ครูตั้น ประกาศชัดทุกโรงเรียนต้องมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

ครูตั้น ประกาศชัดทุกโรงเรียนต้องมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

รมว.ศธ.ประกาศดึงความร่วมมือนานาชาติ หนุนปฏิรูปการเรียนการสอน ส่งเสริมครูพัฒนาผู้เรียน ย้ำทุกโรงเรียนต้องมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ปลื้มผลวิจัย OECD 3 ปี พบเด็กพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ได้ด้วยฝีมือครูไทย ขณะที่ กสศ.-สพฐเตรียมขยายผลเน้นความยั่งยืน

       วันนี้ (27 ก.ย) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่ได้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติเรื่องการขับเคลื่อนทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ในโรงเรียนตามคำเชิญอย่างเป็นทางการขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หน่วยงานผู้ประสานงานโครงการประจำประเทศไทย ที่ National Endowment for Science, Technology and the Arts (NESTA) ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร  เมื่อเร็วๆนี้ นั้น ได้บรรยายในหัวข้อ การปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อการพัฒนานวัตกรรม” (Reforming Education System for Innovation) ร่วมกับ รมว.ศธ.ออสเตรเลีย และ รมว.ศธ.แคว้นเวลส์ สหราชอาณาจักร โดยมีผู้แทนรัฐบาล นักการศึกษาชั้นนำระดับโลก นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สมาชิกวุฒิสภา ศิลปิน และผู้บริหารองค์กรการศึกษากว่า 200 คนจากทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งรัฐบาลไทยและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างเต็มที่ทั้งระบบและในทุกระดับ ซึ่งมีความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะสนับสนุนการทำงานของโครงการและแผนงานที่ดีและได้รับการสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศอย่างโครงการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ ที่ กสศ. สพฐ. และองค์การ OECD ร่วมดำเนินงานมา 3 ปีจนประสบความสำเร็จในวันนี้ โดยตนต้องการเห็นแผนการขยายผลการดำเนินงานในประเทศไทยในขั้นตอนต่อไปที่ยังคงรักษาคุณภาพการดำเนินงาน และสามารถขยายการดำเนินงานสู่ระดับชาติได้ในอนาคตอันใกล้นี้

       รมว.ศธ. กล่าวว่า มีความตั้งใจจะทำให้ทุกโรงเรียนในประเทศไทยมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงมิใช่เฉพาะห้องผู้บริหารในโรงเรียน แต่ต้องมีสัญญาณถึงทุกห้องเรียน ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และห้องสมุด เพื่อให้นักเรียนไทยทุกคนมีโอกาสที่เสมอภาคในการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากทั่วโลก รวมทั้งครูและผู้บริหารสถานศึกษาสามารถเข้าถึงเครื่องมือและแนวทางพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และทักษะภาษาอังกฤษในสถานศึกษาของตนเองได้อย่างเต็มที่

       “หากสถานศึกษาและครูต้องการการสนับสนุนการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอน และการพัฒนาผู้เรียนให้มีความพร้อมต่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต อย่ากังวลเรื่องงบประมาณ หรือ เรื่องการหาวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ วันนี้ ศธ. และ กสศ. ได้มีความร่วมมือที่ชัดเจนและต่อเนื่องกับองค์การระหว่างประเทศชั้นนำของโลกอย่าง OECD แล้ว ในฐานะ รมว.ศธ. จะดึงเอาความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภายในและภายนอกประเทศเข้ามาช่วยสนับสนุนครูไทยที่ต้องการพัฒนาผู้เรียนสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณนายณัฏฐพล กล่าว

     ทั้งนี้  ศธ.จะตัดลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นและไม่เกิดประโยชน์โดยตรงต่อผู้เรียนและการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน มาสนับสนุนมาตรการดังกล่าวให้เกิดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนภายในวาระการบริหารราชการกระทรวงของตนเองให้ได้

       นอกจากนั้น ภายในการประชุม ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. และ ดร.ณัฐา เพชรธนู ผอ.ศูนย์ PISA สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ. ได้ร่วมกับผู้แทนจากประเทศฮังการี และแคว้นเวล์ส สหราชอาณาจักร นำเสนอผลการวิจัยพัฒนาและการประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ที่ได้ดำเนินการร่วมกับองค์การ OECD มาตลอด 3 ปี พบว่าครูไทยที่เข้าร่วมโครงการวิจัยจาก 110 โรงเรียนครอบคลุมนักเรียนกว่า 1,500 คน สามารถใช้เครื่องมือส่งเสริมความคิดฯ จากองค์การ OECD ได้ผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะความคิดสร้างสรรค์แบบอเนกนัย (Divergent Thinking) ทั้งด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ที่นักเรียนไทยได้แสดงพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์นี้ได้อย่างโดดเด่นในลำดับต้นๆ ของ 11 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการตลอด 3 ปี ที่สำคัญครูในบางสถานศึกษาสังกัด สพฐ. สามารถพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้แก่นักเรียนที่มีฐานะยากจนด้อยโอกาสจนมีพัฒนาการที่ดีไม่แพ้นักเรียนทั่วไป ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ผลการสอบ PISA เมื่อปี 2015 ของ กสศ. ว่าประเทศไทยมี นักเรียนช้างเผือก”(Resilient Students) จำนวนมากที่ครอบครัวมีฐานะยากจน แต่ศักยภาพทางการศึกษาที่สูงไม่แพ้ใครในโลก

      อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ทาง สพฐ. และ กสศ. เตรียมแผนการขยายผลการดำเนินงานของโครงการตามนโยบายของ รมว.ศธ. พร้อมทั้งเชื่อมโยงการทำงานกับ สสวท. ไปในปีงบประมาณ 2563 ต่อไป โดยผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลรายละเอียด และรายงานผลการวิจัยที่เป็นทางการจากองค์การ OECD ได้ที่ research.eef.or.th