เปิดอาณาจักร “ซัมซุง ดิจิทัล ซิตี้”

เปิดอาณาจักร “ซัมซุง ดิจิทัล ซิตี้”

“กรุงเทพธุรกิจ”ได้มีโอกาสเดินทางไปที่เมืองซูวอน สาธารณรัฐเกาหลีใต้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการเชิญจาก บริษัท ซัมซุง ประเทศไทย เพื่อให้ไปสัมผัสเมืองอัจฉริยะอย่าง “ซัมซุง ดิจิทัล ซิตี้” ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบของเมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง

ประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยีหลายๆแห่ง มักจะมีการจัดก่อตั้งเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ท ซิตี้) เอาไว้เพื่อเป็นสถานที่นำร่องสำหรับต้นแบบเทคโนโลยีเพื่อให้คนในพื้นที่นั้นๆได้ใช้งานจริงก่อนจะนำออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ

ศูนย์กลางงานวิจัยและแล็ปไอที

ซัมซุง ดิจิทัล ซิตี้ เนรมติขึ้นที่เมืองซูวอนอยู่ห่างจากกรุงโซลไม่ไกล ซึ่งซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานใหญ่ที่เกาหลี จึงตัดสินใจสร้างสำนักงานขึ้น 3 อาคาร มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบทุกอย่าง เพื่อหวังให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเต็มตัว ซึ่งหลังจากนั้น ซัมซุง ดิจิทัล ซิตี้ ก็สร้างผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจอย่างมาก

โดยในพื้นที่แห่งนี้ มีพนักงานราว 32,000 คน จากพนักงานของซัมซุงทั่วโลกมากกว่า 320,000 คนใน 73 ประเทศและประมาณ 70% ของพนักงานทั้งหมดตั้งอยู่นอกประเทศเกาหลี โดยพนักงานในซูวอนล้วนแต่เป็นหัวกะทิที่เข้ามาพัฒนาศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา

ซึ่งที่สำคัญสำหรับ ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์โดยมีสถาบันวิจัย R1 แห่งแรกก่อตั้งขึ้น จนในปัจจุบันมี 5 สถาบันวิจัย มีห้องประชุมขนาดใหญ่สำหรับ 700 คนและห้องปฏิบัติการร่วมพร้อมห้องประชุม 1,000 ห้อง 

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของแผนกสินค้าอุปโภคบริโภครวมถึงธุรกิจมือถือทีวีและเครื่องใช้ไฟฟ้า สถานที่นี้เป็นที่ตั้งของ บริษัท ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2512 และในปีนี้ถือเป็นปีที่ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ก่อตั้งมาครบ 50 ปีแล้ว

สร้างนวัตกรรมจากสิ่งธรรมดา

ภายในพื้นที่ดังกล่าว มีส่วนของโครงสร้าง C-Lab ซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นการค้นหาไอเดีย ซึ่งรวมถึงการที่ซัมซุงเปิดกว้าง รับฟังไอเดียและแนวคิดใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยพนักงานยังสามารถมีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวคิดที่พวกเขาต้องการพัฒนาขึ้น ขั้นตอนต่อไปคือการกำหนดแนวคิดซึ่งรวมถึงการมีกิจกรรมสานสัมพันธ์ และการให้คำปรึกษา ก่อนที่จะถึงขั้นตอนสร้างต้นแบบและตามมาด้วยการประเมินตรวจสอบแบบ โดยขั้นตอนนี้พนักงานจะได้แสดงผลิตภัณฑ์ที่งานกิจกรรมระดับโลก หากประสบความสำเร็จ ก็จะถึงขั้นตอนการลงทุน

ในขั้นตอนการลงทุน ธุรกิจเหล่านั้นสามารถอยู่ภายใต้เครือซัมซุงต่อไปหรืออาจแยกออกเป็นบริษัทย่อย นโยบายการสร้างบริษัทย่อยของ C-Lab ซึ่งเริ่มใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2558 ช่วยให้พนักงานซัมซุงที่ดำเนินโครงการ C-Lab ประสบความสำเร็จและเริ่มต้นบริษัทสตาร์ทอัพของตัวเองได้ ซัมซุงสนับสนุนบริษัทย่อยด้วยเงินลงทุนตั้งต้น และการให้คำปรึกษาทางธุรกิจเพื่อเร่งการเติบโต พร้อมกับยืนยันว่าพวกเขาจะมีการบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระ

