“เอกชน”ผวาค่าเงินแข็งถึง 29 บาทต่อดอลลาร์ ชี้ส่งออกปีนี้ส่อติดลบ1%

“เอกชน”ผวาค่าเงินแข็งถึง 29 บาทต่อดอลลาร์ ชี้ส่งออกปีนี้ส่อติดลบ1%

 “กระทรวงพาณิชย์”เผยที่ประชุมวอร์รูม ถกศึกการค้า-เบร็กซิท 7 ต.ค.นี้ ชี้เศรษฐกิจโลกระส่ำหนัก รับนโยบายการเงินซ้ำเติบทำบาทแข็ง“เอกชน”ชี้ส่งออกติดลบ1% เหตุไร้ขีดแข่งขัน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมวอร์รูม (War Room) สงครามการค้า เพื่อประเมินสถานการณ์สำคัญ 2 เรื่อง คือ ความขัดแย้งของสหรัฐและจีน และประเด็นเรื่องเบร็กซิท ที่ใกล้จะถึงวันกำหนดที่อังกฤษต้องออกจากสหภาพยุโรป(อียู)

ทั้งนี้ การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ กับจีน ไม่ได้ส่งผลเพียงสองประเทศและในเอเชียเท่านั้น แต่แผ่กระจายไปถึงฝั่งยุโรปด้วย เห็นได้จากเศรษฐกิจเยอรมนีซึ่งมีสัดส่วน 28 %ของยูโรโซนและเป็นประเทศที่เน้นการส่งออกเช่นเดียวกับไทย เริ่มส่งสัญญาณไม่ดี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากปัญหาในตะวันออกกลางที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน

ด้านปัญหาเบร็กซิท หากวันที่ 31 ต.ค.เบร็กซิทยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีที่ค้าขายและลงทุนกับอังกฤษมากชะลอตัวลงไปอีก รวมถึงเยอรมนีเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจใหญ่ของยุโรป หากมีปัญหาจะทำให้ยุโรปเติบโตช้ากว่าที่ควร

ในส่วนของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และเศรษฐกิจภายในยังไม่ค่อยฟื้นตัวดีนัก ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีนโยบายไม่ขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวอาจจะทำให้เงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้นอีก กระทบกับมูลค่าและรายได้จากการส่งออก

        20170208163221430_1

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ปีนี้การส่งออกของไทยน่าจะติดลบ 1 % เป็นผลจากสถานการณ์การค้าโลก ทั้งสงครามการค้า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและปัญหาความไม่ชัดเจนของเบร็กซิท

“ปัญหาหนักของผู้ประกอบการคือเงินบาทแข็งค่า กระทบกับผู้ส่งออกโดยตรงเพราะเงินบาทแข็งค่าเป็นปัญหาภายในประเทศ ยิ่งเท่ากับเป็นการซ้ำเติมจากปัญหาภายนอก ทำให้เราไม่สามารถสู้กับคู่แข่งได้ ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ ทำให้ขาดทุน ซึ่งได้มีการพูดคุยกับธนาคารหลายๆแห่งก็พูดเป็นเสียงเดียวว่าไม่มีทางออก”

ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าถือเป็นปัญหาสำคัญอันดับแรก ซึ่งมีการคาดว่าน่าจะหลุดกรอบ 30 บาทต่อดอลลาร์ และขยับไปเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 29 บาทต่อดอลลาร์ ก็ยิ่งจะทำให้แย่ลงไปอีก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ดังนั้นอยากให้รัฐเร่งออกมาตราการดูแล

สำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น หลายแห่งก็เริ่มมีการปรับโครงสร้างการบริหารให้เล็กลง ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดสต๊อก ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้รอดพ้นจากภาวะวิฤตแต่ในทางกลับกันก็เป็นโอกาสที่ทำให้เกิดการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับการค้าขายและเทคโลยีที่เปลี่ยนแปลง