ผบ.ตร.สั่งคุ้ยปม“ยา-จัดหญิง” ศาลให้ประกันกลุ่มจัดปาร์ตี้

ผบ.ตร.สั่งคุ้ยปม“ยา-จัดหญิง”  ศาลให้ประกันกลุ่มจัดปาร์ตี้

ความคืบหน้าการคลี่คลายคดีการเสียชีวิตของ น.ส.ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือ ลัลลาเบล และการขยายผลคดีพริตตี้อีกรายที่่ถูกทำอนาจาร

วานนี้(27 ก.ย.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า คดีนี้ได้กำชับให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) และ ตำรวจภูธรภาค 1 ขยายผลถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายคน โดยที่ผ่านมา บช.น.ดำเนินคดีกับนายรัชเดช วงศ์ธบุตร หรือ น้ำอุ่น ผู้ต้องหาจากคดีการเสียชีวิตของนางสาวธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ หรือ พริตตี้ลัลลาเบล และ ส่วน บช.ภ.1 ดำเนินคดีที่นางสาวเดียร์ พริตตี้อีกรายแจ้งความไว้ที่ สภ.บางบัวทอง ซึ่งพฤติการณ์ของกลุ่มคนเหล่านี้ทำให้ประชาชนหวาดกลัว

ตนได้สั่งการให้เร่งตรวจสอบทุกมิติ ทั้งเรื่องยาเสพติดว่า มีการนำมาในปาร์ตี้ด้วยหรือไม่ หากพบผู้ใดเข้าไปเกี่ยวข้องก็ดำเนินการไม่ละเว้น และฝากถึงกลุ่มคนที่นิยมจัดงานลักษณะนี้ ขอให้ผู้ว่าจ้างจัดงานหรือพริตตี้ ที่ไปร่วมงานปาร์ตี้ก็ให้ระวังเรื่องข้อกฎหมาย หากพบผิดข่ายธุระจัดหา ตำรวจก็จะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด

ด้านการดำเนินดคี ล่าสุด ศาลจังหวัดนนทบุรี ให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย ในกลุ่มเจ้าของบ้านที่จัดงานปาร์ตี้ ภายในบ้านพักย่านบางบัวทอง โดยผู้ต้องหา 6 คน ผู้ต้องหา 3 คน คือ นายชัยพร นายนที และนางสาวพิกุลทอง  มีเงินสดประกันตัวไม่พอ จึงวางเงินสด 36,000 บาท แล้วให้ติดกำไลข้อเท้า พร้อมนัด 6 ผู้ต้องหารายงานตัวต่อศาล วันที่ 9 ต.ค.

ทั้งนี้ ก่อนการประกันตัว ตำรวจได้ผู้ต้องหา ชี้จุดประกอบคำให้การที่บ้านพักย่านบางบัวทอง โดยมีผู้ต้องหา 2 ราย คือ นายกฤษฎา โลหิตดี และนางสาวพัทะนันท์ รักษากุล ปฏิเสธการชี้จุดประกอบคำให้การและขอให้การในชั้นศาล 

ด้านนายอัจริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เปิดเผยว่า ตนเตรียมพานางสาวเดียร์ ไปแจ้งความเพิ่มเติมกับเอเย่นต์หรือโมเดลลิ่ง ที่ส่งนางสาวเดียร์ มาที่บ้านพักหลังที่เกิดเหตุ เพื่อขยายผลว่า การส่งพริตตี้ มีใครบ้าง เพราะเรามั่นใจว่าการกระทำครั้งนี้เป็นขบวนการ มีการแสวงหาผลประโยชน์แอบแฝง เพราะการจ้างพริตตี้ทุกวันวันละเป็นหมื่นบาททำได้อย่างไร

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงคดีลัลลาเบล ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ไทยคู่ฟ้าว่า ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อสังคมเหมือนกัน เพราะฉะนั้นคำว่าจรรยาบรรณ คือควรมีการเสนอข่าวพอสมควร กรณีคดีลัลลาเบล ที่ขั้นตอนอยู่ในกระบวนการ ขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม แต่มีการพูดว่าต้องเป็นแบบนี้ไปก่อนแล้ว จึงทำให้เกิดความสับสนอลหม่าน พอเจ้าหน้าที่ตัดสินมาไม่ตรงกับที่สังคมคิด ก็จะโดนว่าทุกอย่างบิดเบือนไปหมด