ไทย“ฮับ”ร.ร.อินเตอร์ชิงเค้ก7หมื่นล้าน 

ไทย“ฮับ”ร.ร.อินเตอร์ชิงเค้ก7หมื่นล้าน 

ปักหมุดไทย“ฮับ”ร.ร.อินเตอร์ ชิงเค้กก้อนโต 6-7 หมื่นล้าน  เติบโตมากสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิด 7 ปัจจัยหนุนดัน ร.ร.อินเตอร์ “ฮิต” 

      กลุ่มทุนไทย-ต่างชาติสนใจ ลงทุนโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น หวังเป็นโรงเรียนทางเลือก พัฒนาเด็กเตรียมพร้อมสำหรับโลกอนาคต ภาพรวมอัตราการเติบโตในไทยปีละ 9% ดับเบิ้ลดิจิต 4 ปีซ้อน โตสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลค่าตลาดปัจจุบัน 6-7 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 7-8% ต่อปี มีรายได้รวมจากค่าเล่าเรียนต่อปี 844.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 25,347 ล้านบาท สอดรับนโยบายไทยเป็น Education Hub  เพิ่มโอกาสทางการศึกษาควบคู่เศรษฐกิจ

    การเติบโตของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยนอกจากจะเป็นโรงเรียนทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการของพ่อแม่ผู้ปกครอง แล้วยังเป็นการสร้างโอกาสให้แก่เด็กได้เรียนรู้ในมาตรฐานนานาชาติแล้ว ยังถือเป็นอีกช่องทางที่ภาครัฐสามารถดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ ตามนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Education Hub

    เพราะเมื่อรัฐบาลส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมเปิดให้นักลงทุนต่างชาติได้เข้ามาในไทย การมีโรงเรียนนานาชาติในไทย โดยอาจจะเป็นการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนไทยกับนักลงทุนต่างชาติ จะทำให้ครอบครัวชาวต่างชาติ หรือนักเรียนต่างชาติมาเรียนในไทยมากขึ้น เป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้อีกทางหนึ่ง

โตปีละ 9% มูลค่าตลาด 6-7 หมื่นล.

    นางอุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีโรงเรียนนานาชาติเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมโรงเรียนนานาชาติ เพิ่มขึ้น 7-8% จากเดิมที่มีสมาชิกเพียง 94 แห่ง ขณะนี้เพิ่มจำนวนอย่างก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 207 แห่ง และมีแนวโน้มที่จะมีการเปิดโรงเรียนใหม่เพิ่มอีก

     โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นสมาชิกสมาคมโรงเรียนนานาชาติ 141 แห่ง มีอัตราการเติบโตปีละ 9% หากย้อนหลังไปสัก 4-5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตดับเบิ้ลดิจิต 4 ปีซ้อน เรียกได้ว่า โรงเรียนนานาชาติของไทยเติบโตมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนั้นในส่วนของมูลค่าตลาดโรงเรียนนานาชาติในปัจจุบันอยู่ที่ 60,000-70,000 ล้านบาท และยังคงมีการขยายตัวอยู่ที่ 7-8% ต่อปี

   ทั้งนี้ข้อมูลจาก ISC Research Ltd ระบุว่า ตลาดโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2561) ระบุว่าโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอนมีจำนวน 205 แห่ง มีนักเรียน 72,830 คน มีครูผู้สอน 8,096 คน มีรายได้รวมจากค่าเล่าเรียนต่อปี 844.9 ล้านเหรียญสหรัฐประมาณ 25,347 ล้านบาท 

       โดยตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 118 แห่ง เชียงใหม่ 16 แห่ง ภูเก็ต11 แห่ง ชลลุรี 8 แห่ง ปทุมธานี 4 แห่ง นนทบุรี 1 แห่ง นครราชสีมา 4 แห่ง ระยอง 3 แห่ง สระบุรี 3 แห่ง สมุทรปราการ 3 แห่ง หาดใหญ่(จ.สงขลา) 3 แห่ง สุราษฎร์ธานี 3 แห่ง นอกจากนั้น ISC ได้จำแนกออกมาได้เป็นโรงเรียนระดับพรีเมียมทั้งหมด 73 แห่ง

S__23773246

ดึงต่างชาติลงทุนเพิ่มมูลค่าศก.

