ตามไปดู'กัญชา'สายพันธุ์ไทย“อิสระ 01 “ปลูกเชิงอุตสาหกรรม'แห่งแรกของอาเซียน'ที่ม.แม่โจ้

ตามไปดู'กัญชา'สายพันธุ์ไทย“อิสระ 01 “ปลูกเชิงอุตสาหกรรม'แห่งแรกของอาเซียน'ที่ม.แม่โจ้

กัญชาสายพันธุ์ไทย“อิสระ 01“ที่ได้รับเมล็ดพันธุ์จากกรมการแพทย์ ปลูกที่ม.แม่โจ้เป็นการปลูกระดับอุตสาหกรรมแแห่งแรกของอาเซียน ภายในโรงเรือนสมาร์ทฟาร์ม 3,040 ตารางเมตรภายในพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติของ.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่

       โรงเรือนสมาร์ทฟาร์ม 3,040 ตารางเมตรภายในพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติของ.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ถูกเตรียมพร้อมเพื่อใช้เป็นสถานที่ในการปลูกกัญชาสายพันธุ์ไทย“อิสระ 01“ที่ได้รับเมล็ดพันธุ์จากกรมการแพทย์เป็นการปลูกระดับอุตสาหกรรมแแห่งแรกของอาเซียน

     โดยใช้องค์ความรู้การปลูก “ระบบพืชอินทรีย์อัจฉริยะ”ที่ม.แม่โจ้มีอยู่และจะพัฒนาขึ้น ให้เหมาะสมกับการปลูกกัญชาในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ก่อนต่อยอดสู่การปลูกกลางแจ้ง โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์ องค์การเภสัชกรรม(อภ.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปลูกกัญชาทางการแพทย์รวม 12,000 ต้น  คาดว่ารุ่นแรกจะได้ผลผลิต คือ ดอกกัญชาประมาณ 2.4 ตัน ในราวเดือนก.พ. 2563 สามารถผลิตเป็นสารสกัดกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ได้ราว 1 ล้านโดส เป็นแบบเกรดทางการแพทย์(Medical Grade)

S__17268749

     

      ผศ.พาวิน มะโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดี ม.แม่โจ้ กล่าวว่า กัญชาที่ปลูกเป็นกัญชาสายพันธุ์ไทยอิสระ 01 ที่คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ปลอดสารปนเปื้อน. และไม่ติดสิทธิบัตร และเตรียมขอจดสิทธิ์กับกรมวิชาการเกษตร โดยเป็นการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ในโรงเรือนที่ได้มาตรฐานไอฟง( IFOAM) ซึ่งจะเป็นกัญชารุ่นแรก จากนั้นจะพัฒนาสายพันธุ์โดยนักวิจัยที่ได้รับอนุญาตถูกต้อตามกฎหมายแล้ว

S__17268752

      ทั้งนี้กัญชาพันธุ์อิสระ 01 จะเก็บเกี่ยวได้หลังปลูก 4 เดือน กัญชา1 ต้นจะได้ดอกสด 200 กรัม รวมดอกสด 24,000 กิโลกรัม จากนั้นต้องอบแห้ง จะได้ 2,400 กิโลกรัม และในอนาคตเตรียมขยายปลูกนอกโรงเรือน และพัฒนาสายพันธุ์ให้แข็งแรงมากขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านสามารถนำไปต่อยอดปลูกได้ในอนาคต

          ขณะที่ ศ.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ ม.แม่โจ้ อธิบายว่า การปลูก“ระบบพืชอินทรีย์อัจฉริยะ” เป็นไปตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice :GAP) และระบบเกษตรอินทรีย์(Organic) ใช้ปัจจัยการผลิตอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งโรงเรือนที่ใช้ปลูกกัญชาเดิมใช้ปลูกมะเขือเทศแบบอินทรีย์ ก่อนจะปลูกกัญชาได้มีการยุติการปลูกพืชเป็นเวลา 6 เดือนเพื่อเตรียมวัตถุดิบการปลูกกัญชา 

S__17268754_1

       ซึ่งใช้วัตถุดิบที่ม.แม่โจ้วิจัยมากกว่า 20 ปี เป็นปุ๋ยหมักธรรมชาติ ที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร เช่น ต้นข้าวโพด ฟางข้าว เศษใบไม้ กิ่งไม้ เป็นต้น หมักทิ้งไว้ 3-4 เดือน ปลอดสารพิษและโลหะหนัก ใช้เพิ่มธาตุอาหารพืชและปรับปรุงโครงสร้างดิน และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน มีธาตุอาหารพืชอินทรีย์สำหรับปลูกพืชกัญชา คือ ฟิตอะมิโน ช่วย บำรุงลำต้นและใบ บำรุงดินใบใหญ่สีเขียวมัน และใช้ ปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน และ น้ำหมักมูลไส้เดือนดิน ช่วยบำรุงการเจริญเติบโตของพืช เร่งราก ดอกดก บำรุงดิน ละลายปุ๋ยที่ตรึงอยู่ในดิน

S__17268750

         ระบบการปลูกในโรงเรือนแบบสมาร์ทฟาร์ม จะประกอบด้วย โรงเรือนเพาะกล้า โรงเรือนปลูกขนาดพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร โรงเรือนผึ่ง โรงเก็บผลผลิต มีระบบการให้น้ำ การควบคุมอุณหภูมิและความชื้น และระบบตรวจสอบโลหะหนัก โลหะหนัก แคดเมียม ตะกั่ว ปรอท ยาฆ่าแมลง และยาปราบศัตรูพืชตกค้าง มีค่าไม่เกินมาตรฐานที่กฏหมายกำหนด

     สำหรับกัญชาสายพันธุ์ อิสระ 01 ศ.อานัฐ บอกว่า เป็นพันธุ์ไทยแท้ได้รับการวิจัยโดยรวบรวมตั้งแต่ ปี พ.ศ.2546 ทำการคัดเลือกตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์และส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับอนุญาต ตาม พรบ.ตรวจหาสารได้สายพันธุ์ที่มีคุณลักษณะทางยา และเส้นใย มีอัตราส่วนจากการสกัดของสารทีเอชซี(THC) และซีบีดี (CBD) ใกล้เคียงกันเหมาะสมที่จะปลูกในสภาพสิ่งแวดล้อมของไทย ปลูกได้ทุกฤดูกาลตามสภาพการจัดการที่เหมาะสม สภาพดินร่วน ระบายน้ำได้ดีอุณหภูมิ 17-27 องศาเซลเซียส

      “เมล็ดพันธุ์ที่ม.แม่โจ้ได้รับจากกรมการแพทย์ นำมาเพาะไม่ถึง 24 ชั่วโมงรากก็งอก เพาะวันนี้พรุ่งนี้ก็สามารลงดินได้ ภายใน 36 ชั่วโมงก็ได้ต้นงอก ซึ่งค่อนข้างเร็ว ใน 1 เดือนก็จะเห็นใบงอก สามารถปลูกได้ทั้งในโรงเรือนและกลางแจ้ง แต่ถ้าเป็นกลางแจ้งต้องเป็นสายพันธืไทย ทั้งนี้ พื้นที่ของม.แม่โจ้สามารถขยายพื้นที่ปลูกกัญชาแบบกลางแจ้งได้อีก 5-6 เท่า แต่ยังไม่ได้ดำเนินการเพราะยังไม่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกลางแจ้ง”ศ.อานัฐกล่าว

S__17268751

     อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องไม่ลืม คือ กัญชามีโทษที่ต้องระวัง และการจะปลูกได้นั้นต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษก่อน เพราะปัจจุบันกัญชายังถือเป็นสารเสพติด โดยออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท กดประสาท และหลอนประสาทในกรณีที่ใช้เกินกำหนดและไม่ถูกวิธี เพราะสารในกัญชาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสมองอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดโทษและอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้

    เช่น ทำให้ผู้เสพรู้สึกตื่นเต้น ช่างพูด กระสับกระส่าย และหัวเราะตลอดเวลา ก่อนจะกดประสาททำให้มีอาการซึมเศร้า ง่วงนอน เวียนศีรษะ ปากแห้งหากเสพเข้าไปในปริมาณมาก ๆ จะหลอนประสาท ทำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ความคิดสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้

   ส่วนการที่จะให้ประชาชนปลูกกัญชาที่บ้านได้ 6 ต้นตามการหาเสียงของพรรคการเมืองนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) บอกว่า “จะยังไม่ดำเนินการ จนกว่าประชาชนจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้กัญชาอย่างปลอดภัย และหากผลการใช้กัญชาในสถานพยาบาลที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว แพทย์บอกว่าไม่โอเค ผลมันห่วย ก็พร้อมยกเลิกนโยบาย”