2 ทศวรรษทุ่งแสงตะวัน ปลุกฝันปั้นโลก ฉบับ 'นิรมล เมธีสุวกุล'

2 ทศวรรษทุ่งแสงตะวัน ปลุกฝันปั้นโลก ฉบับ 'นิรมล เมธีสุวกุล'

เปิดมุมมองผู้ผลิตรายการคุณภาพที่ยืนระยะได้ยาวนานโดยไม่ต้องอาศัยเรตติ้งสูงปรี๊ด กับการปรับตัวในยุคขาลงของทีวีไทย

“...หากหัวใจยังงาม ตราบฟ้าครามยังดี เรามี…ทุ่งแสงตะวัน ...ค่ำคืนผลิดาว เช้ามีตะวัน ตราบใดโลกมีคนหว่านฝัน ดาวสดใส เด็กสวยงาม...” (เพลงทุ่งแสงตะวัน / ศุ บุญเลี้ยง)

 ถ้าเทียบกับอายุคน ต้องถือว่ามีวุฒิภาวะเต็มที่สำหรับรายการที่ชื่อ ‘ทุ่งแสงตะวัน’ ปรากฏตัวขึ้นทางหน้าจอโทรทัศน์เมื่อปี 2534 และยังคงยืดหยัดท่ามกลางมรสุมการเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อ ด้วยฉากหลังของความเป็นธรรมชาติ กับพิธีกรเสียงเพราะ นิรมล เมธีสุวกุล (นก) ที่เป็นทั้งผู้ดำเนินรายการ และผู้ผลิตในนาม‘ป่าใหญ่ครีเอชั่น’

 

a11

 

ไม่เฉพาะกับเด็กๆ ทุ่งแสงตะวัน ‘พี่นก’ คือคนผลิตสื่อคุณภาพที่ยังรักษาบุคลิกและแนวทางในการทำรายการได้อย่างน่าชื่นชม หากถามถึงความฝันวัยเยาว์ เธอว่าอยากจะเป็นครู เป็นพยาบาล เป็นทนายความ...ตามประสา แต่เมื่อได้เห็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อสิทธิเสรีภาพ จึงเปลี่ยนมาเรียนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

หลังจบการศึกษา เริ่มต้นอาชีพสื่อสารมวลชนด้วยการเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น จากนั้นปรับเข็มทิศสู่สื่อโทรทัศน์ด้วยการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ช่อง 7, นักข่าวสารคดี ช่อง 9  การได้เห็นปัญหาต่างๆ มากมาย ทำให้เกิดความคิดที่อยากจะทำรายการเพื่อนำเสนอหลากหลายมิติ และเป็นที่มาของ ‘ทุ่งแสงตะวัน’ รายการที่มีเด็กเป็นผู้เล่าเรื่อง ออกอากาศครั้งแรก ในเดือนตุลาคม 2534 ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 (ต.ค.-ธ.ค 2534) และ ช่อง 3 (กุมภาพันธ์ 2535-ปัจจุบัน)

รายการทุ่งแสงตะวัน ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร

ย่างเข้าปีที่ 28 แปลกนะรายการนี้ เป็นรายการที่คนรู้จัก แต่คนดูมีจำนวนไม่มาก เป็น Niche Market คือคนรู้จักทุ่งแสงตะวัน ถามว่าได้ดูไหม บางคนก็ได้ดู บางคนก็ไม่ได้ดู บางคนดูตามวาระโอกาส ตอนนี้ทยอยเอาลงยูทูบ ค้นรายการเก่าที่น่าสนใจมาลง รายการเด็กเมื่อ 20 ปีที่แล้วตอนนี้เป็นอย่างไร

ตอนนี้เริ่มไปถ่ายรุ่นลูกได้แล้วนะ ตอนที่เราไปถ่าย เขาอายุ 10 ขวบ 28 ปีผ่านไป ตอนนี้เขาก็ 38 มีลูกอายุ 10 ปีบวกลบ สำหรับทุ่งแสงตะวัน เด็กอายุประมาณ 8-10 ปี กำลังดีสำหรับออกอากาศ เป็นวัยที่กำลังทำอะไรได้เองบ้าง แล้วก็ยังไม่โตจนเขินมาก

