เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

รัฐบาลเมียนมาได้พัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมสำหรับการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อการสร้างงานและส่งเสริมการพัฒนาชนบท รวมถึงส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ช่วงก่อนปี 2531 เขตอุตสาหกรรมสำคัญเมียนมาได้รับการจัดตั้งบริเวณรอบเมืองย่างกุ้ง ต่อมาในปี 2538 รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยได้ตั้งเขตอุตสาหกรรมขึ้นรวมทั้งหมดเป็น 23 เขต 

อย่างไรก็ตาม แม้โรงงานอุตสาหกรรมของเมียนมาจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ 93% ของโรงงานภาคเอกชนไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมที่รัฐบาลกำหนด และโรงงานส่วนใหญ่มีขนาดเล็กมาก จึงไม่สามารถจ้างงานเป็นจำนวนมากตามที่รัฐบาลกำหนดเป้าหมายไว้

รัฐบาลเมียนมาจึงให้ความสำคัญกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยปัจจุบันเมียนมามีเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) 3 แห่ง เพื่อส่งเสริมการสร้างงานและเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดย 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญ ได้แก่ (1) เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา (2) เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และ (3) เขตเศรษฐกิจพิเศษจ๊อกพิว

เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายตั้งอยู่ในเมืองทวายซึ่งเป็นเมืองหลวงของเขตตะนาวศรีด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมียนมา เขตตะนาวศรีมีประชากรประมาณ 1.4 ล้านคน เมืองทวายมีประชากรประมาณ 4.9 แสนคน มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการขนส่งสินค้าไปยังอินเดียและสหภาพยุโรป อีกทั้งทรัพยากรธรรมชาติยังมีความอุดมสมบูรณ์

เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นการร่วมลงทุนระหว่างไทย เมียนมา และญี่ปุ่น ทวายถือเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมียนมาด้วยขนาดพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร ห่างจากด่านบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ประมาณ 132 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอเมืองกาญจนบุรี 230 กิโลเมตร และระยะทางกรุงเทพฯ-โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ประมาณ 360 กิโลเมตร

ไทยได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและพัฒนาถนนเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวายมายังไทยทางด่านบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี โดยมีแผนการลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ฯลฯ การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนตอนใต้

พื้นที่ทวายได้รับการพัฒนาภายใต้แนวคิดการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาคเพื่อตอบสนองความต้องการในการขนส่งทางทะเลในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน เป็นทางเลือกให้กับอินเดีย จีน ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา ในการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า และไม่ต้องพึ่งพาเส้นทางผ่านทางช่องแคบมะละกาเหมือนดังที่ผ่านมา

นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนมายังได้สนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงทางรถไฟจากทวาย-ย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์-มูเซ เชื่อมต่อไปยังทางรถไฟจีนที่คุนหมิง เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายได้รับการจับตามองจากนักลงทุนไทยอย่างมาก เนื่องจากทวายเป็นเมืองที่มีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่ดี อีกทั้งยังอยู่ไม่ไกลจากไทย หากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็จะยิ่งทำให้การเดินทางมีความสะดวกมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานภาครัฐเมียนมาจึงอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะถนน เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

รัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยได้ดำเนินการก่อสร้างถนนจากเมืองทวายไปเมืองมะริด และได้ปรับปรุงถนเป็น 2 เลน เพื่อเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กับด่านบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ส่งผลให้ภาคตะนาวศรีของเมียนมากำลังได้รับการจับตามองจากนักลงทุนหลายฝ่าย เนื่องจากมีโอกาสทางด้านการค้า การลงทุน และสามารถสร้างความร่วมมือได้ในหลายสาขา อาทิ การไฟฟ้า การประมง การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์

ปัจจุบัน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไม่เป็นไปตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งท่าเรือน้ำลึก เส้นทางขนส่งและถนน ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อม เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาทบทวนการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าอาจใช้ระยะเวลาหลายปี ดังนั้น อนาคตของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจึงยังต้องจับตามองกันต่อไป