'เครือข่ายวิจัย' หัวใจขับเคลื่อนไทยสู่ เมดิคัลฮับ

'เครือข่ายวิจัย' หัวใจขับเคลื่อนไทยสู่ เมดิคัลฮับ

‘ศิรศักดิ์’ ผู้บริหารจากศูนย์ทีเซลส์ แนะแนวทางดูแลคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอายุยืนยาวอย่างมีความสุข ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบนิเวศสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์

สัมมนาหัวข้อ ‘การวิจัย และ การสร้างนวัตกรรมกับอุตสาหกรรมสุขภาพในอนาคต’ ภายในงาน Thailand Tech Show 2019 โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือทีเซลส์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสุขภาพในยุคที่เทคโนโลยี และนวัตกรรมเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เราจะทำอย่างไรเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคนดีขึ้น ทำอย่างไรให้มีความสุขและสุขภาพดีในขณะที่มนุษย์มีชีวิตยืนยาวขึ้น


แนวทางการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ การแพทย์และสุขภาพ แบบฟังก์ชั่นเบสนั้น ควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อีโคซิสเต็ม สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา สร้างเครือข่ายวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นฮับในด้านการแพทย์


“ในเรื่องของห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จะผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมภายใต้ประเทศไทย 4.0 โดยมีนโยบายในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เศรษฐกิจชีวภาพ และนโยบายการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ได้แก่ การค้นค้นและพัฒนา การวิจัยในสัตว์ทดลอง การวิจัยทางคลินิก การขึ้นทะเบียน กระบวนการผลิต และการเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ”

นอกจากนี้ในเรื่องของธุรกิจเฮลท์แคร์ในประเทศไทยที่นับวันมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยหนุนที่ทำให้กลุ่มธุรกิจนี้คึกคักมาจากภาครัฐ และเอกชน ที่พยายามผลักดันให้ไทยเป็นหนึ่งใน ‘ศูนย์กลางการแพทย์แห่งเอเชีย’ โดยหนึ่งในพื้นที่ของอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ คือ “ธุรกิจโรงพยาบาล” ที่ปัจจุบันกลุ่มทุนเชนโรงพยาบาลเอกชน เดินหน้าขยายธุรกิจ ทั้งเปิดแห่งใหม่ ซื้อกิจการ รวมถึงการใช้โมเดลเข้าถือหุ้นในโรงพยาบาลขนาดกลาง และเล็กมากมาย เพื่อรองรับดีมานด์ ทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศที่สูงขึ้น โดยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 4.4 ของจีดีพี ถือเป็นกลุ่มที่เติบโตเร็วที่สุดในส่วนของการดูแลสุขภาพ


ความสำเร็จเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการจับมือกับพันธมิตรเครือข่ายวิจัยและพัฒนา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ สวทช. มหาวิทยาลัยมหิดล หรือแม้กระทั่งสมาคมผู้ผลิตยาญี่ปุ่น (Japan Pharmaceutical Manufacturers Association) และอื่นๆอีกมากมาย ที่มีการแลกเปลี่ยนนักวิจัย การค้นหาตัวยาใหม่จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งการวิจัยเวชภัณฑ์ใหม่ด้วยเซลล์ เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกสู่ตลาดต่างประเทศ และยกระดับตำรับยา ผลิตภัณฑ์ของไทยให้เป็นที่รู้จักในสากลมากยิ่งขึ้น