“สุริยะ”บุกญี่ปุ่นโรดโชว์ดึงลงทุนเพิ่ม

“สุริยะ”บุกญี่ปุ่นโรดโชว์ดึงลงทุนเพิ่ม

“สุริยะ” บุกดึงนักลงทุนญี่ปุ่น ด้าน มิตซูบิชิ ยืนยันขยายลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า สินค้าเทคโนโลยีไอทีชั้นสูง เป็นฐานผลิตส่งออกไปทั่วโลก พร้อมจับมือจังหวัดโทยามะ ดึงเอสเอ็มอีไฮเทคลงทุน ตั้งเป้าเพิ่มจาก 65 ราย เป็น 100 ราย ภายใน 2 ปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายทากากาซุ อิชิอิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทยามะ และคณะนักธุรกิจจากจังหวัดโทยามะ ที่เข้ามาร่วมรับฟังกว่า 45 รายซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านเทคโนโลยี ว่า รัฐบาลปัจจุบันได้มุ่งเน้นนโยบายยกระดับอุตสาหกรรมสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 กลุ่ม รวมทั้งยังได้ผลักดันโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ได้เร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงสนามบินโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง โดยบางโครงการได้ผู้ว่าจ้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งในพื้นที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ รัฐบาลมุ่งหวังให้ อีอีซี เป็นประตูเข้าสู่ประเทศเชื่อมต่อไปยังกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ในฐานะที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาคจึงเป็นโอกาสสำคัญในการเชื่อมโยงภาคการค้า การผลิต และการบริการเข้าด้วยกัน และขยายวงสู่อาเซียนที่มีประชากรรวมกันกว่า 700 ล้านคน มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 6-8% และขยายวงไปยังกรอบการค้าและความร่วมมือที่สำคัญ เช่น ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป และความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)ที่ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก

พร้อมรองรับย้ายฐานลงทุน

นอกจากนี้ ในกรณีปัญหาสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐ ทำให้การค้าโลกชะลอตัว โดยล่าสุดเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ขยายตัวเพียง 6.2% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปี อัตราการเติบโตของผลผลิตอุตสาหกรรมจีนในเดือนส.ค. ก็ขยายตัวเพียง 4.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปี ดัชนีต่างๆเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

จากเหตุการณ์ดังกล่าวพบว่ามีนักลงทุนจากญี่ปุ่นจำนวนมากที่ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศหลักๆที่ย้ายฐานเข้ามาก็คือไทยกับเวียดนาม ซึ่งไทยมีความพร้อมในการรองรับนักลงทุนในทุกๆด้านทั้งการเชื่อมโยงกับภูมิภาคและโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ และมีการพัฒนาพื้นที่เฉพาะเพื่อรองรับการลงทุน ได้แก่ อีอีซี ที่ได้กล่าวไปแล้ว

รวมทั้งประเทศไทยยังมีซัพพลายเชนที่เข้มแข็งมีอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น และที่สำคัญไทยไม่เคยทอดทิ้งนักลงทุน ซึ่งไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลงถึงแม้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลกี่ครั้งก็ตาม รวมทั้งไทยมีสภาพแวดล้อมที่ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีชีวิตการทำงานที่สุขสบาย