    นางอุษา กล่าวอีกว่า การเติบโตของโรงเรียนนานาชาตินอกจากจะเป็นโรงเรียนทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการของพ่อแม่ผู้ปกครอง เป็นการสร้างโอกาสให้แก่เด็กได้เรียนรู้ในมาตรฐานนานาชาติแล้ว ยังถือเป็นอีกช่องทางที่ภาครัฐสามารถดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ เพราะเมื่อรัฐบาลส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมเปิดให้นักลงทุนต่างชาติได้เข้ามาในไทยก็ควรจะสนับสนุนการเปิดโรงเรียนนานาชาติในไทย

     โดยอาจจะเป็นการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนไทยกับนักลงทุนต่างชาติ จะทำให้ครอบครัวชาวต่างชาติ หรือมีการส่งนักเรียนต่างชาติมาเรียนในไทยมากขึ้น เป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ขณะเดียวกันด้วยความล้ำสมัย นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการศึกษาก็จะเพิ่มคุณภาพทางการศึกษาให้แก่เด็กไทย ” นางอุษา กล่าว

ทุนใหญ่รุกตลาด“โรงเรียนนานาชาติ”

    ปัจจุบันมีนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น เช่น กลุ่มคันทรีกรุ๊ป กลุ่มสหพัฒน์ และกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป เพราะโรงเรียนนานาชาติยังเป็นที่ต้องการของตลาด และมีอัตราค่าเทอมหลายระดับ โดยเฉพาะตลาดล่างที่เริ่มจะขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้ง ประเทศไทยมีโลเคชั่นที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้จำนวนนักเรียนที่โตจึงไม่ใช่เป็นเพียงนักเรียนต่างชาติ (Expat) แต่โตในแง่ของนักเรียนไทยที่เข้ามาเรียนจำนวนมากขึ้น

คาดอีอีซีดึงต่างชาติปีละแสนคน

     นางปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกของประเทศไทย หรือ อีอีซี จะสามารถดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาได้ปีละประมาณ 100,000 คน ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและความต้องการโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่ภาคตะวันออกของกรุงเทพฯ ที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง ข้อมูลจากสมาคมโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยยังระบุอีกด้วยว่า ประเทศไทยเป็นตลาดโรงเรียนนานาชาติที่มีการเติบโตมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักตลอดระยะ 8 ปีที่ผ่านมา

     “ความร่วมมือระหว่างบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ในเครือของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฟอร์จูน แฮนด์ เวนเจอร์ ลิมิเต็ด จากฮ่องกง ในการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ เพื่อเป็นโรงเรียนนานาชาติระดับเวิล์ดคลาสของไทยที่ออกแบบและพัฒนาบนพื้นฐานของแนวคิดใหม่ทั้งหมด เพราะต่อให้ขณะนี้มีโรงเรียนนานาชาติในไทยจำนวนมาก แต่ถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากโรงเรียนนานาชาติมีเทคโนโลยี หลักสูตร การเรียนการสอนตอบสนองความต้องการของผู้เรียน และผู้ปกครอง ทุกคนต้องพัฒนาอย่างสม่ำเสมอนั่นจะทำให้การแข่งขันมากขึ้น เด็กผู้ปกครองก็จะได้ระบบการเรียนการสอนที่ดียิ่งขึ้น การสร้างโรงเรียนครั้งนี้ เพื่อต้องการพัฒนาเด็กให้มีความคิดวิเคราะห์ เป็นนักคิดนวัตกรรม คนรุ่นใหม่ที่มีทักษะตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในโลก ส่วนเรื่องการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือไม่คงเป็นเรื่องอนาคต แต่คาดว่าจะคุ้มทุนในอีก 10 ปี ข้างหน้า” นางปิยพร กล่าว

