ตระกูลดัง ‘ณรงค์เดช’ หอบสินทรัพย์เข้าตลาดหุ้น

ตระกูลดัง ‘ณรงค์เดช’  หอบสินทรัพย์เข้าตลาดหุ้น

ตระกูลดังในประเทศไทยขึ้นชื่อว่าร่ำรวยมักจะต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินทรัพย์ที่ครอบครองด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งแน่นอนว่าที่ที่จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้เพิ่มขึ้นทันตาเห็นคือตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเข้าระดมทุนออกหุ้นเสนอขายต่อประชาชน หรือ ไอพีโอ

ครอบครัว ‘ณรงค์เดช’ ถือว่าเป็นตระกูลดังที่ตบเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย ซึ่งเป็นที่สนใจทั้งธุรกิจดั้งเดิม ธุรกิจใหม่ รวมไปถึงความสัมพันธ์ในกลุ่มพี่น้องที่เกิดรอยร้าวจนกลายเป็นศึกสายเลือด มีคดีฟ้องร้องกันไปมา

ปัจจุบันเจเนอเรชั่นที่ 2 ของตระกูลต่างตบเท้าเข้ามามีชื่อในตลาดหุ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้ง 3 พี่น้อง 'กฤษณ์ – ณพ –และ กรณ์ 'ที่รุกคืบในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจพลังงานทดแทน โดยใช้ฐานของธุรกิจกลุ่มเคพีเอ็นเป็นหลัก

ธุรกิจที่เป็นที่สนใจของนักลงทุนหนีไม่พ้น บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมซึ่งมีใบอนุญาตในมือมากที่สุดในไทยถึง 700 กว่าเมกะวัตต์ ที่เป็นเผือกร้อนให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ปัจจุบัน ‘ณพ ณรงค์เดช’ ที่เข้าไปถือหุ้นปี 2557 แต่กลับมีความไม่ลงรอยกันของผู้ถือหุ้นเก่าและใหม่จนมีคดีคาราคาซังกันหลายปี กระทบแผนการเข้าตลาดหุ้นต้องเลื่อนจนไม่เห็นแวว

ลามมาถึงศึกสายเลือดระหว่างพี่น้อง ที่ฟ้องร้องกรณีนำเงินของกงสีเคพีเอ็นไปลงทุนในวินด์ แต่กลับไม่มีชื่อเคพีเอ็นเป็นเจ้าของ ร่วมไปถึงการกล่าวหาว่าปลอมเอกสารกันวุ่นวาย ส่งผลทำให้เป็นข่าวดังครึกโครมตามหน้าสื่อต่างๆ

กรณีของวินด์ ถือว่ามีผลกระทบกับผู้เกี่ยวข้องหลายด้านทั้งสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้โครงการ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อื่น ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเข้าไปถือหุ้นอยู่ด้วย

นอกธุรกิจพลังงานแล้วยังมีกระแสข่าวการเข้าไปลงทุนในหุ้น บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ ซึ่งดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังไม่ปรากฎรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยตรง มีเพียงกองทุนต่างประเทศ ZICO ALLSHORES TRUST (S)LTD .ATO WISDOM & VIRTUE FUND ถืออยู่ 19.92 % 

รวมไปถึงล่าสุดเข้าไปลงทุนใน บริษัท อีสต์โคสท์ เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF สัดส่วน 15.06 % แลกกับการสว็อปหุ้น บริษัท เคพีเอ็น อะคาเดมี จำกัด สัดส่วน 57.52 % มูลค่า 460 ล้านบาท ท่ามกลางความกังขาว่าเป็นการเข้าตลาดหุ้นทางอ้อมหรือไม่ในอนาคต และธุรกิจเคพีเอ็น อะคาเดมี เน้นสื่ออนไลน์ ติวเตอร์ และดนตรี ยังเติบโตได้มากน้อยเพียงใดท่ามกลางงบการเงินปี 2561 ขาดทุนถึง 605 ล้านบาท

ขณะที่ด้าน กฤษณ์ ณรงค์เดช ‘ พี่ใหญ่ของตระกูล ประธาน เคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด นั่งแท่นจับธุรกิจอสังหาฯ ของครอบครัวเต็มตัว และได้ประกาศจัดโครงการธุรกิจประกอบไปด้วย ธุรกิจอสังหา ฯ ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจด้านการลงทุน และธุรกิจยานยนต์ ที่ถือว่าเป็นธุรกิจหลักตั้งแต่แรกเริ่มของครอบครัวก่อนจะลดน้ำหนักลง

พร้อมดันธุรกิจอสังหาฯ เป็นหัวหอกหลักจากความได้เปรียบสะสมแลนด์แบงก์จำนวนมากในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำให้นำมาพัฒนาจนประสบความสำเร็จภายใต้ บริษัท เคพีเอ็น ไลฟ์สไตล์ จำกัด และ บริษัท เคพีเอ็น แลนด์ จำกัด และวางแผนเข้าตลาดหุ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งระดมทุนตั้งแต่ปี 2558 ระหว่างนั้นได้มีการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เคพีเอ็น หรือ KPNPF หรือพร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ ขนาด 2,000 ล้านบาทระดมทุนตั้งแต่ปี 2556

โดยระหว่างนั้นมีกระแสข่าวถึงการเข้าไปลงทุนใน บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE ผ่านกองทุนต่างชาติแต่ได้มีการปฎิเสธจนดีลมาตกที่ บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RML อย่างชัดเจนในปี 2561

ด้วยการใช้สูตรสว๊อปหุ้นเปิดทางให้ RML ลงทุนในทรัพย์สินของ เคพีเอ็น แลนด์ ทั้งหมด (Entire Business Transfer) มูลค่า 1,074 ล้านบาท แลกกับการถือหุ้นเพิ่มทุน 597 ล้านหุ้นราคาหุ้นละ 1.80 บาท ส่งผลทำให้ เคพีเอ็น แลนด์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับ 2 สัดส่วน 19.84 %

เรียกได้ว่าด้วยกลไกตลาดหุ้นที่เปิดทางให้มีการเปลี่ยนมือ เปลี่ยนธุรกิจทำให้สินทรัพย์ของครอบครัว ‘ณรงค์เดช’ ก้าวเข้าสู่ตลาดหุ้นได้อย่างเต็มตัวแล้วก็ว่าได้