 

กลุ่มเป้าหมายของรายการทุ่งแสงตะวันที่ได้วางไว้คืออายุเท่าไร

แรกเริ่มเลย เราอยากทำรายการให้กับคนพรีทีน (Preteen) ประถมปลาย มัธยมต้น ยุคนั้นพี่นกมีความรู้สึกเป็นห่วงเด็ก พรีทีนเป็นวัยที่กำลังเสริมสร้างอัตลักษณ์ตนเอง ถ้าเราได้ทำอะไรดีๆ ให้เขาก็คงจะดี นั่นคือยุคแรกเริ่ม พอทำมาเรื่อยๆ กลุ่มเป้าหมายกลายเป็นกลุ่มครอบครัว พ่อแม่ลูก แฟนรายการอายุ 72 ก็มี คุณยายก็ดูกับหลาน

ในรายการนอกจากไปเยี่ยมบ้านเด็กๆ แล้วยังมีการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ด้วย

จริงๆ มัน Grouping ได้หลายแบบมากเลยนะ เรื่องกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก การศึกษาทางเลือก การเกษตรทางเลือกของครอบครัวในเมือง ใครจะไปรู้ มีที่เกือบไร่อยู่แถวๆ วัดพระศรีฯตรงหลักสี่ ปลูกผัก เลี้ยงแพะ จนขายผักได้ มีลูกๆ ช่วยเลี้ยงไก่ ซึ่งรายการทุ่งแสงตะวันจุดเด่นข้อแรกคือ ไปเอาเรื่องแบบนี้มาจากไหน ข้อที่สอง เด็กมันรู้เยอะ ข้อที่สาม เป็นธรรมชาติ เพลงเพราะดี เรายังคงแต่งเพลงใหม่ทุกตอน เพลงเป็นพันๆ แล้วค่ะ 

เพลงประกอบรายการทุ่งแสงตะวัน จุ้ย (ศุ บุญเลี้ยง) บอกว่าให้เรียกว่าเพลงประดับรายการ เรามีนักแต่งเพลง 3-4 กลุ่ม แล้วแต่ว่ารายการ Mood เป็นประมาณไหน เหมาะกับใคร บางมู้ดเป็น ต้อง ไทละเมอ ขำๆ สนุกเฮฮา แล้วก็มี เอก-พจนารถ พจนาพิทักษ์ ช่วยแต่งเพลงใต้ เพลงหนังตะลุง เมื่อก่อนมี อ.ศักดิ์สิริ มีสมสืบ ช่วยแต่งด้วย ช่วงหลังไม่ค่อยสะดวก

แล้วก็มีกลุ่มกะทิกะลาของพี่จุ้ย มีน้องจ๋าช่วย และน้องๆ ทีมนักดนตรีรุ่นใหม่ช่วย จุ้ยช่วยมาตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน ถ้าคิดในแง่ธุรกิจ ค่าเพลงไม่กี่สตางค์ ส่วนลิขสิทธิ์เพลงเป็นของคนแต่ง เขาแต่งเพลงให้เรา เราขอนำมาใช้ในรายการ อาจจะตัดคลิปสั้นเป็นมิวสิคพร้อมบท แต่ว่าเพลงยังคงเป็นของผู้แต่ง

งานข้อมูลเป็นงานที่หนักมากของทุ่งแสงตะวัน ก่อนถ่ายจะต้องไปดูของจริง เรียกว่าการเซอร์เวย์ ส่วนเด็กในเรื่องทำไมมันเก่งจัง ไม่เก่งได้ไง มันคือชีวิตของเขา เราไม่ได้ไปปั้นไปแต่ง ไป make ไป set เป็นปกติ เขามั่นใจ มันก็ออกมาทั้งสีหน้าแววตาลีลาท่าทาง 

