องค์กรที่น่าทำงาน บนเส้นทาง ‘มอนเดลีซ’

องค์กรที่น่าทำงาน บนเส้นทาง ‘มอนเดลีซ’

โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะ มีทั้งดิสรัปชั่น ทรานฟอร์มเมชั่น เอไอก็เข้ามา มีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเต็มไปหมด สงครามการแย่งชิงบุคลากร หรือ Talent War ก็รุนแรงยิ่งขึ้น

"ขณะที่เจนวายเขาก็ต้องการจะเติบโต ทั้งยังวางแผนอนาคตแตกต่างไปจากเจนเอ็กซ์ เลยมองว่ากระบวนการดึงดูดคนดีคนเก่งจากข้างนอกเข้ามาเป็นพาร์ทที่ท้าทายและยากที่สุดสำหรับผม" 


“ธนกฤต ฉันทวิทิตพงษ์” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท มอนเดลีซ อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์ขนมและของว่างชั้นนำ อาทิ ลูกอมฮอลล์ หมากฝรั่งเดนทีน ลูกอมคลอเร็ท คุ้กกี้โอรีโอ แคร็กเกอร์ริทซ์ ช็อกโกแลตทอปเบอโรน ฯลฯ กล่าวว่า เวลานี้โจทย์ใหญ่ของ HR มีอยู่หลายโจทย์ด้วยกัน ไม่ว่าจะพัฒนาบุคลากรของบริษัทอย่างไร หรือจะออกแบบโครงสร้างองค์กรอย่างไรเพื่อให้ตอบโจทย์ในอนาคต ฯลฯ


ทว่าในปีนี้ที่เขาจะโฟกัสให้ดีก็คือการสร้าง Great Place to Work และ Corporate branding เพื่อดึงดูดคนดีคนเก่ง


“เพราะความท้าทายใหญ่ที่สุดของเราก็คือการดึงดูดคนเก่งคนดีเข้ามา เราต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้ก่อน ขณะเดียวกันที่ทิ้งไม่ได้เลยก็คือการพัฒนาคน และการสร้างความผูกพันหรือ Engagement”


และล่าสุดมอนเดลีซ คว้ารางวัล “HR Asia Awards” หรือ HR Asia Best Companies to Work for in Asia (Thailand Edition 2019) ได้รับเลือกเป็นบริษัทที่ดีที่สุดที่น่าร่วมงาน ซึ่งตอกย้ำว่าสิ่งที่ธนกฤติพยายามทำมาทั้งหมดนั้น...ทำมาถูกทางแล้ว


"มีอยู่ 4 องค์ประกอบที่ทำให้เราได้รับรางวัลซึ่งเป็นเรื่องที่มอนเดลีซทำมาอย่างต่อเนื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องสถานที่ทำงานที่น่าอยู่ สอง เรามีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี สาม พนักงานของเรามีความสมดุลระหว่างชีวิตทำงานกับชีวิตส่วนตัว เรื่องสุดท้ายเรามีสวัสดิการที่ดี พนักงานรู้ว่าบริษัทดูแลเขาเป็นอย่างดี"


มีตัวอย่างโครงการและกิจกรรมที่มอนเดลีซสร้างเพื่อให้เกิดบรรยากาศขององค์กรน่าทำงานด้วย เช่น การมีคณะทำงานสร้างความสุข หรือ “JOY Club” ประกอบด้วยตัวแทนพนักงานจากทุกฝ่ายที่ร่วมกันจัดกิจกรรมที่สนุกเพื่อให้พนักงานได้มีส่วนร่วม เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ยังมีการสร้างบรรยากาศการทำงานช่วยสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว ผ่านนโยบาย Flexible Working Hour และ Work From Home รวมถึงสวัสดิการที่ดีอย่างการจัดห้องสำหรับให้นมลูกของคุณแม่, มีที่จอดรถสำรองสำหรับพนักงานหญิงที่ต้องกลับบ้านดึก,อนุญาตให้คุณแม่มือใหม่ไม่ต้องทำงานเต็มเวลา ฯลฯ นอกจากนี้บริษัทยังส่งเสริมให้พนักงานคืนกลับสู่สังคม โดยมีโครงการโรงเรียนสุขหรรษาที่ให้พนักงานจิตอาสาเดินทางไปช่วยกันพัฒนาโรงเรียนและสร้างความสุขให้เด็กๆ ณ โรงเรียนในโครงการ เป็นต้น


อย่างไรก็ดี ในปีนี้มอนเดลีซระดับโกลบอลได้ประกาศกลยุทธ์ใหญ่ไว้ 3 ข้อ 1. การเติบโตธุรกิจ 2. การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ3. การสร้างวัฒนธรรมการเติบโตที่มุ่งสู่ความสำเร็จ (Winning Growth Culture)เพื่อผลักดันให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน และทันเกมการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันและอนาคต


“ วัฒนธรรมที่มุ่งสู่ความเป็นสำเร็จถือเป็นเรื่องหลักที่ HR ต้องทำหน้าที่ไดร์ฟ ซึ่งมันมีความหมายเยอะมากที่จะต่อยอด จากวันนี้ไปสู่วันพรุ่งนี้ เราจะทำให้สำเร็จได้อย่างไรบ้าง”


