‘สะพานข้ามแม่น้ำย่างกุ้ง’ โอกาสทางเศรษฐกิจ

‘สะพานข้ามแม่น้ำย่างกุ้ง’ โอกาสทางเศรษฐกิจ

เมียนมากำลังสร้างสะพานข้ามแม่น้ำย่างกุ้ง เชื่อมดาลากับย่างกุ้ง ที่สภาพห่างไกลกันสุดขั้ว สะพานแห่งนี้ก่อให้เกิดความหวังและความหวาดหวั่นกับใครหลายคน

ดาลา เมืองเล็กๆ ของเมียนมาที่ห่างจากใจกลางย่างกุ้งแค่แม่น้ำกั้น แต่สภาพความเป็นอยู่แตกต่างกันมาก โครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำย่างกุ้งที่จะแล้วเสร็จในปี 2565 จึงเป็นเหมือนความหวังให้กับผู้คนที่นี่

“ยิ่งเร็วก็ยิ่งดี” ขิ่น ถั่น มินต์ เจ้าของร้านน้ำชา วัย 58 ปี กล่าวถึงโครงการก่อสร้างสะพานมูลค่า 168 ล้านดอลลาร์ ที่จะช่วยให้การคมนาคมสะดวกขึ้น เนื่องจากชาวบ้านหลายพันคนจากดาลาต้องนั่งเรือไปย่างกุ้ง หลายครั้งคนเจ็บไปโรงพยาบาลไม่ทัน แต่ถ้ามีสะพานเชื่อม “แค่เดินไม่กี่ก้าวก็ถึงย่างกุ้งแล้ว”เจ้าของร้านน้ำชากล่าวยิ้มๆ

ชาวบ้านดาลาเห็นความเปลี่ยนแปลงฝั่งตรงข้ามแม่น้ำอย่างชัดเจนเมื่อนักลงทุนต่างชาติทุ่มเทเงินหลายพันล้านดอลลาร์มาที่ย่างกุ้ง

โรงแรมห้าดาวและห้างสรรพสินค้าหรูเต็มไปด้วยสินค้าแบรนด์เนมมากมาย ผุดขึ้นแข่งกับเจดีย์ชะเวดากอง

แต่ที่ดาลา ฝูงแพะเดินกันเกลื่อนทุ่งนา ชาวบ้านสัญจรบนถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ คอยหลบจักรยานยนต์ควันโขมงและตุ๊กตุ๊ก ภาพเหล่านี้ไม่มีในกลางเมืองย่างกุ้ง โลก 2 ใบที่แตกต่างกันมีเพียงเรือข้ามฟากและเรือไม้เท่านั้นเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกัน

เมียนมาถูกปกครองในระบอบทหารมาเกือบ 50 ปี เพิ่งเปิดประเทศในปี 2554 ใน 7 ปีต่อมา การลงทุนจากต่างประเทศเกือบครึ่งในเมียนมาพุ่งไปที่ย่างกุ้ง ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สประเมินตัวเลขที่ราว 2.58 หมื่นล้านดอลลาร์

 แม้ประชาชนจำนวนมากจะมีมาตรฐานการดำรงชีวิตดีขึ้น แต่ 1 ใน 3 ยังยากจน โครงสร้างพื้นฐานยังคงไม่ต่อเนื่อง หลายพื้นที่ของเมียนมาตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้ง

กระนั้นความรุ่งเรืองของย่างกุ้งก็ช่วยสร้างงานให้ชาวดาลาจำนวนมากด้วย รวมทั้งชาวเรือที่รับจ้างข้ามแม่น้้ำอันแสนวุ่นวายอย่าง “อ่อง เมียว วิน” ที่ทำหน้าที่นี้มา 14 ปีแล้ว เมื่อสะพานเสร็จย่อมส่งผลกระทบต่อเขาอย่างแน่นอน

ชายวัย 45 ปีรู้ว่าทั้งเขาและเพื่อนๆ อีกหลายสิบคนต้องตกงาน แต่เขายังมองเห็นอนาคตที่ใหญ่กว่านั้น

“สะพานนี้เพื่อผู้คน เราต้องสละตัวเองเพื่อผลของการพัฒนา”

ด้าน เดวิด เนย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองจากเอเชียฟาวเดชันเผยว่า พื้นที่ด้านใต้ของย่างกุ้งเคยเป็นที่ลุ่มมาก่อน การพัฒนาเมืองจึงขึ้นไปทางตอนเหนือของแม่น้ำ เป็นเหตุผลให้ดาลาถูกมองข้าม

แต่ตอนนี้ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปเขตอุตสาหกรรมใหญ่โตครอบคลุมพื้นที่ตะวันตกและตอนใต้ของแม่น้ำ ส่วนใหญ่เป็นโครงการจากเงินทุนเกาหลีใต้ ส่วนเงินทุนจากจีนอยู่ระหว่างการพิจารณา อย่างไรก็ตามหลายคนเริ่มกังวลถึงผลพวงของการพัฒนาอย่างรวดเร็วบ้างแล้ว

ชิต นันต์ คนขับแท็กซี่ในย่างกุ้ง วัย 68 ปี กล่าวว่า ริมน้ำฝั่งเหนือคนรวยมีแต่รวยขึ้น ทิ้งคนจนไว้ข้างหลัง ครอบครัวต้องหาเงินให้พอกับค่าเช่าบ้านและค่าอาหารที่แพงขึ้น

แต่สำหรับเจ้าของร้านน้ำชาอย่างขิ่น เธอมีความหวังกับสะพานข้ามแม่น้ำ

“ฉันอยากปลูกบ้านสวยๆ สักหลัง แล้วเปิดร้านอาหารที่ใหญ่ขึ้น พร้อมกับร้านค้าอีก 2-3 ร้านให้เหมือนกับย่างกุ้ง”