ทุ่งแสงตะวัน ยุคแรกเริ่มมันแค่ว่า เสาร์อาทิตย์เด็กๆ ทำอะไรกันเหรอ หลังจากนั้นก็พัฒนาการเป็นกระบวนการ เด็กทำกิจกรรมกับสิ่งแวดล้อม กับธรรมชาติ พอระยะหลังมันเริ่มกลายเป็นว่าตรงไหนเสื่อมโทรม มีกลุ่มเด็ก กระบวนการเข้าไปฟื้นฟู ช่วยอนุรักษ์ ช่วยพัฒนา

งานมันไม่นิ่งเลย พื้นที่หนึ่งซึ่งเคยไปถ่ายทำ กลับไปดูอีกครั้งหนึ่งว่ามันเสื่อมลงหรือดีขึ้น ส่วนมากจะดีขึ้น เช่น เราเคยไปทำเรื่องการปลูกป่า 20 ปีผ่านไป โอ้ย กลายเป็นป่าแล้ว มีอยู่หมู่บ้านหนึ่ง คุณแม่ของเด็กบอกว่า นกต้องไปนะ เพราะว่าตอนนี้ต้นไม้ที่ปลูกไว้กับขนาดตัวของเด็กเท่ากันแล้ว

a2

 

กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป มีผลกระทบกับรายการไหม

รายการทุ่งแสงตะวันโชคดี เราเกิดตอนช่วงก่อนมีการแข่งขันสูง เกิดในช่วงที่ทีวียังมีช่องทางให้เลือกไม่มาก พอเราออกอากาศปุ๊บแล้วคนรู้จัก พอคนเริ่มติดหรือเข้าใจ ในแง่ของสปอนเซอร์ เพื่อน สื่อ เด็ก คุณครู โรงเรียน แหล่งข่าว เขารู้จักหมด พอมาถึงในสถานการณ์เช่นนี้ซึ่งเต็มไปด้วยการแข่งขัน มีช่องทางต่างๆ มากมาย ในแง่ของสปอนเซอร์ค่อนข้างอยู่ตัว ไม่ถึงกับเหนื่อยมาก ในขณะเดียวกันแหล่งข่าวก็วางใจ เด็กๆ ก็เข้าใจว่าเราจะไปทำอะไร ก็รู้สึกดี มันทำให้เราแอ็คทีฟ ต้องปรับตัวตามสื่อใหม่ เราต้องทำเพจ ทำคลิปย่อยๆ เพื่อปฏิสัมพันธ์ มีเด็กน้องๆ วัยรุ่นช่วยสื่อสารอะไรได้น่ารัก แต่ยังหาพิธีกรแทนไม่ได้นะ ยังเป็นป้านกคนเดิม พัฒนาจากพี่นกเป็นน้านกเป็นป้านก เรียกรวมๆ ว่า พี่ป้าน้านกค่ะ ยังออกอากาศอยู่ทุกวันเสาร์ ตอน 6.20 น. ที่ช่อง 3 ตอนเช้าตรู่ รายการครึ่งชั่วโมง