 7 ปัจจัยโรงเรียนนานาชาติเติบโต

    สำหรับปัจจัยที่ทำให้โรงเรียนนานาชาติเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น นายสาคร สุขศรีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ อธิบายว่ามี 7 ประเด็นสำคัญคือ 1.คุณภาพหลักสูตร ต้องได้รับมาตรฐานทั้งไทยและต่างชาติ 2.มีความร่วมมือกับโรงเรียนในต่างประเทศที่ได้รับความนิยม 3.ทำเลที่ตั้งของโรงเรียน ต้องสะดวกต่อการเดินทาง เพราะอย่างที่ทราบว่ากรุงเทพฯ มีปัญหาการจราจร ดังนั้น ทำเลที่ตั้งของโรงเรียนต้องอำนวยความสะดวกการเดินทางมาเรียนของนักเรียน 

       4.ครูผู้สอน ต้องเป็นครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครู เป็นผู้ถ่ายทอดและพร้อมช่วยเหลือนักเรียนในทุกเรื่อง 5.เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการเรียนการสอน 6.สภาพแวดล้อม อุปกรณ์การเรียนการสอน และ7.จุดเด่นของการจัดการเรียนการสอนที่ต้องมีจุดเด่นเฉพาะ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้โรงเรียนนานาชาติ เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ปกครอง 

     “ที่สำคัญการเรียนโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย ยังคงสอน ปลูกฝังในเรื่องของความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย และแต่ละโรงเรียนก็จะมีสัดส่วนของนักเรียนไทยและต่างชาติ ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ความเป็นไทย และความหลากหลายวัฒนธรรม รวมถึงความร่วมมือกับโรงเรียนยอดนิยมในต่างประเทศ ทำให้เมื่อจบการศึกษาเด็กได้มาตรฐานเท่ากับเด็กที่เรียนในต่างประเทศ” ผู้อำนวยการสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ กล่าว

สช.ย้ำต้องมีเด็กไทยไม่น้อยกว่า50 %

     นายชลำ อรรถธรรม เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.) กล่าวว่าขณะนี้มีโรงเรียนนานาชาติที่ขออนุญาตจัดตั้งนั้นจำนวนมากขึ้น ซึ่งการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนอาจเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลก็ได้แต่ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ ถ้าเป็นบุคคลต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีความรู้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีและมีคุณสมบัติอื่นๆ ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 และตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ส่วนถ้าเป็นนิติบุคคล ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา มีผู้ถือหุ้นหรือกรรมการที่มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ผู้ลงนามแทนนิติบุคคลที่เป็นผู้ขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด

     เลขาธิการกช.กล่าวต่อไปว่าการเปิดรับนักเรียนนั้น โรงเรียนนานาชาติสามารถรับนักเรียนได้โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา แต่ทั้งนี้ต้องมีเด็กไทยจำนวนไม่เกิน 50 %ของจำนวนนักเรียนที่มีอยู่ทั้งหมด ขณะเดียวกัน ผู้ขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนต้องเสนอหลักสูตรให้ศธ.พิจารณาอนุมัติโดยอาจใช้หลักสูตรต่างประเทศ หลักสูตรต่างประเทศที่นำมาปรับปรุง หรือหลักสูตรที่โรงเรียนจัดทำขึ้นเอง

       รวมทั้งต้องจัดให้มีการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยให้กับนักเรียนทุกโรงเรียนในระดับชั้น กล่าวคือ นักเรียนต่างชาติกำหนดให้เรียนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยเป็นวิชาบังคับ 1 คาบต่อสัปดาห์ สำหรับนักเรียนไทยทุกคนให้เรียนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 คาบ กำหนดเวลา 1 คาบ เท่ากับ 50 นาที ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ส่วนค่าธรรมเนียมการเรียนและค่าธรรมเนียมอื่นให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของศธ. โดยต้องได้รับอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชนหรือผู้ว่าราชการจังหวัด