ทส. เร่งผลักดันกฎหมายรับมือโลกร้อน หลังเจอวิกฤติอากาศแปรปรวนรุนแรง

ทส. เร่งผลักดันกฎหมายรับมือโลกร้อน หลังเจอวิกฤติอากาศแปรปรวนรุนแรง

ย้ำ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหา "ก๊าซเรือนกระจก"

นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐมนตรี ทส. นายวราวุธ ศิลปอาชา ที่ให้สร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาโลกร้อน ทางกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เร่งผลักดันด้านกฎหมายเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาโลกร้อน เช่น การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด หรือการลดผลกระทบฝุ่นผลกระทบขนาดเล็ก PM2.5 ตัวการสำคัญของปัญหาก๊าซเรือนกระจก นอกเหนือไปจากการรณรงค์ลดก๊าซเรือนกระจก

นายธเนศพลกล่าวว่า "ก๊าซเรือนกระจก" ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้น ส่งผลต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติ และเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น พายุ น้ำท่วม และภัยแล้งฉับพลันและรุนแรง โดยจะเห็นได้จาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ที่ในช่วง 1-2 เดือนก่อนที่เผชิญปัญหาภัยแล้ง แต่เพียงเดือนเศษกลับประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเตรียมศึกษาข้อกฎหมายจากประสบการณ์ในต่างประเทศ ประกอบการพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพประเทศไทย เพราะ "กฎหมายลดก๊าซเรือนกระจก" จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะบังคับใช้เพื่อให้การดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศมีความเข้มข้นมากขึ้น,” นายธเนศพลกล่าว


นายธเนศพลกล่าวอีกว่า แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ การสร้างความตระหนักในสังคม และในระดับนโยบาย ควรมีการทำงานที่เชื่อมโยงกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ที่ต้องดำเนินยุทธศาสตร์ด้านการลดโลกร้อนอย่างจริงจัง ตลอดจนภาคประชาชนที่ต้องร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่พิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนายธเนศพลเชื่อว่า หากภาคส่วนต่างๆ ร่วมใจกัน ก็จะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจก และขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการแก้ไขและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั้นตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีฯ จึงต้องเร่งสร้างกระแสให้เกิดการตื่นตัวในการร่วมมือกันในการลดก๊าซเรือนกระจกให้เหมือนกับการลดปัญหา "ขยะพลาสติก" ที่ส่งผลร้ายต่อสัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาชน ให้ร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกรูปแบบทั้งในรูปแบบทั้ง "กึ่งบังคับ" และ "สมัครใจ", นายธเนศพลกล่าว


นายธเนศพลกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการโดยเฉพาะความร่วมมือกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีอันทันสมัยมาร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งด้านการใช้วัสดุหรือพลังงานสะอาด เพื่อนำไปสู่การเป็นสังคม Low Carbon ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องดำเนินการ เพราะได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change) หรือ อนุสัญญา UNFCCC

ปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมกว่า 196 ประเทศทั่วโลกร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะภาวะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นย่อมเกิดอันตรายต่อระบบนิเวศและความเป็นอยู่ของประชาชน ตัวอย่างเช่น ธารน้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลายทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น หรือ อุ่นขึ้น ส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนแปลงไปอาจทำให้สัตว์หรือปะการังทะเลได้รับอันตรายและเสียหาย รวมถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้นยังส่งผลร้ายต่อความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์ หรือ พืชสายพันธุ์ต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ภาพ/ ทส. ระดมเจ้าหน้าที่ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อุบลฯ อย่างต่อเนื่อง/ อส.