'สุวิทย์'ย้ำ 3 เป้าหมายหลักของไทยแลนด์ 4.0

'สุวิทย์'ย้ำ 3 เป้าหมายหลักของไทยแลนด์ 4.0

รมว.การอุดมศึกษาฯ ปาฐกถาพิเศษย้ำหลักแนวคิดและเป้าหมายของไทยแลนด์ 4.0 ที่กำหนดไว้ 3 เรื่องหลัก Smart Citizen เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยคุณค่าและ BCG Model

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การขับเคลื่อนการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค” ในงานสัมมนาการขับเคลื่อนการบูรณาการความร่วมมือภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค (ระดับนโยบาย)

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า “การขับเคลื่อนการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค” จะต้องอาศัยหลักแนวคิด Thailand 4.0 คือ การมองในเชิงบูรณาการ มองในองค์รวม ซึ่งจะต้องอยู่ในบริบทของประเทศ ภูมิภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด ไปจนถึงชุมชน 4 ด้าน ประกอบด้วยสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ/ สร้างสังคมที่มีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข/ สร้างการรักโลก รักธรรมชาติ รักสิ่งแวดล้อม และสร้างพลังของการเติบโต นั่นคือ ปัญญามนุษย์

แนวคิดของ Thailand 4.0 แท้จริงแล้ว เป็นการน้อมนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ คือ

1. สร้างความเข้มแข็งจากภายใน แต่เชื่อมไทยไปสู่ประชาคมโลก ต้องใช้พลังจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาชน ประชาสังคม ในการผนึกกำลังกันสร้างความเข้มแข็งจากภายใน

2. ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน แต่ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจไทยจะไปข้างหน้าได้ คงไม่ใช่เศรษฐกิจที่มาจากเพียงแค่ส่วนกลาง แต่ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ทุกภาค ทุกจังหวัด และ ทุกกลุ่มจังหวัด

3. การน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

โดยเป้าหมายของ Thailand 4.0 คือ

1. การสร้าง Smart Citizen ต้องสร้างคนให้เป็นทั้งคนเก่ง คนดี คนที่มีความสุข ต้องมีจิตอาสา มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ซึ่งต้องสร้างตั้งแต่ระดับชุมชน จังหวัด ภาค จนถึงระดับประเทศ ส่วนในเชิงเศรษฐกิจ คือ การเปลี่ยนเกษตรกรแบบดั้งเดิม ไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Smart Farmer/ สร้างเด็กสายอาชีวะ ให้เป็น Maker/ เปลี่ยน SME ที่อยู่ในชุมชน จังหวัด ให้เป็น SME ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม คือ IME/ เปลี่ยนการท่องเที่ยว ภาคบริการในจังหวัด กลุ่มจังหวัด ทำให้เม็ดเงินตกอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ให้มากขึ้น

2. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยคุณค่า (value base eoconomy) โดยใช้คนที่มีทักษะสูง ใช้ปัญญา เทคโนโลยี และการบริหารจัดการสมัยใหม่

3. ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนตัวเองไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม BCG Model เป็นกลไกของการขับเคลื่อนประเทศไทย จุดแข็งของไทย คือ การมีความหลากหลายทางชีวภาพ และ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งแต่ละภูมิภาค แต่ละกลุ่มจังหวัดมีความหลากหลายที่ต่างกัน ตรงนี้ถือเป็นพลังสำคัญของการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ BCG เป็นเรื่องที่ครอบคลุมในทุกภาคส่วน ทั้งเรื่องของอาหาร-เกษตร/ สุขภาพ-การแพทย์/ พลังงาน-วัสดุศาสตร์/ การท่องเที่ยว-ภาคบริการ-เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์