‘นกแอร์’ทาบพันธมิตรเสริมแกร่ง “จุฬางกูร”เปิดทางถือหุ้น ลั่นปีนี้ขาดทุนลดลง

‘นกแอร์’ทาบพันธมิตรเสริมแกร่ง “จุฬางกูร”เปิดทางถือหุ้น ลั่นปีนี้ขาดทุนลดลง

“วุฒิภูมิ จุฬางกูร”ลั่นพร้อมเปิดทางพันธมิตรเข้ามาถือหุ้น“นกแอร์”หวังปิดจุดอ่อน เสริมแกร่งธุรกิจ เตรียมเสนอแผนฟื้นฟูกิจการให้บอร์ดชี้ขาดพ.ย.นี้ ด้านนักวิเคราะห์ ชี้หุ้นสายการบิน ไตรมาส 3 ยังขาดทุน

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มครอบครัว จุฬางกูร ถือหุ้น NOK รวม 67% ซึ่งบริษัทมีแผนหาพันธมิตรเข้ามาร่วมถือหุ้น แล้วทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งขึ้น ในการเข้ามาเสริมในจุดอ่อนของบริษัท โดยบริษัทไม่ต้องการพันธมิตรที่เข้ามาช่วยด้านการเงิน เพราะกลุ่มครอบครัวสามารถซับพอร์ตบริษัทได้ แต่ระยะเวลายังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเข้ามาเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับการเจรจา

นายวุฒิภูมิ กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะดำเนินการให้ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ติดลบ 23.50 ล้านบาท ในงวด 6 เดือยของปีนี้ ให้กลับมาเป็นบวก ซึ่งอยู่ในแผนการฟื้นฟูกิจการ ที่จะเสนอคณะกรรมการบริษัทในเดือนพ.ย นี้ และต้องดูว่าผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2562 ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับสายการบิน ที่จะเช่าเครื่องบินมาบินในช่วงดังกล่าวมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีฝูงบิน 22 ลำ 

“ตอนนี้เริ่มเห็นผลแล้ว จากที่ผมเข้ามาบริหาร ที่เดินหน้าลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ การจัดการฝูงบินและการบิน ให้บินไกลขึ้น ใช้เครื่องบินให้คุ้มค่า และจะมีการเริ่มทำการบินในช่วงกลางคืนจากเดิมที่บินแต่ช่วงกลางวัน และจะมีการเพิ่มเส้นทางการบินไปญี่ปุ่น จะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนนี้ บินไปที่ เมืองฮิโรชิม่า หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้บินเส้นทางใหม่ คือ อินเดีย เมือง กูวาฮาติ”

นอกจากนี้บริษัทเตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ ไปหัวเมืองรองของจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันลดราคาตั๋ว เพราะต้องการเป็นสายการบิน Premium Budget Airlines จึงทำให้ประสิทธิภาพการใช้เครื่องบินดีขึ้น โดยจะมีชั่วโมงบินเพิ่มเป็น 12 ชั่วโมงต่อลำ จากเดิมอยู่ที่ 9-10 ชั่วโมง 

นายวุฒิภูมิ กล่าวว่า บริษัทมีแผนเพิ่มรายได้อื่นที่ไม่ใช่รายได้ตั๋วโดยสารจากระดับ 8-12% เป็น 20-30% โดยแนวทางการเพิ่มรายได้อื่น จะมีทั้งการขายแพ็คเกจตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พัก พร้อมกับรถเช่าในการเดินทาง โดยบริษัทมีแผนที่จะเจรจากับทางโรงแรม คาดว่าจะชัดเจนในไตรมาส 4 ปีนี้ และบริษัทอยู่ระหว่างหาพันธมิตรที่ทำธุรกิจรถเช่าเข้ามาเสริม 

รวมทั้งบริษัทอยู่ระหว่างการปรับภาพลักษณ์ของสายการบิน โดยการแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องบินดีเลย์ มีการปรับเวลาการบินใหม่ และมีเครื่องบินสำรอง 2 ลำ เผื่อมีกรณีเครื่องบินมีปัญหาจะสามารถทำการบินแทนได้ และมีการจัดซื้ออะไหล่เครื่องบินมาสต็อกไว้เอง โดยใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท และมีการดูแลเกี่ยวกับการบำรุงรักษาเครื่องบินเอง จากเดิมที่จ้างบริษัทตัวกลางมาดูแลทำให้ประหยัดต้นทุนได้ 

รวมถึงบริษัทจะร่วมมือกับทางสภากาชาดไทย ที่จะมีการลำเลียงเกี่ยวกับอวัยวะต่างๆ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีชื่อเสียงด้านการบิน เพราะการขนถ่ายอวัยวะ นั้นต้องแข่งกับเวลาจะไม่สามารถดีเลย์ได้ โดยหวังว่าจะช่วยทำให้ภาพลักษณ์สายการบินดีขึ้นได้ในอนาคต

"รายได้ในไตรมาส 3นี้ จะยังคงติดลบอยู่ แต่ไตรมาส 4 จะดีขึ้น จากที่เริ่มเห็นผลของการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ทำให้ภาพรวมทั้งปีนี้ดีขึ้นจากปีก่อน’นายวุฒิภูมิ กล่าว

ผลประกอบการของนกแอร์งวดปี 2561 มีรายได้ 19,700 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 2,786 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ แสดงรายได้ 10,255 ล้านบาท และยังขาดทุนสุทธิกว่า 979 ล้านบาท

ด้านนายดิษฐนพ วัธนเวคิน นักวิเคราะห์บล.โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ CNS คาดว่าผลประกอบการกลุ่มสายการบินในไตรมาส 3ปี 2562 ปรับตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน และไตรมาส 2ปี 2562 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวดีขึ้น อาจทำให้การแข่งขันราคาตั๋วโดยสารลดลง ขณะที่ต้นทุนราคาน้ำมันลดลง 17-18% จากไตรมาส 3 ปี 2561 แม้จะถูกกดดันจาก ค่าเงินบาทแข็งค่าที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย  ดังนั้นคาดว่าทุกสายการบินจะยังคงมีผลขาดทุนอยู่ 

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4ปีนี้ คาดว่าธุรกิจสายการบินดีขึ้นจากไตรมาส3 จากเป็นช่วงไฮซีซั่น แต่ผลประกอบการทั้งปีนี้คาดว่าจะยังคงขาดทุน เพราะการแข่งขันยังสูง และจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวช้าและค่าเงินบาทที่แข็ง โดยให้น้ำหนัการลงทุนกลุ่มนี้เท่าตลาด แม้ราคาหุ้นจะลดลงมาต่ำ หากนักลงทุนเข้ามาซื้อจะต้องใช้เวลาถือนานกว่าที่ราคาหุ้นจะฟื้นตัว 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นกแอร์' เตรียมยกเลิกเที่ยวบินดอนเมือง-แม่ฮ่องสอน 2 ส.ค.-25 ต.ค.นี้

'นกแอร์' ปิดไตรมาส 2 ขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม 796.41 ล้านบาท

นกแอร์หวนปักธงอู่ตะเภา

'นกแอร์'ไตรมาส1/62 ขาดทุน 304 ลบ.เพิ่มขึ้น1,000%เหตุลดขนาดฝูงบิน-แข่งขันสูง