ปิดฉาก"โทมัส คุก"บ.ท่องเที่ยว178ปีอังกฤษ

ปิดฉาก"โทมัส คุก"บ.ท่องเที่ยว178ปีอังกฤษ

ปัจจุบัน โทมัส คุก แบกรับหนี้สินประมาณ 1,700 ล้านปอนด์ และต้องเผชิญการแข่งขันจากธุรกิจออนไลน์ ตลาดท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้ยอดจองทัวร์ในช่วงฤดูร้อนลดลงฮวบฮาบ

โทมัส คุก ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกสัญชาติอังกฤษ ซึ่งอยู่ในภาวะซวนเซมานาน หลังล้มเหลวในการปรับตัวให้เข้ากับยุคทำธุรกิจ4.0 ที่บริษัททุกแห่งต้องมีความคล่องแคล่วว่องไวในการใช้เทคโนโลยีให้เป็น เพื่อช่วยกระตุ้นรายได้ ประกาศล้มละลายอย่างเป็นทางการ ส่งผลกระทบต่อบรรดานักท่องเที่ยวชาวอังกฤษจำนวนมากถึง 150,000 คนที่อยู่ต่างประเทศ

โทมัส คุก ไม่สามารถระดมทุนจากเอกชนเข้ามาต่อยอดธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งบริษัทโทษว่าเป็นเพราะความไม่แน่นอนจากภาวะเบร็กซิทตลอดจนปัญหาใหญ่ด้านต่างๆที่ทำให้บริษัทตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ โดยบริษัทจำเป็นต้องระดมเงินสดให้ได้ 200 ล้านปอนด์ หรือ 250 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเติมจากเงินที่ได้จากการทำข้อตกลงฟื้นฟูกิจการจำนวน 900 ล้านปอนด์เมื่อเดือนที่แล้วจากหุ้นส่วนรายใหญ่สุดคือบริษัทโฟซุน บริษัทสัญชาติจีน เมื่อไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านการเงิน บริษัทก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากขออำนาจศาลพิทักษ์ทรัพย์สินภายใต้กฏหมายล้มละลายและให้รัฐบาลช่วยส่งลูกค้าที่ปัจจุบันกระจายอยู่ในประเทศต่างๆกลับประเทศ ซึ่งถือเป็นการนำนักท่องเที่ยวกลับประเทศจำนวนมากที่สุด นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่2

“แม้จะพยายามอย่างถึงที่สุดแล้ว แต่การเจรจาไม่อาจนำไปสู่ข้อตกลงระหว่างผู้ถือหุ้นกับผู้ปล่อยกู้รายใหม่ๆ คณะผู้บริหารจึงสรุปว่า ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย โดยให้มีผลในทันที"ปีเตอร์ แฟงค์ฮาวเซอร์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)โทมัส คุก กล่าว พร้อมทั้งยอมรับว่ารู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่บริษัทต้องปิดตัวลง เนื่องจากไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากผู้ปล่อยกู้

พร้อมกันนี้ ซีอีโอโทมัส คุก กล่าวขออภัยลูกค้าหลายล้านคน รวมถึงพนักงานหลายพันคน ซัพพลายเออร์ และหุ้นส่วนที่ให้การสนับสนุนบริษัทตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยตัวเขาและเจ้าหน้าที่บริหารทุกคนรู้สึกเสียใจที่บริษัทไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจา

ระหว่างที่โทมัส คุกหารือกับกลุ่มเจ้าหนี้นัน สมาคมพนักงานด้านคมนาคมของอังกฤษ (ทีเอสเอสเอ) ซึ่งเป็นตัวแทนพนักงานบริษัทโทมัส คุก เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษยื่นมือเข้ามาช่วยอุ้มบริษัท

“รัฐบาลจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาแทรกแซง เพื่อช่วยเหลือบริษัทนี้ ไม่ให้บริษัทนี้ต้องประสบภาวะล้มละลาย เพราะจะส่งผลกระทบถึงพนักงานหลายพันคน”มานูเอล คอร์เทส เลขาธิการสมาคมพนักงานด้านคมนาคมขนสงของอังกฤษ กล่าว

เมื่อ 2 ปีก่อน การล้มละลายของสายการบินโมนาช แอร์ไลน์ ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อนำผู้โดยสาร110,000 คนที่ตกค้างตามสนามบินต่างๆกลับประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินภาษีประชาชนมาจ้างเครื่องบินโดยสารนำคนกลับเป็นเงิน 60 ล้านปอนด์

