'อนุทิน' ดันสมุนไพรไทย สร้างงาน สร้างอาชีพ

'อนุทิน' ดันสมุนไพรไทย สร้างงาน สร้างอาชีพ

"อนุทิน" ดันพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย สร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 23 ก.ย.62 เวลา 09.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 ณ ห้อง 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เพื่อผลักดันให้พืชสมุนไพรไทย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะดำเนินนโยบายตามพระราชบัญญัติสมุนไพรแห่งชาติ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาและขึ้นทะเบียนสมุนไพรไทย เน้นส่งเสริมอำนวยความสะดวก ให้มีความชัดเจน มีความสะดวก ลดขั้นตอนการดำเนิน ขออนุญาตต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้สมุนไพรไทยออกสู่ท้องตลาดให้มากที่สุด เพิ่มโอกาสในการแข่งขันการค้าตลาดต่างประเทศ สร้างมูลค้าเศรษฐกิจและสร้างประโยชน์สู่เกษตรกรและชุมชนต่างๆ ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ที่ประชุม รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 1/2560 และแผนการขับเคลื่อนแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ตามที่ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี ซึ่ง มีผลการดำเนินงานดังนี้ 1.) ถ่ายทอดความรู้เรื่อง GAP/Organic สมุนไพรให้กับเกษตรกรรายใหม่ 2.) ลงทุนเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น 3.) วิจัยและส่งเสริมการใช้สมุนไพร 4.) ขยายช่องทางการตลาดสมุนไพรและมีการเจรจาทางการค้า 5.) การพัฒนาเมืองสมุนไพร 13 จังหวัด ส่งผลให้เกิดการพัฒนาสมุนไพรครบวงจร ทั้งการปลูก การแปรรูป และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร สร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้เกษตรกรและท่องเที่ยวของจังหวัด

ในการนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ 3 ฉบับ ได้แก่ 1.) เรื่อง การกำหนดประเภทผู้ประกอบการ พ.ศ. ... 2.) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งเป็นผู้ประกอบการ พ.ศ. ... และ 3.) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการส่งเสริมผู้ประกอบการ พ.ศ. ... พร้อมทั้งเห็นชอบการปรับแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน เพิ่มมูลค่าภายในประเทศ โดยกำหนดการพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างเป็นระบบ ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.) ส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ 2.) พัฒนาอุตสาหกรรมและการตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากล 3.) ส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ และ 4.) สร้างความเข้มแข็งของการบริหารและนโยบายภาครัฐเพื่อการขับเคลื่อนสมุนไพรไทยอย่างยั่งยืน

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการนำนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลด้านสมุนไพรเศรษฐกิจมาดำเนินโครงการต่อยอด สืบสาน ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อนำเสนอเป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในการดูแลสุขภาพของประชาชน การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรในยุคปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบร่างแผนงานวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยเพื่อเศรษฐกิจ โดยกำหนดมาตรการวิจัยสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย ดังนี้ 1.) วิจัยและพัฒนาวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพร 2.) วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าและมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยร่วมกับภาคเอกชน 3.) วิจัยสรรพคุณสมุนไพรเพื่อสุขภาพ และ 4.) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยและนวัตกรรมด้านสมุนไพร

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวในมุมมองของตนเองว่า สมุนไพรจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 ดังนั้น จะขอให้คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ จัดการประชุมให้บ่อยครั้งมากขึ้น เพื่อจะได้ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพร ให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจต่อวิสาหกิจไทยและประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมด้วย