อะไรทำให้รายการทุ่งแสงตะวันอยู่ได้ยาวนานจนถึงปัจจุบัน

พี่ว่า Content แล้วก็ความ Real ไม่ถึงกับ Real 100 เปอร์เซ็นต์ มี Setting บ้างแต่ก็น้อยมาก set บนพื้นฐานชีวิตจริงของเขา เดี๋ยวนี้อาจจะมีหันมายิ้มให้กล้องบ้าง ส่งของเข้ามาใกล้กล้องบ้าง ทุ่งแสงตะวันอายุเยอะนะ แต่ว่าเราปรับตัว มีการพัฒนาตามวันเวลา อันที่หนึ่ง เติมคนเลือดใหม่ๆ เติมมุมมองคนรุ่นใหม่เข้ามา อันที่สอง การเล่าเรื่องเปลี่ยน เมื่อก่อนจะลงเสียงช้า มีใช้ช็อตยาว One Shot ดูกันไปจนลับสายตา ตอนนี้เปลี่ยนให้กระฉับกระเฉงขึ้น กระชับ แต่ไม่ถึงขั้นเยอะจนเวียนหัว เพราะว่ากลุ่มทาร์เก็ตเราเป็นครอบครัว ภาษาภาพเปลี่ยน อุปกรณ์ก็เปลี่ยน ใช้โดรนเล่าเรื่อง ใช้เครนเล่าเรื่อง ใช้กล้องเล็กกล้องใหญ่ ยัดกล้องเข้าไปในรังนก ทำทุกสิ่งอย่าง มีสปอนเซอร์เจ้าประจำ ที่เห็นความสำคัญว่าจะต้องมีรายการเด็กอย่างนี้ เราก็เลยยังอยู่ 

สิ่งสำคัญที่สุดของรายการทุ่งแสงตะวันก็คือ Content ไม่สะเปะสะปะ ไม่รับโฆษณาอะไรวุ่นวายจนคนรำคาญ สมัยนี้สื่อมีเยอะแล้วก็หลากหลาย ไม่รู้อะไรจริงอะไรเท็จ อะไรเมคอะไรไม่เมค จนยุ่งไปหมด อย่างน้อยทุ่งแสงตะวันคนดูจะรู้ว่า นี่คือความจริง ได้รู้ว่าเด็กๆ เขายังทำอะไรอยู่ ใช้คำว่า...ยังทำอะไรอยู่ เพราะว่าเราก็คัดสรร

จากการได้สัมผัสเด็กยุคนี้กับเด็กยุคก่อนต่างกันอย่างไรบ้าง

เด็กเก่งขึ้น เล่าเรื่องเก่งขึ้น ประมวลความคิดแล้วก็นำเสนอได้เก่งกว่าเมื่อก่อน กล้าแสดงออกมากขึ้น โตกว่าสมัยก่อนเยอะ เมื่อก่อนเด็ก 8 ขวบเราต้องมีลุ้นตอนถ่ายทำ แต่เดี๋ยวนี้สบายมาก เด็กโตเร็วขึ้น กลายเป็นว่าเด็กอายุ 11-12 โตเกินออกทีวีทุ่งแสงตะวันแล้ว เพราะเขาเป็นผู้ใหญ่ กลุ่มที่เราจะถ่ายทำรายการก็เล็กลง

ถ้ามีคนอยากทำรายการเด็กมาขอคำแนะนำจะตอบว่าอย่างไร

หลักการคร่าวๆ ของการทำรายการเด็กคือ สนุก ตลก ขำ คำว่า ตลก ขำ ไม่ได้หมายความว่าเอาเด็กมาเป็นตัวตลกนะ แต่หมายถึงดูแล้วมันก็สนุกๆ ไป เฮฮา ขำๆ แต่ไม่ใช่การไปทำให้เด็กกลายเป็นตัวตลก ถ้าทำแบบนั้นมันจะมีผลกระทบกับตัวเด็ก คนทำรายการเด็กบ้านเรามีไม่กี่เจ้า มีน้องซุป ซุปเปอร์จิ๋ว มีสโมสรผึ้งน้อย มีเจ้าขุนทอง อาจจะมีบางท่านแวบๆ มาแล้วก็ไป มันคงต้องเป็นคนมีความบ้าได้ระดับหนึ่ง มีเจตจำนงได้ระดับหนึ่ง แล้วก็มันเหนื่อยด้วยในแง่ของการผลิต เหนื่อยในแง่ของการดูแล อย่างของเรา ถ่ายๆ อยู่ ฝนตกก็หยุด เพราะเราถ่ายที่โล่งไม่ได้ถ่ายในสตูดิโอ

