งบกลาโหม 2.33 แสนล้าน ชี้ 6 หน่วยงานปรับยกแผง

งบกลาโหม 2.33 แสนล้าน ชี้ 6 หน่วยงานปรับยกแผง

ตามที่มีพรก.ปิดประชุมรัฐสภา ตั้งแต่ 19 ก.ย. โดยคณะรมต. เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.งบรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เพื่อให้สภาฯ พิจารณาในวาระที่ 1 ในวันที่ 17 ต.ค. ภายหลังวันที่ 3 ก.ย. ครม.พิจารณาเห็นชอบ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 63 อยู่ที่่ 3.2 ล้านล้านบาท

หากจำแนกตาม 20 กระทรวง พบว่ากระทรวงศึกษาธิการ ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุดที่ 368,660 ล้านบาท ตามปฏิทินที่สำนักงบประมาณได้กำหนดไว้ เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เข้าสู่การพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 1 (ประชุมสมัยวิสามัญ) จะไปเสร็จสิ้นในช่วงวันที่ 8-9 ม.ค.2563 ในวาระที่ 2-3 ก่อนที่วุฒิสภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วันที่ 20 ม.ค.2563 

จากนั้นวันที่ 27 ม.ค.2563 สำนักเลขาธิการ ครม. จะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย

ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ต่อการจัดทำงบประมาณที่เป็นยุครัฐบาล เปลี่ยนผ่านจากช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่พิจารณากฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 5 ฉบับ ตั้งแต่ปี 2558-2562 

แบ่งเป็น งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 วงเงิน 2.575 ล้านล้านบาท 

งบปี 2559 วงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท งบปี 2560 วงเงิน 2.733 ล้านล้านบาท  งบปี 2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท งบปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท และงบปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท

โดยงบปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 ที่ 2 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.7% แบ่งเป็นรายจ่ายงบประมาณประจำอยู่ที่ 2.39 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.19 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.3% รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง 6.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 100% รายจ่ายเพื่อการลงทุนวงเงิน 6.55 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 6,664 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% รายจ่ายเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ 8.91 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.09 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14%

ส่วนประมาณการรายได้ปี 2563 อยู่ที่ 2.731 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.81 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.1% เป็นงบประมาณขาดดุล 4.69 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2%

หากลงไปถึงรายละเอียดงบประมาณแต่ละหน่วยงาน พบว่า 5 อันดับ ที่มีการจัดงบประมาณเพิ่มขึ้นสูงสุด จากปีงบประมาณ 2562 ประกอบด้วย 1.กระทรวงมหาดไทย ปรับเพิ่มขึ้น 25,264 ล้านบาท จาก 327,742 ล้านบาท 2.กระทรวงแรงงาน ปรับเพิ่มขึ้น 8,284 ล้านบาท จากเดิม 52,954 ล้านบาท 

3.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปรับเพิ่มขึ้น 7,936 ล้านบาท จากเดิม 13,341 ล้านบาท 4.กระทรวงการคลัง ปรับเพิ่มขึ้น 6,728 ล้านบาท จากเดิม 242,948 ล้านบาท และ 5.กระทรวงกลาโหม ปรับเพิ่มขึ้น 6,226 ล้านบาท จากเดิม 227,126 ล้านบาท

นอกจากนี้ จากร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาทนั้น หากจำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดทำงบประมาณ 7 ด้าน พบว่า ยุทธ์ศาสตร์ด้านความมั่นคง มากสุดในลำดับที่ 1 อยู่ที่ 428,219 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.4 จากกงบประมาณทั้งหมด

โดยเฉพาะงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ที่มีงบประมาณปี 2563 อยู่ที่ 233,353 ล้านบาท ได้ถูกจัดแบ่งไปยัง 6 หน่วยงาน ที่ได้รับการปรับงบประมาณเพิ่มขึ้นทั้งหมด ประกอบด้วย 

1.สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 10,350 ล้านบาท ซึ่งปรับเพิ่มขึ้น 286 ล้านบาท 2.กองทัพบก 113,677 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 2,300 ล้านบาท 3.กองทัพเรือ 47,277 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 1,793 ล้านบาท 4.กองทัพอากาศ 42,882 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 1,273 ล้านบาท 5.กองบัญชาการกองทัพไทย 17,912 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 558 ล้านบาท และ 6.สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 1,252 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 13 ล้านบาท

แน่นอนว่า เมื่อร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ในวาระที่ 1 ฝ่ายค้านจะล็อคเป้าอภิปรายงบประมาณจากกระทรวงที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นจากงบปี 2562 โดยเฉพาะ “กระทรวงกลาโหม” ซึ่งเป็นกระทรวงที่ฝ่ายค้านตรวจสอบการจัดซื้ออาวุธ ยุทโธปกรณ์อย่างต่อเนื่อง 

จากที่ “สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้าน เตรียมให้พรรคร่วมฝ่ายค้านรอการพิจารณางบประมาณที่จะมีขึ้นในกลางเดือน ต.ค.2562 ว่า รัฐบาลจะชี้แจงเหตุและผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างไร หากพบว่ารัฐบาลไม่จริงใจแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ฝ่ายค้านจะเตรียมขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อเปิดสมัยประชุมทันที

เป็นกำแพงหินด่านแรก ที่ฝ่ายรัฐบาลต้องเตรียมเผชิญสถานการณ์ในสภาฯ อีกครั้ง หลังผ่านการอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ผ่านมาเพียง 1 เดือน 

ยิ่งสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำที่ยังสั่นคลอน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จากผลการลงมติวาระที่ผ่านมา จะเป็นบทพิสูจน์ “ดีลพิเศษ” ในแผนสำรอง ดึงเสียงฝ่ายค้านมาร่วมสนับสนุนร่างกฎหมายสำคัญ ตามที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐต่อสายไว้ อาจจะได้เห็นปรากฎการณ์“งูเห่าในอีกไม่ช้า