'เนทติเซนท์' คาด 5ปี ยุคทองอีอาร์พี

'เนทติเซนท์' คาด 5ปี ยุคทองอีอาร์พี

“เนทติเซนท์” ชี้ใน 5ปี ธุรกิจวางระบบซอฟต์แวร์คึกคัก หลังพบองค์กรธุรกิจกว่า 1,000 รายยังใช้ซอฟต์แวร์อีอาร์พีเวอร์ชั่นเดิม ล่าสุดเข็นผลิตภัณฑ์ใหม่เจาะลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ ชูจุดเด่นประสิทธิภาพสูง ใช้งานง่าย ตอบโจทย์การใช้งาน-ลงทุนไอทีทุกรูปแบบ

นายกฤษดา สาธุกิจชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนทติเซนท์ จำกัด (Netizen) ที่ปรึกษาการวางระบบซอฟต์แวร์การบริหารจัดการทางธุรกิจ(อีอาร์พี) กล่าวว่า จากการสำรวจของเนทติเซนท์พบว่า ปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่มากกว่า 1,000 บริษัท ยังคงใช้ซอฟต์แวร์อีอาร์พีเวอร์ชั่นเก่า ซึ่งกำลังจะถูกลดการสนับสนุนภายในปี 2568 ดังนั้นส่งผลทำให้องค์กรเหล่านี้จะต้องอัพเกรดซอฟต์แวร์เป็นเวอร์ชั่นใหม่ และภายในระยะเวลา 5 ปี จากนี้ตลาดเอสเอพีอีอาร์พีจะคึกคักเป็นอย่างมาก

“องค์กรขนาดใหญ่จะเร่งทำการอัพเกรดซอฟต์แวร์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขัน พร้อมก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล (Intelligent Enterprise)”

เขากล่าวว่า เป็นโอกาสของบริษัทที่จะเติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ล่าสุดพัฒนาซอฟต์แวร์อีอาร์พีเวอร์ชั่นเนทติเซนท์ “Netizen S/4HANA Peony” หรือ “Netizen Peony” สำหรับเจาะตลาดฐานลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่

โดยมาพร้อมประสิทธิภาพที่สูง ใช้งานง่าย เปิดทางเลือกการลงทุนใช้งานที่หลากหลาย ทั้งแบบลงทุนติดตั้งระบบเองภายใน(On Premise) และบนคลาวด์(On Cloud) ซึ่งถือเป็นการปรับโฉมการใช้งานให้เข้ากับรูปแบบกระบวนการทำงานของธุรกิจในไทยตั้งแต่ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่

นอกจากนี้ มีจุดเด่นด้านการเปลี่ยนถ่ายข้อมูลจากระบบเดิมไปสู่ระบบใหม่ได้ง่าย ด้วยแพลตฟอร์มที่มีระบบความปลอดภัยมาตราฐานสากล(Database In-Memory Technology) สามารถทำงานได้แบบเรียลไทม์(Real Time Predictive Analytics) องค์กรที่ใช้งานซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะสามารถเปลี่ยนถ่ายองค์กรไปสู่อินทิลิเจนท์เอ็นเตอร์ไพรซ์ ได้อย่างลื่นไหล

ขณะเดียวดัน เชื่อมโยงการทำงานผ่านโมบิลิตี้ สามารถใช้งานผ่านมือถือและอุปกรณ์โมบายได้อย่างสะดวก เร็ว ประโยชน์ที่ได้ไม่เพียงแต่จะลดต้นทุนการบริหารจัดการโดยรวมขององค์กรในระยะยาวและวัดผลการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทางหนึ่งช่วยพัฒนาในแง่ของผลการปฏิบัติงาน ควบคุมการทำงานภายในระบบเดียวกัน ทำให้ธุรกิจมองเห็นโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ลดความเสี่ยง พร้อมช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

เขาระบุว่า การนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้กับทุกองค์ประกอบของธุรกิจจะทำให้สามารถปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ เชื่อมโยงทุกหน่วยงานให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกกระบวนการทำงาน ช่วยให้ทำงานได้เร็ว ถูกต้อง และมีความแม่นยำมากขึ้น

พร้อมกันนี้ ลดข้อผิดพลาดในการทำงาน รวมถึงมีการควบคุมคุณภาพของสินค้าและกระบวนการผลิตให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีศักยภาพสูงสุด ทำให้ธุรกิจสามารถขยายฐานการผลิตไปยังภูมิภาคอื่นทั่วโลก พร้อมรองรับการลงทุนเครื่องจักรใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมากขึ้น