โลกร้อน กระทบผลผลิตเกษตร

โลกร้อน กระทบผลผลิตเกษตร

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือโลกร้อน  กำลังเป็นงานด่วนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องเร่งรุกก่อนรับผลของปัญหา ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)เปิดเผยว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิ.ย.- ส.ค.2562 ที่กระทบพื้นที่เกษตรประสบภัยแล้ง ต่อมาเพียง 2 สัปดาห์ เกิดพายุโซนร้อนฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมฉับพลันในภาคอีสานตอนล่าง มีพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 3.36 ล้านไร่ (ข้อมูลศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ณ วันที่ 20ก.ย.2562)

ทั้ง 2 เหตุการณ์เป็นผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเห็นได้ชัด โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(เอฟเอโอ) ได้ประเมินไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2573 หรืออีก 11 ปีหลังจากนี้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรในทุกพื้นที่ทั่วโลกหากไม่มีการรับมือจริงจัง

การจัดอันดับดัชนีความเสี่ยงจากสภาพอากาศโลก ระหว่างปี พ.ศ. 2541-2560  ในรายงาน Global Climate Risk Index 2019 ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 10 ในปี ค.ศ. 22560 (สูงขึ้นจากอันดับที่ 20 ในปี 2559) และคาดว่าภาวะโลกร้อน จะส่งผลให้ผลิตภาพการผลิตในภาคเกษตรไทยลดลงไม่น้อยกว่า25%

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งเป็นคู่แข่งด้านสินค้าเกษตรของไทย คือ เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 6 ในขณะที่กลุ่มประเทศจีน นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา กลับได้รับอานิสงส์จากภาวะโลกร้อน เพราะอากาศอุ่นขึ้นทำให้ผลิตภาพการผลิตจะเพิ่มขึ้น5 - 25%หากการคาดการณ์ถูกต้องจะกระทบศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดโลกอย่างแน่นอน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง สศก. ในฐานะหน่วยงานประสานหลักด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาคเกษตร ได้ร่วมกับทุกหน่วยงานขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานด้านเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สำหรับด้านการเกษตร พ.ศ. 2560 – 2564 มาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ภาคเกษตรไทยมีภูมิคุ้มกันและมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน” และได้ดําเนินงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ

เช่น1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือโครงการ Thai Rice NAMA ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 14.9 ล้านยูโร (ประมาณ 600 ล้านบาท) จากรัฐบาลประเทศเยอรมัน รัฐบาลสหราชอาณาจักร รัฐบาลเดนมาร์กและสหภาพยุโรป ผ่านโครงการ NAMA Facility 2.โครงการ Supporting the Integration of Agricultural Sector into NAPs in Thailand ซึ่งดำเนินการร่วมกับ เอฟเอโอ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นดีพี) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในกระบวนการวางแผน และการติดตามประเมินผลโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาคเกษตรรวมทั้งการบูรณาการแผนการปรับตัวภาคเกษตรในแผนการปรับตัวแห่งชาติ

3.การศึกษาศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรของไทย (Green House Gases Mitigation Options in Agricultural Sector of Thailand) โดยดำเนินการร่วมกับ GIZ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อศึกษาแนวทางที่เหมาะสมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร

นอกจากนี้ สศก. ยังได้ดำเนินการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร เช่น การวิเคราะห์ต้นทุนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับการจัดการนาข้าว การปรับตัวทางเศรษฐกิจของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการศึกษาต้นทุนส่วนเพิ่มการลดก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าว เป็นต้น

โดยขณะนี้ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผล (M & E) โดยเฉพาะด้านการปรับตัว และการศึกษาศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนเกษตรกรในการปรับระบบการผลิตเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 file 20190222170812915

ในปี 2562 สศก. ได้วิจัย เรื่อง “ต้นทุนส่วนเพิ่มการลดก๊าซเรือนกระจกในนาข้าว โดยวิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง” ซึ่งเป็นการศึกษาถึง ศักยภาพของทางเลือกในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร ตัวอย่างที่ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2561 จำนวน 106 ราย ในพื้นที่ ภาคกลาง 6 จังหวัด คือ ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี

 ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรที่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาจากแบบทั่วไป ที่จะต้องขังน้ำตลอดฤดูปลูก เป็นการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ที่มีการปล่อยให้ดินแห้งเป็น

ระยะๆ ตามความต้องการและการเจริญเติบโตของต้นข้าวนั้น สามารถลดการใช้น้ำชลประทาน และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการสูบน้ำเข้านาของเกษตรกรได้

ทำให้เกษตรกรเหล่านั้น ได้รับผลตอบแทนสุทธิเพิ่มขึ้นจากเดิมได้ถึง 365 บาทต่อไร่ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 42.77 กิโลกรัมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ จะนำไปใช้เป็นฐานข้อมูล และเตรียมความพร้อมในการช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนจากภาคเกษตร หลังจากที่ภาคส่วนอื่น เช่น ภาคพลังงานและการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมและของเสีย ได้มีการลดก๊าซเรือนกระจกไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องร่วมดำเนินการกันทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจากทุกภาคส่วน โดยภาครัฐกำหนดนโยบาย มาตรการ ที่ผู้ปฏิบัติสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

 ภาคเอกชนต้องสนับสนุนปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยี ภาคการเงินสนับสนุนเงินทุน และเกษตรกรต้องยอมรับการปรับเปลี่ยนและการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนต่อไป