รูปแบบโครงสร้างของ C-Lab ทำให้เกือบทุกไอเดียที่ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับธุรกิจหรือกลุ่มผลิตภัณฑ์ของซัมซุงในปัจจุบันได้รับการพิจารณา ตราบใดที่ทีมงานสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความคุ้มค่าของไอเดียนั้นๆ โดยปี 2560 มีทั้งหมด 163 โครงการที่เกิดขึ้นจาก C-Lab

สุ่มพัฒนา5จีเพื่อลูกค้าครบวงจร

Junehee Lee รองประธานอาวุโส กลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีและทีมวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ธุรกิจการสื่อสารเคลื่อนที่ กล่าวว่า ความท้าทายที่เกิดขึ้นสำหรับซัมซุงคือ ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีอุปกรณ์มือถือที่รองรับแถบความถี่สูงมาก่อน บริษัทจึงต้องมีการศึกษาเพื่อพัฒนาฮาร์ดแวร์ "กาแลคซี่ เอส 10 5จี" ในแง่ของการสร้างโซลูชั่นที่รองรับแถบความถี่สูงเพื่อลดปัญหาสัญญาณอ่อน อันเป็นผลมาจากสิ่งกีดขวางทางกายภาพหรืออุปสรรคที่ปิดกั้นคลื่นความถี่ โดยเฉพาะเมื่อเจอกับวัตถุโลหะ 

เนื่องจากบริษัทได้สะสมประสบการณ์และองค์ความรู้ที่หลากหลายมาอย่างยาวนาน ทำให้รู้ถึงความต้องการและการใช้งานสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคที่มักจะใช้งานอยู่เกือบตลอดเวลา จึงสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้ตัวเครื่องเชื่อมต่อสัญญาณ 5จี ไม่ว่าจะเป็นระบบความปลอดภัยระบบ ไอโอที คลาวด์ หรือ ยานยนต์ไร้คนขัย รวมถึงในด้านของเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ท ซิตี้) พร้อมกันเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ระบบแอลทีอี มีความเร็วสูงกว่า 4จีถึง 20 เท่า

สร้างความหลากหลายแก่ลูกค้า

เขา ทิ้งท้ายอีกว่า เพิ่มชิ้นส่วนของระบบ 5จี โดยเฉพาะอย่างชิปโมเด็ม 5จี และชิปเซ็ท 5จีอาร์เอฟ ซึ่งจำเป็นต้องมีชิ้นส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาดีไซน์ในแบบฉบับ Unibody ของเครื่อง กาแลคซี่เอาไว้ ส่งผลให้ “กาแลคซี่ เอส 10 5จี” ยังคงไว้ด้วยดีไซน์เพรียวบางอันเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงยังได้ติดตั้งเทคโนโลยีระบายความร้อนแบบใหม่ล่าสุด 

นอกจากนี้ ซัมซุงยังได้ร่วมพร้อมซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่เพิ่มประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ ซีพียู และแรมโดยอัตโนมัติ ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้เครื่องได้ยาวนานไม่เปลืองพลังงานจากแบตเตอร์รี่ ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟน 5จีเครื่องแรกของโลก ที่วางจำหน่ายในประเทศเกาหลีตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

“2จีเราใส่โทรศัพท์ไว้ในกระเป๋ากางเกงของทุกคน มาถึง 3จีและ4จีเราใส่อินเทอร์เน็ตเพิ่มเข้าไป และมาถึง 5จีเราได้ใส่ทุกอย่างเอาไว้ในนั้นแม้กระทั่งรถยนต์ ซึ่งซัมซุง เน็ตเวิร์กยังเป็นที่ 1 ในเกาหลี ญี่ปุ่น และอเมริกา เราพยายามอย่างหนักที่จะขยายโครงข่ายให้มีบริการที่หลากหลายหายูสเคสที่เหมาะสมกับทุกๆอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับลูกค้าและคู่ค้า”