาแล้ว 3 ปี ทำให้ช่อง 7 คัดค้านว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะทางผู้ประกอบการของเขาเองเพิ่งมีการรวมตัวกันทำให้ไม่สามารถตรงกับเงื่อนไขของประกาศได้ ซึ่งตนเองได้ทราบเรื่องตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา จึงได้เรียกทีมคณะทำงานเรื่องนี้มาหารือ จนทราบว่าคณะทำงานได้ยึดหลักเกณฑ์จากระเบียบการให้ทุนของกสทช. ตนจึงได้ชี้แจงว่ากรณีนี้เป็นไปตามประกาศใน ม. 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่จำเป็นต้องยึดหลักการเดิม และตั้งใจจะยกเลิกประกาศฉบับเดิมและปรับปรุงแก้ไขประกาศฉบับใหม่บนเว็บไซต์ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ตามขั้นตอนแล้ว หากช่อง 7 รู้สึกว่าประกาศของกสทช.ไม่เป็นธรรม ก็สามารถส่งหนังสืออุทธรณ์มายังกสทช.ได้ แต่เชื่อว่า ช่อง 7 อาจจะไม่รู้ถึงกระบวนการตามขั้นตอนดังกล่าว ทำให้เรื่องนี้ไปอยู่ในชั้นศาล ซึ่งในวันที่ 27 ก.ย. ตนได้มีโอกาสพูดคุยกับ นางเยาวลักษณ์ พูลทอง กรรมการผู้จัดการ กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ เรียบร้อยแล้ว ส่วนหน้าที่ของกสทช. ก็ต้องทำหน้าที่ชี้แจงต่อศาลว่าได้ยกเลิกประกาศฉบับเก่าแล้ว

นายฐากร กล่าวว่า ประกาศฉบับใหม่ไม่มีการระบุข้อความ ต้องเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนมาแล้ว 3 ปี แต่จะเปิดโอกาสให้ทุกนิติบุคคล จากนี้ไปภายในเวลา 1 ปี ให้สามารถมายื่นข้อเสนอต่อกสทช. จากนั้นกสทช.ค่อยคัดเลือกผู้ที่ให้ข้อเสนอดีที่สุดต่อไป หากภายใน 1 ปี ไม่มีผู้สนใจ กสทช.ต้องนำเงิน 431 ล้านบาท คืนรัฐบาล

พร้อมกันนี้ นายฐากรกล่าวว่า วานนี้ (27 ก.ย. 2562) สำนักงาน กสทช. คืนเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลงวดที่ 5 ให้แก่ ทีวีดิจิทัล 3 ช่อง ได้แก่ บ.สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด (ช่อง SpringNews 19) บ.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7) และ บ.ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด (ช่อง Workpiont TV) ที่ได้ชำระค่าใบอนุญาตฯ งวดที่ 5 มาแล้ว เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,055,662,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) แยกเป็น คืนให้ บ.สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด (ช่อง SpringNews 19) เป็นเงิน 234,972,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) บ.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7) เป็นเงิน 398,040,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) และ บ.ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด (ช่อง Workpiont TV) เป็นเงิน 422,650,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)

โดยการคืนเงินดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ข้อ 12 (1) (1.1) (ข) และข้อ 15 ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกเงินคืนคลื่นความถี่ตามคำสั่งดังกล่าว ได้รับการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สองงวดสุดท้าย (งวดที่ 5 และงวดที่ 6) ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 สำหรับผู้รับใบอนุญาตที่ได้ชำระค่าธรรมเนียมเกินไปจากงวดที่ได้รับการยกเว้น ให้สำนักงาน กสทช. จ่ายเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวคืน