ไทยเหลื่อมล้ำการศึกษาระหว่างเมืองและชนบทสูงถึง 20 เท่า

ไทยเหลื่อมล้ำการศึกษาระหว่างเมืองและชนบทสูงถึง 20 เท่า

"สมพงษ์" ระบุไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงถึง 20 เท่าระหว่างในเมืองกับชนบท เด็กฐานะยากจนที่สุดในประเทศมีถึงร้อยละ 20 สามารถเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

       นายสมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวในเวทีเสวนาสาธารณะวันเยาวชนแห่งชาติ “การปฏิรูปการศึกษาที่เยาวชนเป็นเจ้าของ” และเวทีเสวนา เรื่อง “สุก หรือ สุข พื้นที่การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน” ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ห่วงโซ่การศึกษาคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและส่วนร่วมต่ำที่สุด คือ เด็กและเยาวชน ดังนั้น สิ่งที่จะพบคือ ใครเป็นเจ้าของการศึกษา ใครเป็นผู้จัดการศึกษา จากคำถามนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงเกิดชุดแนวความคิดหลักของการศึกษาปีนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียน หรือ ปฏิรูปการศึกษาโดยเยาวชนเป็นเจ้าของ ดังนั้นสิทธิทางการศึกษาจริงๆ เป็นเรื่องของเด็ก ผู้ใหญ่ต้องออกมา และให้เด็กมีส่วนร่วมในเรื่องการออกแบบการเรียนรู้ ต่อจากนี้การปฏิรูปการศึกษาต้องอย่าลืมเด็ก ว่า เขาคิด และต้องการอะไร
         นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า UN ให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะยากจน พิการ อยู่ในเมืองหรือชนบท ซึ่งใจความสำคัญของเรื่องนี้ ถือเป็นหลักคิดของมนุษยชาติ ดังนั้น จำเป็นที่ต้องทบทวนการจัดการศึกษาเพื่อใคร ตอบโจทย์เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พ่อแม่ผู้ปกครอง ค่านิยม แต่ไม่เคยตอบโจทย์วิธีคิดของเด็กเลยหรือไม่ เพราะฉะนั้นการศึกษาที่ UN ให้ความหมายในเรื่องของปฏิรูปการศึกษา เป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ทักษะด้านอารมณ์ ที่เด็กจะได้เรียนตรงกับความสนใจความต้องการ การศึกษามีความเท่าเทียมเที่ยงธรรม ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงถึง 20 เท่า ระหว่างในเมืองกับชนบท เด็กฐานะยากจนที่สุดในประเทศ มีถึงร้อยละ 20 และสามารถเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น แต่ร้อยละ 20 ของเด็กที่มีฐานะทางสังคมสูง สามารถเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้ร้อยละ 100


        “การที่ประเทศเราพูดถึงการศึกษาเพื่อทุกคน แต่เราจะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนกว่า 15,000 โรง และเด็กชนบทก็จะไปเรียนที่ไหน สิ่งที่กำลังจะตามมาอีกคือ การจัดสอบเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แบบ 100% ในจำนวน 400 กว่าโรงเรียน เรื่องนี้ทำให้เราพบกับการเรียนในลักษณะที่แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย การเรียนกวดวิชาจะเพิ่มขึ้น เพราะค่านิยมของพ่อแม่ที่ต้องให้ลูกเรียนโรงเรียนที่ดีที่สุด และสำหรับโรงเรียนอีก 15,000 แห่งที่เหลือ เราจะเอาไปไว้ไหน ทำไมไม่มีการมองเรื่องการสร้างคุณภาพของโรงเรียนให้มีความเท่าเทียมและเที่ยงธรรม อีกทั้งระบบการศึกษาเรายังออกแบบให้หลักสูตรมีตัวดัชนี บ่งชี้ กว่า 1,400 ตัว ที่ครูจะต้องทำให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครจะมานั่งสนใจชีวิตเด็ก ครูจะมุ่งสอนเนื้อหา แต่ไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งผมมองว่าเราจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก การสอบเข้า 100% การผลิตคนเพื่อป้อน EEC เพราะเด็กในพื้นที่จะหายไปต่างคนต่างเข้าไปเรียนต่อในเมือง ทำให้สายสัมพันธ์ในชุมชนหายไปด้วย” นายสมพงษ์ กล่าว
        นายสมพงษ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นอาวุธสำคัญของการศึกษา เนลสัน แมนเดลา พูดไว้ว่า ถ้าเราไม่ให้การศึกษาที่ดีและไม่เปิดพื้นที่อิสระ และไม่มีเสรีภาพทางความคิด เราก็จะมีคนติดกรอบเป็นค่านิยม และเราก็จะเดินตามเขาโดยที่เราไม่กล้าสวนกระแส ความกล้าและจิตวิญญาณมันจะฝ่อ แม้ว่าประเทศไทยจะมีตัวบ่งชี้ทางการศึกษากว่า 1,400 ตัว แต่สหประชาชาติ บอกว่าตัวบ่งชี้ที่สำคัญมีเพียงการสร้างการศึกษาที่ทุกคนเข้าถึงได้ การศึกษาเป็นที่ยอมรับ การศึกษาที่ปรับใช้กับชีวิตจริง ทั้งนี้ในอนาคตตนเชื่อว่าเสียงของเด็กจะมีความสำคัญ ความต้องการมาจากข้างล่างขึ้นสู่ด้านบน เพราะถ้าเด็กยังไม่มีเสียง เด็กก็จะต้องเดินไปตามเส้นทางที่เป็นค่านิยมที่มีการวางไว้