อยากฝากอะไรให้ถึงคนในสังคม

โลกของเรา มีเด็กเกิดใหม่ทุกวัน แม้จะเกิดน้อยลงก็ตาม เด็กๆ เกิดมาพร้อมกับความต้องการที่จะเรียนรู้ พร้อมจะซึมซับทุกสิ่งอย่าง ทั้งทางดีและทางไม่ดี ผู้ใหญ่มีหน้าที่ทำให้เด็กเติบโตให้มีคุณภาพ ใครทำอะไรด้านไหนก็ควรจะมีส่วนรับผิดชอบโลกอนาคต เราทำงานทางด้านสื่อก็รับผิดชอบส่วนที่เป็นการผลิตสื่อ

ถ้าเป็นคนดูแลเรื่องน้ำก็ดูแลน้ำให้ดีๆ ให้รุ่นลูกรุ่นหลานเรา ใครดูแลเรื่องอากาศ ก็ดูแลอากาศดีๆ ให้ลูกหลานเรา ทำอะไรออกมาแย่ๆ เด็กกิน เด็กเสพ เด็กใช้เข้าไปในตัว 10 ปีข้างหน้าก็ส่งผลแล้วล่ะ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลเด็กๆ หรืออนาคตของเราได้ ในรูปแบบต่างๆ ตามภารกิจของเรา ถ้าอยากติดตามรายการทุ่งแสงตะวัน ก็เปิดเพจทุ่งแสงตะวัน ในนั้นจะมีทุกอย่าง

 

5

 

ตอนนี้นอกจากทุ่งแสงตะวันทำอะไรอยู่บ้าง

ในนามบริษัทป่าใหญ่ยังมีอีกหลายรายการ เช่น รายการคนเก่งหัวใจแกร่ง คุณยุพา เพชรฤทธิ์เป็นผู้ดูแล ส่วนรายการหอมแผ่นดิน, แผ่นดินทระนง, ไปตามฝัน คุณสุริยน จองลีพันธ์ ดูแล แล้วก็มีรายการส่ง Go Inter บ้าง ไม่กี่รายการ จริงๆ อยากเขียนหนังสือมากกว่า ว่างเว้นงานเขียนมาตั้ง 10 กว่าปีแล้ว และเร็วๆ นี้จะมีสารคดีชุด ‘เธอเขาเราใคร’ ออกอากาศวันที่ 21 กันยายน ทุกวันเสาร์-อาทิตย์  5 ตอนจบ 

เป็นสารคดีที่บอกว่าทุกชีวิตมีค่า เราไม่ควรละเลยใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ว่ามีแง่งามแง่ดี หรือแง่คิดอะไรบ้าง หรือเขากำลังเผชิญกับปัญหาอะไร เขาถูกกระทำ ถูกแย่งชิงทรัพยากร เช่น เขาอยากทำไร่หมุนเวียน แล้วไปด่าว่าไร่เลื่อนลอย หรือชาวเลเขาจับปลาอย่างอิสระในท้องทะเลมาชั่วชีวิต วันหนึ่งถูกขีดเส้นว่าตรงนี้เป็นเขตอนุรักษ์ ชาวเลไปหากินไม่ได้อีกต่อไป 

หรือชาวเลเคยอยู่อาศัยอยู่ตรงนี้ พอถึงฤดูหน้ามรสุมมาเขาก็หลบไป แต่คนนึกว่าตรงนี้ไม่มีใครอยู่สร้างอะไรไม่รู้ ชาวเลกลับมา อ้าว ซึ่งหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศของเรามีจิตอิสระ คิดว่าทุกอย่างเป็นของส่วนรวม กลับกลายเป็นคนไม่มีทรัพย์สมบัติใดๆ เพราะเขาไม่ได้ยึดติด คนหัวใจกว้างขวางกลายเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอก ไม่มีสิทธิทำมาหากินในพื้นที่ที่เคยทำ 

อยากให้เห็นความงามและโลกทัศน์ของผู้คน กลั่นออกมาเป็นรายการ 5 ตอน มันสร้างแรงบันดาลใจให้เราด้วย ที่คิดว่าจะเกษียณตอน 50 คงจะไม่ได้เกษียณ ตอนนี้ก็ 58 แล้ว