20 ปีในอนาคต ลุ้น!รถป้ายแดงทุกคันไร้ควันขาว-ควันดำ

20 ปีในอนาคต ลุ้น!รถป้ายแดงทุกคันไร้ควันขาว-ควันดำ

เวทีรับฟังความเห็นเกี่ยวกับ (ร่าง) สมุดปกขาว “การส่งเสริมและพัฒนายานยนต์สมัยใหม่” ระบุตั้งเป้าปี 2040 สัดส่วนการจำหน่ายยานยนต์ที่ปลดปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์เป็น 100% ของจำนวนรถใหม่ที่มีการจำหน่ายในประเทศ 

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้เห็นความจำเป็นในการกำหนด มาตรการและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ PM2.5 จากการคมนาคม และการเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนในประเทศไทย ในอีก 20 ปี ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องด้าน Autonomous, Connected, Electric, Shared Vehicles (ACES) จึงได้จัดทำ (ร่าง) สมุดปกขาว “การส่งเสริมและพัฒนายานยนต์สมัยใหม่” (Next-Generation Automotive : Promotion and Development) ตลอดจนจัดการสัมมนาเพื่อนำเสนอและวิพากษ์

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์คลื่นความร้อน ผลกระทบจากพายุที่มีความรุนแรงสูง สถานการณ์น้ำท่วม ภัยแล้ง รวมถึงสถานการณ์ PM 2.5 ที่กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยข้อมูลว่าเกิดจากยานพาหนะมีส่วนถึง 40% ผนวกกับสถานการณ์การแข่งขันของเวทีโลกที่มีการแข่งขันด้านการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่รุนแรง ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัว โดยเมื่อปี 2558 รัฐบาลได้ประกาศนโยบายให้ประเทศไทยเป็น “ฮับ หรือศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน” และได้ดำเนินการด้านต่างๆ มาตลอดจนถึงปัจจุบัน และเพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อมด้านการส่งเสริมและพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ของไทยอย่างเป็นรูปธรรม และมีเป้าหมายชัดเจน

สอวช. ในฐานะหน่วยงานนโยบายที่มีภารกิจในการผลักดันให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศ จึงได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เสนอให้มีการตั้งเป้าหมายของประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ PM2.5 จากการคมนาคม และการเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนในประเทศไทย ในอีก 20 ปี โดยการเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายยานยนต์ที่ปล่อยไอเสียต่ำ (Low Emission Vehicle : LEV) และมุ่งไปสู่ยานยนต์ที่ปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ได้แก่ Battery Electric Vehicles, และ Hydrogen Fuel Cell Vehicles รวมถึงมีการกำหนดแผนที่นำทางในอีก 20 ปี โดยในปี 2040 สัดส่วนการจำหน่ายยานยนต์ใหม่ ควรเป็น ZEV 100% ของจำนวนรถที่มีการจำหน่ายในประเทศ และควรมีหัวจ่ายไฟฟ้าสาธารณะที่เข้าถึงได้ จำนวน 40,000 แห่งทั่วประเทศ

ในปี 2561 ไทยมียอดจดทะเบียนรถที่ไม่ปล่อยมลพิษ หรือ ZEV ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถไฟฟ้าแบตเตอรี่ รถจักรยานยนต์ 2 ล้อไฟฟ้าแบตเตอรี่ รวมกันต่ำกว่า 1% ของยานยนต์ที่จำหน่ายทั่วประเทศ และมีการลงทุนและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน ACES จำนวนน้อย หากไทยต้องการจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดมลพิษทางอากาศ PM2.5 จากการคมนาคม และยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมยานยนต์ ควบคู่ไปกับการพาประเทศบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ตามที่การประชุมรัฐภาคีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 หรือ COP21 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่รัฐบาลไทยให้คำมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2030 โดยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ให้เป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต 

การที่ประเทศไทยจะสามารถลดมลพิษทางอากาศ PM2.5 และการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ควรจะมีการส่งเสริมและพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ โดยมีแนวทาง 5 ด้าน ได้แก่

1. การกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่มีความชัดเจน 10 ปี 20 ปี

2. การยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศ (Industry/Local Capability Building) 2.1 การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้าน ZEV and ACES  2.2 การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรด้าน ZEV and ACES (Re-skill, Up-skill และ New-skill)  2.3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) ห้องแล็ป ห้องทดลอง 2.4 การพัฒนามาตรฐาน ข้อบังคับ กฎระเบียบ และกฎหมาย 

3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า 

4. การสนับสนุนและการสร้างแรงจูงใจ (Incentives) ทางภาษีและไม่ใช่ภาษี

5. การประชาสัมพันธ์และการสร้างความตระหนักแก่สาธารณะ (Awareness)

ร่างสมุดปกขาวได้มีข้อเสนอในการกำหนด วิสัยทัศน์และเป้าหมายที่มีความชัดเจน รวมถึงมาตรการและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่างๆ อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ (Industry/Local Capability Building) โดยการมุ่งเติมเต็มช่องว่าง (Gap) โดย การพัฒนาขีดความสามารถด้าน ZEV and ACES Technology and Innovation Development เช่น ในด้าน System Integration (SI), EV Technology Platform, Deep Technology, New Business Model, ADAS System, V2V, V2X, CAV, Sharing, Innovative Business Model, Safety, Battery Alliance Consortium, AI and Connected and Autonomous Vehicle Consortium เพื่อลดการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ PM2.5 จากการคมนาคม การเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน โดยจะมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน สนับสนุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Infrastructure) เช่น การกำหนดให้สร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าและสถานีระบบสลับแบตเตอรี่จำนวนมาก เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งาน ZEV and ACES Fleets หรือพาหนะที่เอกชน รัฐบาล หรือองค์กรอื่นๆ เป็นเจ้าของ 

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ควรมีนโยบายการส่งเสริมการสร้างความรู้ความเข้าใจในวงกว้าง มีการกำหนดพื้นที่ทดลองรวมถึง การประชาสัมพันธ์และการสร้างความตระหนักแก่สาธารณะ (Awareness) และมาตรการรองรับอื่นๆ อาทิ ข้อกำหนดและ แรงจูงใจ (Incentive) ทางภาษีและไม่ใช่ภาษี รัฐผลักดันให้เกิดนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม (Industrial Policies) ผ่านการที่รัฐประกาศนโยบายและเป้าหมาย โดยหลายประเทศในโลกก็ใช้วิธีการประกาศเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายภาครัฐ 

นอกจากนี้ ภาครัฐควรสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (RDI), โครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนาและการทดสอบ (R&D/Lab, Testing Infrastructure), Deep Technology, Technology Transfer, Technology Localization และ การพัฒนามาตรฐาน ข้อบังคับ กฎระเบียบ และกฎหมาย (Standard, Law & Regulation) เพื่อการลดการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ PM2.5 จากการคมนาคม และเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน การพัฒนากำลังคน (ZEV and ACES Personnel/ HRD) Re-skill, Up-skill และ New-skill และการ สนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างภาคเอกชนสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยจากทั้งในและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในการรับฟังความคิดเห็นและวิพากษ์ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน จาก 62 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ  ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และจากสื่อมวลชน โดยที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นและมุมมองที่มีประโยชน์ต่อ (ร่าง) สมุดปกขาว และมีตัวแทนจากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการวิจัย ประกอบด้วย นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต นายดุสิต อนันตรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการชี้นำและเตือนภัยภาคอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายดนตร์ บุนนาค วิศวกรระดับ 9 กองมาตรฐานระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และนายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด ร่วมวิพากษ์ และมี ดร.จาตุวัฒน์ ราชเรืองระบิน นักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ 

โดยมีความคิดเห็นที่น่าสนใจหลากหลาย อาทิ การสนับสนุนการให้แรงจูงใจด้านภาษีบุคคลธรรมดากับภาษีนิติบุคลที่ใช้ยานยนต์ ZEV และกลไกที่จะทำให้ยานยนต์ ZEV มีราคาถูกลง เช่น การปรับปรุงกฎระเบียบการนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสนับสนุนการเสนอให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม ZEV และ ACES” โดยเสนอว่าคณะกรรมการควรมีองค์ประกอบที่นอกจากจะมีตัวแทนของหน่วยงานภาครัฐจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องแล้ว ควรมีตัวแทนจากภาคเอกชน ภาคการศึกษา และประชาชนด้วย เพื่อทำให้องค์ประกอบสมดุล 

นอกจากนี้ ผู้แทนจากกรมสรรพสามิต ยังได้เสนอแนะว่า อยากให้ OEM เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย เพราะถ้าเราทำกันเอง Economy of Scale ไม่เพียงพอที่จะทำให้ต้นทุนถูกลง นอกจากนี้ บนเวทียังได้แสดงความเห็นในการสนับสนุนด้าน Autonomous, Connected, Electric, Shared Vehicles (ACES) ว่าเป็นทิศทางในอนาคตที่ภาคอุตสาหกรรมจะมุ่งไปอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรถึงจะเกิดเร็วกว่าที่คิด อาจจะใช้มาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษีมาช่วยกระตุ้นได้หรือไม่ ส่วนผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมฯ มองว่าเราไม่อยากซื้อเทคโนโลยีไปตลอด อยากให้ซื้อมาแล้วพัฒนาและใช้ต่อในประเทศไทยได้ และมองว่ามอเตอร์ไซค์และรถยนต์สาธารณะจะเกิดก่อน รวมถึงอยากให้มีการริเริ่มเรื่อง ถนนสะอาดยานยนต์อัจฉริยะ  

การที่จะทำให้ยานยนต์สมัยใหม่สำเร็จได้เสนอให้ผลักดันใน 5 ด้าน คือ 

1. มีการปรับปรุงมาตรการ กฎหมายกฎระเบียบมาตรฐาน 

2. ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 

3. สนับสนุนระบบ Infrastructure 

4. การให้ความรู้และการประชาสัมพันธ์ 

5. สิ่งแวดล้อม เช่น การกำจัดซากแบตเตอรี่ และมองว่าต้องมีมาตรการออกมาทั้งการเงินการคลัง ด้าน FTA ด้านมาตรฐานแบตเตอรี่ EV ที่ยังไม่มี และที่สำคัญภาครัฐควรซื้อรถในเมืองไทยใช้ก่อน 

สำหรับผู้แทนจากภาคเอกชน มองว่า ในส่วนของการกำหนดเป้าหมายสัดส่วนยานยนต์ใหม่ ZEV เป็น 100% ในปี 2040 เอกชนมองว่ายังช้าไป เพราะเกรงว่ากว่าเราจะทำได้ในอีก 20 ปี ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว จึงมีการเสนอให้มีการร่นระยะเวลาลงอีก โดยเสนอให้กำหนดที่ 10 ให้เกิดขึ้นในปี 2030 และให้ยาแรงเรื่องมาตรการจูงใจให้เกิดการใช้จริง และรีบเร่งสร้าง Tier 1, Tier 2, Tier 3 อาจจะเป็นภาครัฐที่ทำรถขึ้นมาเองก็ได้ อยากให้นำ Technology มาลงและ Localize Technology ต่อจากนี้ ถ้าเราไม่รีบสร้างแรงจูงใจ ปรับปรุงกฎระเบียบ และเร่งสนับสนุนด้านการสร้างขีดความสามารถผู้ประกอบการ เมื่ออุตสาหกรรมเกิดการ Disruption ที่เร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้อุตสาหกรรมในประเทศอาจจะหายไปหมด เป็นต้น 


                      ทั้งนี้ จากข้อเสนอแนะต่างๆ ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส สอวช. ได้รับฟังและรวบรวมข้อคิดเห็น เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุง (ร่าง) สมุดปกขาวต่อไป