เบื้องลึกดีลแลกหุ้น‘อีซีเอฟ’...กับคำถามที่นักลงทุนแคลงใจ

เบื้องลึกดีลแลกหุ้น‘อีซีเอฟ’...กับคำถามที่นักลงทุนแคลงใจ

ดีลการแลกหุ้นระหว่าง บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF กับ บริษัท เคพีเอ็น อะคาเดมี จำกัด เรียกว่าอยู่ใน “สปอร์ตไลท์” ของนักลงทุน

หลายคนแอบสงสัยไม่ได้ว่า เบื้องลึกเบื้องหลังของดีลนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะ “พื้นฐาน” ของทั้ง 2 บริษัท ถือว่า “แตกต่างกัน” โดยสิ้นเชิง

ECF ประกอบธุรกิจจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และธุรกิจพลังงานทดแทน ขณะที่ “เคพีเอ็น อะคาเดมี” ประกอบธุรกิจสื่อการสอนออนไลน์ ธุรกิจแนะแนวการศึกษา ธุรกิจขายเครื่องดนตรีและโรงเรียนสอนดนตรี ภายใต้ชื่อสถาบันดนตรี “เคพีเอ็น” มีประสบการณ์เปิดดำเนินการมายาวนานกว่า 20 ปี

ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2562 ECF แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ว่า บอร์ดบริษัทไฟเขียวเข้าซื้อหุ้นสามัญของ เคพีเอ็น อะคาเดมี จากกลุ่มนายณพ ณรงค์เดช สัดส่วนไม่น้อยกว่า 57.52% คิดเป็นมูลค่าราว 460 ล้านบาท แต่เงินที่ใช้ลงทุนครั้งนี้ ECF ใช้วิธีออกหุ้นเพิ่มทุน สัดส่วนราว 15% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด ขายให้กลุ่มนายณพ ที่ราคาหุ้นละ 2.40 บาท 

หากการทำดีลในครั้งนี้สำเร็จจะส่งผลทำให้ “ณพ ณรงค์เดช” ผงาดขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 ของ ECF เป็นรองเพียง “กลุ่มสุขสวัสดิ์” เพราะถือหุ้นในนามส่วนตัวรวมกับในฐานะเป็นผู้รับประโยชน์ของโกลเด้น ไทเกอร์ แอสโซซิเอทส์ แอลทีดี รวมกันทั้งสิ้น 173,333,334 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15.06% พร้อมมีสิทธิเสนอชื่อบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทตามจำนวนที่จะตกลงกันไว้

โดย “ณพ ณรงค์เดช” เปิดใจถึงสาเหตุการแลกหุ้น เคพีเอ็น อะคาเดมี กับ ECF ว่า ส่วนตัวต้องการเข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ ECF เพราะเห็นถึงโอกาสและศักยภาพในการต่อยอดการเติบโตของ ECFร่วมกัน 

"ตั้งแต่ผมโตมาก็เห็นรุ่นคุณตาทำธุรกิจกับพาสเนอร์มาโดยตลอด เพราะการทำธุรกิจคนเดียวคงโตได้ยาก"

ณพ ยอมรับว่า รู้จักกับ “อารักษ์ สุขสวัสดิ์” กรรมการผู้จัดการ ECF มาระยะหนึ่งแล้ว โดยรู้จักกันก่อนที่ ECF จะหันมาทำธุรกิจพลังงานทดแทน และที่ผ่านมาก็ได้พูดคุย หรือปรึกษากันมาโดยตลอด การเข้ามาถือหุ้นใน ECF ครั้งนี้ คาดว่าจะมาช่วยให้คำปรึกษาหรือช่วยกันหาธุรกิจอื่นๆที่มีศักยภาพเข้าในพอร์ตการลงทุนของบริษัทด้วย โดยไม่จำกัดเฉพาะแค่ธุรกิจพลังงานทดแทนเท่านั้น 

การให้สัมภาษณ์ของ “ณพ” ตรงกับที่ "อารักษ์" เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ในช่วงก่อนหน้านี้ว่า การเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ "ณพ" ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะสามารถปรึกษาและมาทำงานร่วมกันได้ทุกเรื่องโดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจพลังงานของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีการปรึกษากันอยู่แล้ว เพราะ "ณพ" มีประสบการณ์ด้านธุรกิจพลังงาน รวมถึงมุมมองการลงทุน ซึ่งทั้งสองฝั่งจะหาทรัพย์สินหรือโครงการที่น่าสนใจใส่เพิ่มเข้ามาในอนาคต

ส่วนตัวธุรกิจของ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) และ ECF นั้น แม้จะมีธุรกิจที่เป็นพลังงานทดแทนเหมือนกัน แต่ทั้ง 2 คน ยืนยันว่าการบริหารและการดำเนินงานจะแยกออกจากกัน โดย “ณพ” บอกว่า  WEH ยังคงอยู่ระหว่างศึกษาการเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

“สาเหตุที่มาลงทุนในหุ้นบริษัทจดทะเบียนนั้น มองว่าทุกคนเป็นนักธุรกิจ ซึ่งก็ต้องหาโอกาสหรือธุรกิจใหม่ๆในการลงทุนไม่ว่าจะเป็นบริษัททั้งในหรือนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งครั้งนี้ส่วนตัวมองเห็นโอกาสและศักยภาพในการช่วยสร้างการเติบโตของ ECF”ณพ บอกกับทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ

อย่างไรก็ตามดีลการแลกหุ้นในครั้งนี้ คนในแวดวงตลาดทุนยังมี “คำถาม” อยู่ว่า ดีลดังกล่าวจะลงเอยเหมือนดีลซื้อหุ้น บริษัท เอสเทรค (ประเทศไทย) จำกัด (S-TREK) หรือไม่ เพราะสุดท้ายบอร์ด ECF สั่งให้ทบทวนการเข้าลงทุนในบริษัทดังกล่าว อีกทั้งราคาหุ้น ECF ในปัจจุบันก็ยังไม่เข้าใกล้ราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแบบพี/พี ที่ขายให้กับกลุ่มนายณพ ในราคา 2.40 บาทเลย

จากข้อมูลงบการเงินของทั้ง 2 บริษัทในช่วง 3 ปี (2559-2561) พบว่า ด้าน ECF มีรายได้เติบโตสวนทางกับมีกำไรสุทธิที่ลดลงทุกปี ซึ่งในครึ่งปีแรก 2562 มีรายได้ 693.52 ล้านบาท ลดลง 1.12 %มาจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ภายในประเทศลดลงหลังยกเลิกขายผ่าน ELEGA และ แคนดู ประเทศไทย ตั้งแต่ปลายปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 13.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 .03 % มาจากการบริหารต้นทุนที่ดีขึ้น

ส่วน เคพีเอ็น อะเคเดมี กลับพบว่ามีการเติบโตลดลงอย่างหนักในช่วง 3 ปี ซึ่งปี 2561 สินทรัพย์ 82.88 ล้านบาท ลดลง 85.21 %  จากปีก่อน และมีหนี้สินมากถึง 506 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.65 % จากปีก่อน ส่งผลทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ 423 .38 ล้านบาท และยังขาดทุน 605.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 1,000 %