โดยสรุปในการปรับวัฒนธรรมให้เป็น Winning Growth Culture ธนกฤตได้ให้ความสำคัญใน 3 เรื่องหลักๆ เรื่องแรกคือ “Growth Mindset” ที่มีความหมายว่าทัศนคติแห่งการพัฒนาและเติบโต ซึ่งเป็นเรื่องที่พนักงานของมอนเดลีซทุกคนจะเป็นต้องมี


“เพราะเราเชื่อที่เหตุ ถ้าเราทำเหตุเปลี่ยนไป ผลก็จะเปลี่ยน ถ้าพนักงานของเราทุกคนมีทัศนคติเพื่อความเติบโต เพื่อความสำเร็จและแน่นอนผลของมันก็ต้องสำเร็จ”


การปลูกฝังทัศนคติทำอย่างไรให้สำเร็จ เขาบอกว่าต้องตอกย้ำๆ กันบ่อยๆ ให้พนักงานรับรู้ว่าบริษัทคาดหวังอะไรจากพวกเขา ผู้บริหารต้องทำอะไรบ้าง พนักงานต้องทำอะไรบ้าง และเคล็ดลับอยู่ที่การมีบทสนทนาที่ดี มีการพูดคุยที่ดี


"ในเฟสแรกที่เราทำไปแล้ว คือการสร้าง Awareness ในปีที่แล้วเราได้สื่อสารเกี่ยวเรื่องนี้ไปถึงพนักงานทุกคนซึ่งเราเรียกว่า Leadership Framework ให้พวกเขารับรู้ว่าจะต้องพัฒนาตัวเองต่อไปอย่างไรในวัฒนธรรมใหม่นี้ แต่ปลายปีนี้เราจะทำเฟสที่สองเพื่อตอกย้ำเหมือนเดิม แต่มุ่งเน้นสำหรับหัวหน้างานโดยเฉพาะ เพื่อให้เขานำไปใช้ในเชิงปฏิบัติการ ให้รู้ว่าเวลาจะพูดคุยกับทีมงานของตัวเองต้องพูดหรือสื่อสารอย่างไร สะท้อนได้ว่าคนของเขาได้ปฏิบัติตัวสอดคล้องกับเฟรมเวิร์คในด้านไหน หรือยังไม่ได้ทำด้านไหน"


เรื่องที่สอง “Talent and capability” องค์กรต้องพัฒนาพนักงานให้มีศักยภาพ มีทักษะความสามารถและเข้าใจในธุรกิจเป็นอย่างดี พร้อมจะเป็นกำลังที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ในเวลาเดียวกันตัวพนักงานเองก็ต้องมีความก้าวหน้าในอาชีพเช่นกัน คือสามารถเติบโตก้าวขึ้นสู่ระดับผู้บริหาร (ปัจจุบันมอนเดลีซมีโปรแกรมที่ชื่อ Mondelez International University เป็นคอร์สออนไลน์เพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้ทุกที่ทุกเวลา)


เรื่องที่สาม "การปรับโมเดลองค์กรใหม่" ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 3 พาร์ทด้วยกัน พาร์ทแรกก็คือการเป็นองค์กรที่มุ่งเน้น Speed, Agility and Simplicity หมายถึงองค์กรต้องยืดหยุ่นปรับตัวได้ดี มีการทำงานที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดี ทั้งสามารถจัดการกับอุปสรรคต่าง ๆได้เป็นอย่างดี พาร์ทที่สอง การนำเอาเทคโนโลยีที่มีอยู่มากมายมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้กับบริษัท ซึ่งต้องเลือกใช้อย่างชาญฉลาด และพาร์ทที่สามคือ การเป็น Great Place to Work


ธนกฤต บอกว่าสำหรับเขา เป้าหมายในการบริหารงาน HR ก็คือ “End-to-End” ที่ต้องทำแบบครบวงจร ทำตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่ดึงดูดคนดีคนเก่งเข้ามา มีการพัฒนาศักยภาพ ให้เขาสามารถเติบโตก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหาร ต้องสร้างความผูกพัน ตลอดจนหาวิธีที่จะรักษาพวกเขาเอาไว้


“ไม่มีประโยชน์กับองค์กรเลยถ้าเราสามารถดึงดูดคนเก่งคนดี พัฒนาและสร้างความผูกพันได้เป็นอย่างดี แต่สุดท้ายกลับรักษาเขาไม่ได้ มันแปลว่าเราน่าจะทำอะไรผิดไปในระหว่างทาง”


ดังนั้น อีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนว่าเขาทำได้ดี ทำแล้วเกิดผลสำเร็จหนีไม่พ้นเรื่องของการรักษา หรือ Retention โดยในปีนี้คาดว่าอัตราการลาออกของพนักงานมอนเดลีซจะต่ำสุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขน่าจะไม่เกิน 15% จากเดิมที่เคยวิ่งขึ้นไปที่ประมาณ 23%