ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 23 - 27 ก.ย. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 16 - 20 ก.ย. 62

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 23 - 27 ก.ย. 62 และสรุปสถานการณ์ฯ 16 - 20 ก.ย. 62

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ตามมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่เข้มข้นขี้น

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 56 – 61 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 62 - 67 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (2327 กย. 62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากคาดว่าตลาดน้ำมันดิบจะได้รับแรงหนุนจากมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงขึ้นจากสหรัฐฯ ประกอบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางประเทศต่างๆ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีทิศทางดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดัน หลังคาดว่าซาอุดิอาระเบียจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้อยู่ในระดับเดิมก่อนถูกโจมตีได้ภายในปลายเดือน ก.ย. 62 นี้ นอกจากนี้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากคาดว่าสหรัฐฯ จะสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้น้อยลง หลังได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน Imeda

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่เข้มข้นขึ้น หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่รุนแรงขึ้น เพื่อเป็นบทลงโทษที่อิหร่านโจมตีโรงแปรรูปน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย หลังกระทรวงกลาโหมซาอุดิอาระเบียเผยหลักฐานว่าอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้
  • ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากตลาดเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังธนาคารกลางของประเทศต่างๆ มีแนวโน้มที่จะออกนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.1 นอกจากนี้ ธนาคารจีนประกาศแผนปฏิรูปดอกเบี้ยเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมสำหรับภาคธุรกิจ
  • การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ จีนที่ส่งสัญญาณดี คาดหนุนตลาดน้ำมันดิบ หลังสหรัฐฯ เลื่อนการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวม 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออกไปจากวันที่ 1 ต.ค. 62 เป็นวันที่ 15 ต.ค. 62 ด้านจีนยกเว้นการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 16 ประเภท เป็นเวลา 1 ปี มีผลบังคับใช้วันที่ 17 ก.ย. 62 โดยผู้นำระดับสูงของทั้งสองประเทศจะมีการเจรจากันอีกครั้งในต้นเดือน ต.ค. 62 ที่กรุงวอชินตัน ประเทศสหรัฐฯ
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับเพิ่ม หลังพายุ Imelda เคลื่อนเข้าสู่บริเวณอ่าวเม็กซิโก ทำให้ท่อและจุดส่งออกน้ำมันดิบบางส่วนในรัฐเท็กซัสได้รับความเสียหายและถูกปิดดำเนินการ ส่งผลให้คาดว่าปริมาณน้ำมันดิบส่งออกจากสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลง นอกจากนี้ กำลังการกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ คาดปรับตัวลดลงเช่นกัน เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันบางส่วนลดกำลังการผลิตลง หลังได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมนี้
  • กำลังการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากคาดว่าซาอุดิอาระเบียจะพยายามกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันดิบโดยเร็ว หลังต้องลดกำลังการผลิตน้ำมันลงราว 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์โจมตีโรงแปรรูปน้ำมันในเมือง Abqaiq และ Khurais โดยซาอุดิอาระเบียระบุว่า จะยังคงสามารถส่งออกน้ำมันดิบให้ประเทศคู่ค้าได้ตามที่ตกลงไว้ จากการใช้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของซาอุดิอาระเบียทั้งในและนอกประเทศ
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน, จีดีพี Q2/62 สหรัฐฯ, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ, รายได้ส่วนบุคคลสหรัฐฯ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 – 20 ก.ย. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่ม 3.24 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 58.09 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่ม 4.06 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 64.28 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 64 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อภาวะน้ำมันดิบตึงตัว หลังโรงงานแปรรูปน้ำมันสองแห่งในซาอุดิอาระเบียถูกโจมดีด้วยโดรน ส่งผลให้ซาอุดิอาระเบียต้องหยุดการผลิตน้ำมันไปราว 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือร้อยละ 5 ของปริมาณน้ำมันโลก อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้แรงกดดัน หลังซาอุดิอาระเบียออกมาประกาศว่าจะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันดิบให้เท่ากับก่อนถูกโจมตีได้ภายในปลายเดือน ก.ย. 62 ประกอบกับสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ ณ วันที่ 13 ก.ย. 62 ปรับเพิ่มราว 1.06 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 417.1 ล้านบาร์เรล