โทมัส คุก เป็นบริษัทให้บริการด้านการท่องเที่ยวของอังกฤษที่เก่าแก่มีอายุ 178 ปี ว่าจ้างพนักงานทั่วโลกประมาณ 22,000 คน รวมถึงพนักงานในอังกฤษที่มีประมาณ 9,000 คน ซึ่งวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นกับบริษัทในขณะนี้ ทำให้พนักงานหลายพันคนของบริษัทต้องตกงาน

เมื่อเดือนที่แล้ว โฟซุน บริษัทสัญชาติจีน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดในโทมัส คุก ตัดสินใจอัดฉีดเงิน 450 ล้านปอนด์ให้แก่ธุรกิจแลกกับการที่บริษัท ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้เข้าถือหุ้น 75% ในหน่วยงานที่ดำเนินธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของโทมัส คุก และถือหุ้น25% ในหน่วยงานด้านสายการบินในเครือบริษัท

โทมัส คุก เปิดใจหลังประกาศล้มละลายว่า บริษัทประสบภาวะขาดทุนในช่วงครึ่งแรกของปีเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่แน่นอนของสถานการณ์เบร็กซิทในอังกฤษ ทำให้การจองตั๋วด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในช่วงวันหยุดฤดูร้อนเลื่อนออกไป นอกจากนี้ บริษัท ซึ่งมีร้านค้าทั่วเกาะอังกฤษประมาณ 600 แห่ง ยังถูกกดดันอย่างหนักจากการแข่งขันทางเครือข่ายออนไลน์ที่แข่งกันดุเดือดด้วย

ภาวะวิกฤติที่โทมัส คุกเผชิญ ส่งผลกระทบต่อบรรดาลูกค้าของบริษัทที่เดินทางไปเที่ยวในตูนิเซีย โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ถูกล็อกตัวไว้เหมือนเป็นตัวประกันที่โรงแรม เนื่องจากโรงแรมเหล่านั้นกลัวว่าโทมัส คุกจะล้มละลายและไม่มีเงินจ่ายค่าที่พัก

แคลร์ ซิมป์สัน ซึ่งเตรียมเดินทางออกจากโรงแรมในตูนิเซียเพื่อไปยังแมนเชสเตอร์ บ้านเกิด เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์เดอะซันว่า โรงแรมเลส ออร์แรงเกอร์สล็อกประตูออกของโรงแรมทั้งหมดและให้นักท่องเที่ยวอยู่แต่ในโรงแรมเหมือนเป็นตัวประกัน

“มีรถบัส3คันวิ่งมาที่โรงแรมเพื่อนำนักท่องเที่ยวไปยังสนามบินและเจ้าหน้าที่ของโรงแรมสั่งให้กลับไปโดยโรงแรมอ้างว่าบริษัทโทมัส คุกยังไม่ได้จ่ายเงินค่าที่พักและอาหารทั้งหมดของนักท่องเที่ยว โรงแรมจึงเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในส่วนนี้กับพวกเรา” ซิมป์สัน กล่าว พร้อมทั้งบอกว่า โรงแรมได้สั่งให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำการตามจุดต่างๆทั่วชายหาดด้านหน้าโรงแรมเพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวหนี

การล้มละลายของบริษัทนำเที่ยวยักษ์ใหญ่รายนี้ คาดว่าจะสร้างความสับสนอลหม่านไปทั่วโลก เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวติดค้างอยู่ตามโรงแรม ซึ่งยังไม่ได้รับการชำระเงินในหลายประเทศ ตั้งแต่รัฐกัว ประเทศอินเดียไปจนถึงแกมเบีย กรีซ และอื่นๆ

ส่วนในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญ เช่น สเปน และตุรกี รวมถึงซัพพลายเออร์น้ำมัน และบริษัททัวร์รายอื่นๆ ของอังกฤษ

องค์กรการบินพลเรือนของอังกฤษ (ซีเอเอ) ระบุว่า การปิดตัวอย่างกะทันหันของโทมัส คุก ส่งผลให้เที่ยวบินทั้งหมดถูกยกเลิกตามไปด้วย ซึ่งซีเอเอและรัฐบาลลอนดอนเตรียมส่งเครื่องบินเช่าเหมาลำเพื่อพานักท่องเที่ยวชาวอังกฤษกว่า 150,000 คนกลับบ้านให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้

โทมัส คุก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2384 ด้วยการเริ่มต้นให้บริการรถไฟภายในประเทศ และฝ่ามรสุมจากสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง จนกลายมาเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจนำเที่ยวรายแรกของยุโรป ปัจจุบัน โทมัส คุกเป็นเจ้าของโรงแรม รีสอร์ต และสายการบินซึ่งให้บริการลูกค้าปีละ 19 ล้านคนใน 16 ประเทศ