เตรียมปรับสถานภาพนกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวน หลังพบถูกล่าในพื้นที่อย่างหนัก

เตรียมปรับสถานภาพนกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวน หลังพบถูกล่าในพื้นที่อย่างหนัก

กรมอุทยานฯ ยันมีมาตราการดูแลนกชนหิน เพื่อป้องกันการล่า

ภายหลังจากที่นักวิจัยนกเงือกชื่อดังได้โพสต์เฟสบุ๊คเปิดเผยถึงความรุนแรงของการล่านกชนหินที่เป็นสัตว์คุ้มครองเฉพาะถิ่นที่พบในป่าดงดิบทางภาคใต้ โดยมีข้อมูลล่าสุดว่า มีการยิงนกชนิดนี้ในพื้นที่ติดๆกันถึง 4 ตัว จากประชากรที่มีเหลือในธรรมชาติไม่เกิน 100 ตัวนั้น

ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ออกมายืนยันถึงมาตราการในการดูแลและป้องกันนกชนิดดังกล่าว และเตรียมปรับมาตราการเพื่อการดูแลที่ดีขึ้น

ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กาญจนา นิตยะ เปิดเผยว่า ทางกรมอุทยานฯ เตรียมปรับสถานภาพนกชนหิน (Helmeted Hornbill)จากสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวน เพื่อเพิ่มความสำคัญในการกำหนดมาตรการการอนุรักษ์ พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยยังมีเรื่องการอนุวัตตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าสัตว์ป่า CITES ที่กำหนดให้ต้งประเมินตนเองด้วยตัวชี้วัดถึง 50 ตัว ที่ครอบคลุมทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย การดำเนินคดี การสนธิกำลังทั้งในและระหว่างประเทศ การปรับพฤติกรรมลดการบริโภค และการสร้างจิตสำนึกร่วมด้วย

สำหรับมาตรการป้องกันในปัจจุบัน ผอ. กาญจนากล่าวว่า กรมอุทยานฯ ร่วมมือกับมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญและกรรมการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก เป็นหัวหน้าโครงการ ทำวิจัยการทำรังของนกชนหิน เพื่อศึกษาพฤติกรรมของนกชนหิน สำหรับใช้ในการวางแผนการจัดการ

ทางกรมฯ เอง ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามแผนการจัดการฯ เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังบริเวณพื้นที่ที่พบนกชนหินอยู่อาศัย หากิน และทำรังโดยการจัดเจ้าหน้าที่สำรวจลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) และเพิ่มเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจในการเฝ้าระวังดูแลนกชนหินในพื้นที่

มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐาน ทั้งลักษณะตัว เสียงร้อง ลักษณะรังของนกชนหิน และการเพิ่มเครือข่ายเฝ้าระวังโดยการเปลี่ยนผู้ล่ามาเป็นผู้พิทักษ์โดยจ้างพรานที่เคยล่ามาเป็นทีมงานวิจัย

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์พื้นที่ของนกชนหินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนการป้องกันและจัดการ สนับสนุนการดำเนินการคณะกรรมการพื้นที่อนุรักษ์ (PAC) เพื่อการจัดการและเฝ้าระวังการลักลอบล่านกชนหิน การบังคับใช้กฎหมายและการกำหนดนโยบายการจัดการที่ชัดเจน

ผอ. กาญจนากล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้มีจัดทำแผนแม่บทการจัดการนกชนหินแห่งชาติ ซึ่งรวมไปถึงการจัดทำแผนที่เส้นทางการล่า ค้า และศูนย์กลางการกระจายสินค้าผิดกฎหมาย และการขอความร่วมมือจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่นั้นๆ ร่วมติดตาม และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมตำรวจ กรมศุลกากรและหน่วยงานปกครอง ในการเฝ้าระวัง ปราบปราม และบังคับใช้กฎหมาย

นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลในการติดตามการซื้อขายซากและผลิตภัณฑ์ของนกชนหินและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป รวมทั้งการสืบสวนสอบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อให้การตรวจพิสูจน์เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน

นอกจากงานป้องกันและปราบปรามแล้ว ทางกรมฯ ยังดำเนินการร่วมกับมูลนิธิในเรื่องของการฟื้นฟูประชากรนกชนหินในพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นถิ่นอาศัย และเพิ่มอัตราการรอดตายของลูกนกชนหินในธรรมชาติ ผ่านมาตรการเฝ้าระวังของชุดเฉพาะกิจเฝ้าระวังภัยคุกคามทั้งจากสัตว์ผู้ล่าและมนุษย์

นอกจากรังธรรมชาติ ยังมีความพยายามในการจัดทำรังเทียมในพื้นที่อาศัยของนกชนหิน เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรังและเพิ่มประชากรในธรรมชาติ และนำผลงานวิจัยกลับมาวิเคราะห์เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาใช้ในการวางแผนการศึกษาแนวทางในการเพิ่มประชากรนกชนหิน

