เรือเหล็กลุงตู่ไปต่อ?

เรือเหล็กลุงตู่ไปต่อ?

ผ่านมาแล้ว 66 วันในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ หากนับจากการเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณคณะรัฐมนตรีชุดที่ 62 ในวันที่ 16 ก.ค.2562 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ที่บัญญัติไว้

เป็นการเดินหน้า เรือเหล็ก ในยุคที่มีรัฐบาลผสมกว่า 16 พรรคการเมือง ที่มีทั้งคลื่นลมท้าทายที่ถาโถมเข้ามาทุกระยะตั้งแต่ประเด็นทางการเมือง ข้อกฎหมาย สถานการณ์น้ำท่วม การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติผ่านมาตรา 152 ในยุคที่พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ไม่มีหมวกหัวหน้า คสช.แล้ว

จากทีมงานแม่น้ำ 5 สายรอบตัวพล.อ.ประยุทธ์ ที่เปลี่ยนหน้าไปเกือบทั้งหมด ทำให้ท่าทีการปรับตัวเข้าหารัฐมนตรีที่มาจากต่างพรรคการเมือง กลายเป็นโจทย์แรกที่พล.อ.ประยุทธ์ต้อง เปลี่ยนไป” โดยเฉพาะจากบรรยากาศการประชุม ครม.แทบทุกครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จะขอให้รัฐมนตรีทุกคนช่วยกันทำงาน และเปิดโอกาสรับฟังข้อเสนอจากรัฐมนตรีในทุกเรื่อง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงนาทีนี้ทำให้เอกภาพที่ พลังประชารัฐ” ตรึงไว้กับ 5 พรรคการเมือง ตั้งแต่ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา และรวมพลังประชาชาติไทย ในครม. ที่ผ่านมายังไม่สั่นคลอน

 

 

หากย้อนไปดูเฉพาะผลงาน 66 วันของรัฐบาล ประยุทธ์ 2” เริ่มต้นที่ 20 ส.ค. ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากคลัง จากพรรคพลังประชารัฐ ทั้งดูแลเรื่องค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ผ่านการให้เงิน 1,000 บาท 

จากนั้นไม่นานวันที่ 27 ส.ค. ที่ประชุม ครม.ยังมีมติอนุมัติ โครงการประกันรายได้เกษตรกรปลูกข้าวและปาล์มน้ำมัน ปี 2562/2563 วงเงิน 34,873 ล้านบาท จากกระทรวงพาณิชย์ของพรรคประชาธิปัตย์ แบ่งเป็นโครงการประกันรายได้เกษตรกรปลูกข้าว วงเงิน 21,495 ล้านบาท และโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมันวงเงิน 13,378 ล้านบาท เป็น 3 โครงการใหญ่ที่ผ่าน ครม.เพื่อออกเป็นผลงานในช่วงแรก

ขณะที่ประเด็นร้อนแรงที่สุดเกิดขึ้นวันที่ 9 ก.ย. พุ่งเป้าไปที่รัฐบาล ไม่พ้นกรณีที่ The Sydney Morning Herald หนังสือพิมพ์ของออสเตรเลีย ออกมาเปิดเผยเอกสารจากศาลคดียาเสพติดของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรฯ จากเหตุการณ์เมื่อปี 2536 กลายเป็น เป้านิ่ง” ของรัฐบาลที่ได้โดนถาโถมอย่างหนัก

ระหว่างนั้นเองในประเด็นที่พล.อ.ประยุทธ์ กำลังถูกตรวจสอบประเด็นถวายสัตย์ไม่ครบอย่างหนัก ซึ่งมีแรงกดดันที่มาจากสังคม ฝ่ายค้าน และการยื่นให้ศาลวินิจฉัยจากคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย 

 

ถึงแม้วันที่ 11 ก.ย.เป็นวันที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคสาม และมาตรา 47 (1) โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

แต่ฝั่งเวที นิติบัญญัติ จากฝ่ายค้านยังเดินหน้ายื่นอภิปรายคณะรัฐมนตรีทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ ในประเด็นการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน และการไม่แจ้งที่มารายได้ของงบประมาณในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลซึ่งถูกบรรจุไว้ในการอภิปรายวันที่ 18 ก.ย. 

เป็นวันเดียวที่ ศาลรัฐธรรมนูญ” พิจารณาได้นัดอ่านคำวินิจฉัยสถานภาพความเป็นนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวที่เวทีสภาฯ กำลังเดินหน้าซักฟอกประเด็นถวายสัตย์ แต่แล้วช่วงเวลา 15.00 น. ของวันที่ 18 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช.เป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยมีอำนาจหน้าที่เป็นการ เฉพาะชั่วคราว

กลายเป็น 2 คดีสำคัญที่พล.อ.ประยุทธ์ รอดพ้นจากคำร้องทั้งหมด ทำให้บรรยากาศในการอภิปรายแบบไม่ลงมติตลอดทั้งวันที่ 18 ก.ย. ฝั่งรัฐบาลประคองเกมจากสิ่งที่ฝ่ายค้านไล่บี้ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงปิดการประชุมในเวลา 18.05 น.ได้สำเร็จ 

แต่ฝ่ายค้านก็ยังไม่จบ มีความพยายามที่จะเข้าชื่อกันเพื่อส่งให้ประธานสภา ส่งต่อให้ปปช.สอบจริยธรรม นายกฯอีกในประเด็นการถวายสัตย์ฯ

นี่เป็นภาพรวมของสถานการณ์ฝั่งรัฐบาลทั้งหมดในช่วง 2 เดือนแรกผ่านพ้นประเด็นทางการเมืองที่ถาโถมเข้าใส่ แต่ยังเป็นสถานการณ์เดียวกับที่เรือเหล็กลำนี้ เตรียมแล่นเข้าฤดูมรสุมอีกครั้ง เมื่อ 7 ฝ่ายค้านจ่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-รอยปริเพื่อไทย 'เจ๊หน่อย' คุมไม่อยู่
-เปิด! มุมมอง เงินกู้ 191 ล้าน บ่วง 'ธนาธร-อนาคตใหม่'
-'จุติ' หนาว ถูกบีบให้ลาออก ส.ส.
-สภาฯของบเพิ่มทะลุ1.2หมื่นล้าน ค่าอาหารส.ส.เพิ่มรายละ300