กรมประมง ขนพันธุ์สัตว์น้ำ-จุลินทรีย์ปม.1 ร่วมกิจกรรมจิตอาสา

กรมประมง ขนพันธุ์สัตว์น้ำ-จุลินทรีย์ปม.1 ร่วมกิจกรรมจิตอาสา

กรมประมงผนึกกำลังหนุนพันธุ์สัตว์น้ำและจุลินทรีย์ปม.1 ร่วมโครงการ "จิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย"

เมื่อวันที่ 24 ก.ย.62 นายถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง ลงพื้นที่พร้อมคณะนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดโครงการ "จิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย"สำนักงานชลประทานที่ 7 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยปล่อยรถคาราวานจิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบพร้อมสร้างการรับรู้การเตรียมการด้านการเกษตรตามหลักวิชาการ ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างรวดเร็วพร้อมกันในพื้นที่ 21 จังหวัด

นายถาวร จิระโสภรณ์รักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุ "โพดุล" และพายุ "คาจิกิ" ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2562 เป็นต้นมา ทำให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ ซึ่งจากการสำรวจความเสียหาย ด้านประมงล่าสุดพบว่ามีเกษตรกรได้รับผลกระทบในพื้นที่ 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย พิจิตร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ขอนแก่น นครพนม มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สกลนคร นครนายก ตราด และจังหวัดกระบี่พื้นที่เพาะเลี้ยง สัตว์น้ำได้รับผลกระทบจากอุทกภัยประมาณ 29,180.37 ไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหายจำนวน 28,824 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 427.88 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.ย. 62) ซึ่งระหว่างการเกิดอุทกภัยทางกรมประมงได้มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและความต้องการรวมถึงให้การช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนอย่างต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่จังหวัดประสบอุทกภัย ทั้งการออกเตรียมความพร้อมให้คำแนะนำเกษตรกรในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงการออกประกาศเตือนผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงจระเข้ การขนย้ายสิ่งของ คนชรา ผู้ป่วย สัตว์เลี้ยง ตลอดจนรับส่งประชาชน ฯลฯ

10624524535504

กิจกรรมโครงการ "จิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรผู้ประสบภัย" มีวัตถุประสงค์ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบูรณาการให้การช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัยหลังน้ำลด ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ในพื้นที่จำนวน 21 จังหวัด ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและสร้างการรับรู้การเตรียมการด้านการเกษตรตามหลักวิชาการ รวมทั้งการสนับสนุน ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างรวดเร็ว โดยในส่วนของกรมประมงได้ร่วมสนับสนุนลูกพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ อาทิ ปลาตะเพียนขาว ปลายี่สกเทศ ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลากระแห ปลานวลจันทร์เทศ ปลาสร้อยขาว ฯลฯ จำนวน 3,256,060 ตัว เพื่อนำไปต่อยอดเป็นแหล่งอาหารตลอดจนสร้างอาชีพเบื้องต้นให้กับผู้ประสบภัย และจุลินทร์ทรีย์ปม.1จำนวน 8,750 ซอง สำหรับนำไปปรับคุณภาพน้ำให้เหมาะกับการเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไป

สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในพิธีเปิดครั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการปล่อยคาราวานรถยนต์ออกช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทางกรมประมงได้นำพันธุ์สัตว์น้ำจำนวน 100,000 ตัว พร้อมด้วยจุลินทรีย์ปม.1 ไปมอบให้กับตัวแทนชุมชนในพื้นที่ตำบลหนองกินเพล อำภอวารินชำราบ เพื่อให้ผู้นำไปส่งมอบให้กับผู้ได้รับผลกระทบต่อไป และสำหรับในด้านการสำรวจความเสียหายด้านประมง ทางกรมประมงได้มีนโยบายกำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งสำรวจความเสียหายให้ถูกต้องและรวดเร็ว เพื่อรวบรวมส่งต่อให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้เร็วที่สุด