‘รู้ดี’ กับ ‘รู้สึกดี’ มันต่างกันอย่างไร

‘รู้ดี’ กับ ‘รู้สึกดี’  มันต่างกันอย่างไร

ท่านคิดว่าคนที่ตั้งเป้าหมายลดความอ้วน 10 คน มีกี่คนที่ประสบความสำเร็จคะ?

เราต่าง “รู้ดี” ว่าการลดน้ำหนักมีข้อดีนานาประการ ไม่ว่าจะสุขภาพดี สวยหล่อ มีอายุยืนยาว

แต่ทำไมผลการศึกษาจึงพบว่ามีคนไม่ถึง 2 คนที่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่รู้ดีถึงประโยชน์ รู้วิธีลดน้ำหนัก รู้จักตั้งเป้าหมายและแผนการลดน้ำหนักชัดเจน!!

เรื่องนี้ทำให้ดิฉันนึกถึงประโยคยอดฮิตที่ได้ยินบ่อย ๆ เวลาไปเจอผู้นำองค์กรที่ต้องการเปลี่ยนแปลงองค์กร

“เรื่องพวกนี้ผมรู้หมดแล้ว...พูดให้คนทั้งองค์กรฟังไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ทุกคนรู้ดี...แต่ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม”

John Kotter กูรูด้านการเปลี่ยนแปลง ได้พูดถึงการพาคนให้เปลี่ยนแปลงว่าต้องดูแลทั้ง “สมอง” และ “หัวใจ”

สมอง คือ ทำให้ “รู้” ถึงสาเหตุ รู้ถึงความจำเป็นที่ “ต้อง” รีบเปลี่ยนแปลง

หัวใจ คือ การดูแลในส่วนอารมณ์ สร้างความ “รู้สึกดี” ที่ทำให้คน “อยาก” ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

การทำงานในองค์กรเรามักถูกสอนให้พูดคุยกันด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ แต่ในการนำการเปลี่ยนแปลง ผู้นำจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทั้งเหตุผลและอารมณ์ไปพร้อม ๆ กัน เพราะ “รู้ดี” กับ “รู้สึกดี” เขียนต่างกันนิดเดียว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่างกันมหาศาล

คนสองคนจะเลิกรากัน “รู้ดี” ว่าไปกันไม่ได้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา แต่ทำไมความ “ความรู้สึกดี” ที่เหลืออยู่มันทำให้ยังตัดใจไม่ได้สักที ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้นำต่อให้พูดอีกร้อยครั้งพันครั้ง ยกเหตุผลชักแม่น้ำทั้งห้ามาโน้มน้าว คนก็ยังไม่รู้สึกอยากเปลี่ยนแปลง ยิ่งเหตุผลที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง น่าระทึกขวัญ เช่น หากไม่เปลี่ยนเราจะอยู่ไม่รอด ต้องลดคน ตัดเงินเดือน ลดโบนัส ยิ่งทำให้ความ “รู้สึกดี” อยากมีส่วนร่วมหายไป

3 ทักษะสำคัญของผู้นำการเปลี่ยนแปลง

1. ทักษะการเล่าเรื่อง (Storytelling for Leaders) กลายเป็นทักษะสำคัญสำหรับผู้นำยุคใหม่ที่ต้องการพาคนในองค์กรให้เปลี่ยนแปลง ผ่านการเล่าเรื่องที่ให้ความสำคัญกับทั้งเหตุผลและอารมณ์ จบแล้วผู้ฟังรู้สึกถึงความหวัง (Hope) มากกว่าความกลัว (Fear) รู้สึกดีที่จะร่วมลงเรือลำเดียวกันเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกันแม้หนทางข้างหน้าจะมัว ๆ

2. ทักษะการนำการเปลี่ยนแปลง (Leading Transformation) John Kotter ศึกษาพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเพียง 30% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ องค์กรที่สำเร็จเพราะผู้นำรู้ถึงกระบวนการนำการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ Event แต่เป็น Journey ที่สำคัญ สามารถสร้างบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงที่สนุก เพราะใคร ๆ ก็อยากทำอะไรสนุก ๆ ไม่ว่าจะอยู่เจนเนอเรชั่นไหนก็ตาม

3. ทักษะการเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring) การดำเนินธุรกิจในยุคนี้จะรอนายสั่งอย่างเดียวคงไม่ทันคู่แข่ง โดยเฉพาะคู่แข่งคนสำคัญคือเวลา องค์กรจำเป็นต้องสร้างผู้นำทุกระดับทั้งที่มีลูกน้องและไม่มีลูกน้องให้ขึ้นมานำการเปลี่ยนแปลให้ได้ และสิ่งเหล่านี้จะเกิดไม่ได้ หากผู้นำรุ่นปัจจุบันไม่สามารถเป็นพี่เลี้ยง ปั้นผู้นำรุ่นถัดไปได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเผชิญอยู่