กูรูฟันธง กนง.'คง'ดอกเบี้ย รอดูผลมาตรการรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ

กูรูฟันธง กนง.'คง'ดอกเบี้ย รอดูผลมาตรการรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ

การลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยทันทีที่ เฟด หั่นดอกเบี้ยลง ส่งผลให้ธนาคารกลางในอีกหลายประเทศต้องปรับลดดอกเบี้ยลงตาม

อย่างไรก็ตามในส่วนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งจะประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ “นักเศรษฐศาสตร์” ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า กนง. จะยัง “คง” ดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% เพื่อรอดูผลของการปรับลดในรอบที่ผ่านมาและรอดูว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยนำมาใช้ มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด

“กำพล อดิเรกสมบัติ” หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและตลาดเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า แม้ข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุดจะเอื้อให้ กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาได้อีก แต่ อีไอซี ประเมินว่า ในการประชุมครั้งนี้ กนง. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ก่อน เพื่อรอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

“เท่าที่เราดูตัวเลขหลายๆ ตัวไม่ค่อยดีนัก ส่งออกหดตัวต่อเนื่อง บางช่วงอาจเด้งขึ้นมาบ้างแต่เป็นเพราะทองคำ การท่องเที่ยวบางเดือนดีขึ้นก็เป็นผลจากฐานปีก่อนที่ต่ำ และถ้าดูกำลังซื้อในประเทศ ยอดขายรถเริ่มติดลบเป็นเดือนที่สาม แถมภาคอสังหาฯ ยังถูกเบรกจากมาตรการแอลทีวี ทำให้สินค้าใหญ่ส่งสัญญาณชะลอหมด กำลังซื้อในประเทศจึงชะลอ ถ้าจะดีขึ้นก็เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ เราเชื่อว่า กนง. คงอยากรอดูตรงนั้นก่อน”

กำพล  ระบุว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาโดยเฉพาะมาตรการที่สนับสนุนการท่องเที่ยวจะเห็นผลหลังจากเดือนก.ย.เป็นต้นไป ถ้ามาตรการเหล่านี้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยเชื่อว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติม ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนพ.ย.หรือธ.ค.2562

“เชาว์ เก่งชน” กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ เฟด จะลดดอกเบี้ยลงในการประชุมล่าสุด แต่เชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังไม่รีบปรับลดตามในทันที โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การประชุม กนง. ครั้งนี้จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% เชื่อว่า กนง. คงอยากรอดูผลของการปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่ผ่านมาก่อน

“ถ้ารอบนี้จะลดอีกคงต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนจริงๆ แต่ขณะนี้เรายังไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนแบบนั้น เชื่อว่า กนง. ยังรอได้และเขาคงอยากรอประเมินผลของการลดในครั้งที่ผ่านมาก่อน และหากจำเป็นจะต้องปรับลด ก็ยังพอมีเวลาที่จะดำเนินการได้ในครั้งถัดไป”

ส่วนแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้นั้น เรื่องการลดดอกเบี้ยคงยังตัดทิ้งไม่ได้ ส่วนจะลดเมื่อไหร่อาจต้องขึ้นกับภาพรวมเศรษฐกิจว่าเป็นอย่างไร หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงแรง ก็เป็นไปได้ที่จะเห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนพ.ย. แต่ถ้าสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ได้เลวร้ายมากนัก เชื่อว่า กนง. คงจะปรับลดดอกเบี้ยลงในการประชุมรอบสุดท้ายของปี

สำหรับค่าเงินบาทนั้น “เชาว์” ประเมินว่า กนง.อาจไม่ได้ให้น้ำหนักกับการพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยมากนัก เพราะถ้าดูข้อมูลดุลการชำระเงิน พบว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกมากกว่าไหลเข้า อาจมีบางช่วงที่ต่างชาตินำเงินเข้ามาจริง แต่บางช่วงก็ออกไป และยอดสะสมก็ยังติดลบอยู่ โดยสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าหลักๆ มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จึงเชื่อว่าปัจจัยนี้ กนง. คงไม่ได้หยิบมามีผลต่อการพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยมากนัก

“นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินว่า กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ไว้ก่อนเพื่อรอดูผลการลดดอกเบี้ยในรอบที่ผ่านมา ประกอบกับการส่งผ่านนโยบายการเงินจากการลดดอกเบี้ยในครั้งก่อน ยังทำได้ไม่เต็มที่ แม้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งจะปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง แต่ก็ปรับลงเฉพาะดอกเบี้ย MRR กับ MOR ขณะที่ดอกเบี้ย MLR ยังไม่มีการปรับลดลง ซึ่งถ้า กนง. ปรับลดดอกเบี้ยในรอบนี้ แล้วดอกเบี้ย MLR ยังไม่ปรับลงตาม จะยิ่งตอกย้ำว่าการส่งผ่านนโยบายการเงินมีผลน้อยลง

อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสปรับลดลงอีก 1 ครั้ง ซึ่งอาจเป็นการปรับลงในเดือนพ.ย.หรือธ.ค.ก็ได้ เพราะเวลานี้ไม่ใช่แค่ดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาลง แต่ยังมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางยักษ์ใหญ่หลายประเทศ เริ่มนำมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ(คิวอี) กลับมาใช้อีกรอบ ดังนั้นถ้าดอกเบี้ยทั่วโลกปรับลงพร้อมกับการทำคิวอี หากดอกเบี้ยไทยไม่ปรับตามจะเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้

“เกมนี้ถ้าใครไม่ปรับอาจเจ็บตัวได้ โดยเฉพาะเงินบาทตอนนี้แข็งค่ากว่าเพื่อนบ้านและคู่ค้าคู่แข่งขันพอสมควร ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการลดดอกเบี้ยจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง แต่การไม่ลดดอกเบี้ยในขณะที่คนอื่นปรับลด อาจจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ซึ่งถือเป็นแรงกดดันพอสมควร”

“พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร ประเมินว่า การประชุม กนง. ครั้งนี้ เป็นรอบที่มีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทย โดยเชื่อว่า กนง. อาจจะปรับคาดการณ์การเติบโตลงมาต่ำกว่า 3% โดยอาจจะอยู่ราวๆ 2.8-2.9% สะท้อนถึงทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ กนง. เองก็ได้ปรับลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลไปแล้วตั้งแต่การประชุมครั้งที่ผ่านมา ในครั้งนี้จึงเชื่อว่า กนง. จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 1.5% ก่อน 

“รอบนี้เราเชื่อว่าน่าจะคง เพราะไม่มีตัวเลขอะไรที่ดูแล้วแย่ลงไปกว่าการประชุมครั้งที่ผ่านมา ความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยตอนนี้จึงยังไม่ค่อยมี”

อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่าช่วงที่เหลือของปีนี้ มีโอกาสสูงที่ กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง เว้นแต่สัญญาณเศรษฐกิจและการค้าโลกจะเริ่มดีขึ้นก็อาจจะไม่ได้เห็น กนง. ปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม โดยถ้าจะลดคาดว่า จะเป็นการปรับลดในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ คือ เดือน ธ.ค.2562

“โอกาสที่จะ คง กับ ลด มีใกล้ๆ กัน  ต้องดูภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกว่าเป็นอย่างไร ส่งผลกระทบกับเรามากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้า กนง. จะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม เชื่อว่าคงเกิดขึ้นในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้เลย และอีกประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ดอกเบี้ยเฟด ซึ่งเวลานี้เขาลงมาอยู่ใกล้เคียงกับเราแล้ว โดยสูงกว่าเราแค่ 0.25%”