ผอ. กาญจนากล่าวว่า ทางกรมฯ และมูลนิธิยังได้ส่งเสริมการศึกษาการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของประชาชน เผยแพร่ให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกในการรักษาและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติให้กับชุมชนในท้องถิ่นไปพร้อมๆกับการสร้างเครือข่ายรัก(ษ์) นกชนหินรอบพื้นที่อนุรักษ์ที่พบการกระจายของนกชนหิน และจัดทำหลักสูตรนกชนหินศึกษาเพื่อสร้างความตระหนักให้กับเยาวชนในพื้นที่รอบพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นแหล่งอาศัยของนกชนหิน

สถานการณ์นกชนหิน

นกชนหิน Helmeted Hornbills หรือ Rhinoplax vigil เป็นนกเงือก 1 ใน 13 ชนิด ของนกในวงศ์นกเงือกที่พบในประเทศไทย โดยมีสถานภาพเป็นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 และอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (IUCN red list) อีกทั้งจัดอยู่ในบัญชี 1 ตามอนุสัญญาไซเตส คือห้ามไม่ให้มีการซื้อขาย ยกเว้นเพื่อทำการวิจัย

ประชากรนกชนหินในประเทศไทย เป็นกลุ่มประชากรขนาดเล็ก ประมาณกันว่า ไม่เกิน 100 ตัว โดยนกชนหินในประเทศไทย ถูกพบกระจายในพื้นที่อนุรักษ์เพียง 3 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง

และจากการติดตามข้อมูลการสร้างรังโดยมูลนิธินกเงือกแห่งประเทศไทยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีตั้งแต่ปี พ.. 2537-2562 พบนกชนหินทำรังสำเร็จเฉลี่ยปีละ 2 รัง และจากการติดตามข้อมูลของสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงในปีนี้ พบนกชนหินทำรังสำเร็จ 1 รัง

ปัจจุบัน นกชนหิน ถูกล่าใน 2 รูปแบบคือ การล่าเพื่อเอาลูกซึ่งฤดูกาลทำรังประมาณเดือนธันวาคม-พฤษภาคม และการล่าเพื่อเอาโหนก

ระหว่างปี พ.. 2558-2562 มีคดีการกระทำผิดด้านสัตว์ป่า กรณีของนกชนหิน จำนวน 3 คดี จับผู้ต้องหาได้จำนวน 5 คน และนกชนหินที่ยึดมาได้ที่ยังมีชีวิตจำนวน 3 ตัว, เป็นซากจำนวน 1 ตัว

ทางองค์กรต่อต้านการค้าสัตว์ป่าโลก TRAFFIC ได้ทำการสำรวจติดตามและศึกษาเพื่อประเมินและประมาณขนาดของการค้านกชนหิน รวมถึงชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ของนกเงือกชนิดพันธุ์อื่นๆ บนช่องทางสื่อสังคมออนไลน์หรือเฟซบุ๊กทั้งในกลุ่มเปิดและกลุ่มปิดในประเทศไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว พบว่า ทุกกลุ่มมีลักษณะของการเป็นกลุ่มที่เสนอขายผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าต่างๆ อยู่่แล้ว

โดยข้อมูลที่พบจากการสำรวจติดตามเป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561-เมษายน 2562 TRAFFIC พบการโพสต์เสนอขายอย่างน้อย 236 โพสต์ที่เสนอขายชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากนกเงือกมากกว่า 546 ชิ้นใน 32 กลุ่มจากทั้งหมด 40 กลุ่มที่ทำการสำรวจติดตาม

โพสต์ทั้งหมดถูกเสนอขายในช่วงเวลา 64 เดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ถึงเมษายน 2562 โดยนกชนหินคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดถึง 83% ไม่ว่าจะเป็น โหนกหัว, จี้ห้อยคอ, แหวน, สร้อยคอ, กำไลข้อมือ, หัวเข็มขัด, นกสตาฟ และชิ้นส่วนย่อยอื่นๆ เครื่องประดับที่พบบางส่วน ยังถูกประดับตกแต่งด้วยชิ้นส่วนของสัตว์ป่าอื่นๆ รวมไปถึงงาช้างเขี้ยวเสือและเล็บเสือ TRAFFIC ระบุ

นอกจากนี้ ชิ้นส่วนหัวที่สมบูรณ์ของนกเงือกอีก 8 ชนิดพันธุ์ที่พบทั้งหมดมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยยังถูกพบในการสำรวจติดตามของ TRAFFIC โดยนกกกหรือนกกาฮัง Great Hornbill มีจำนวนมากที่สุด

ภาพ/ มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก

อ่าน ชะตากรรมบนเส้นด้ายของนกชนหินที่เสี่ยงสูญพันธุ์จากน้ำมือพราน ได้ที่ Bottom Line