หัวเว่ยรุกตลาดโซลูชันข้อมูลการเงินอาเซียน

หัวเว่ยรุกตลาดโซลูชันข้อมูลการเงินอาเซียน

ทุกวันนี้ ธนาคารต่างพยายามใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้คุ้มค่าที่สุด แต่มักเผชิญความท้าทายต่างๆ เช่น ข้อมูลหลายประเภทจากหลายช่องทาง

ท่ามกลางสถานการณ์กดดันและถูกกีดกันในการทำธุรกิจจากประเทศยักษ์ใหญ่ตะวันตก นำโดยสหรัฐ แต่หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ของจีน กลับเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด หัวเว่ย ได้เปิดตัวโซลูชันข้อมูลทางการเงินอัจฉริยะ มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

งานนี้ หัวเว่ย จับมือกับไชน่าซอฟต์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ซีเอสไอ) เปิดตัว “Intelligent Financial Data Solution” โซลูชันข้อมูลทางการเงินอัจฉริยะที่อาศัยคลังข้อมูลส่วนกลาง (data lake) ในงานหัวเว่ย คอนเน็ก 2019 เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตลาดอื่นๆ สามารถให้บริการทางการเงินอัจฉริยะแบบไร้พรมแดนแก่ทุกคน พร้อมกับเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจและขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรม

ในอนาคต บริการทางการเงินแบบไร้พรมแดนจะก้าวข้ามพรมแดนระหว่างธนาคารต่างๆ และเข้าถึงทุกคนทุกที่ ตัวอย่างเช่น การชำระเงินผ่านมือถือในจีนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลถึง 36 เท่า จาก 1.674 พันล้านครั้งในปี 2556 เป็น 6.0531 หมื่นล้านครั้งในปี 2561 ตอกย้ำว่า บริการทางการเงินที่สะดวกสบายกลายมาเป็นกระแสหลักของสังคม

ในอนาคต บริการทางการเงินอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลจะเข้ามาแทนที่บริการแบบเดิมๆ ซึ่งจะมอบความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้า ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อธนาคารในด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน การควบคุมความเสี่ยง และการตัดสินใจ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมธนาคารจีนยังพัฒนาไปมากจนสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ภายใน 1 นาที ด้วยการผสมผสานการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าเข้ากับการตรวจสอบเครดิตแบบดั้งเดิม

เฉา ฉง ประธานฝ่ายอุตสาหกรรมบริการทางการเงินของหัวเว่ย เอ็นเตอร์ไพรส์ กล่าวว่า "การพัฒนาและพลิกโฉมอุตสาหกรรมการเงินเกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เช่น เอไอ บิ๊กดาต้า และบล็อกเชน ซึ่งการสร้างสรรค์บริการทางการเงินอัจฉริยะแบบไร้พรมแดน รวมถึงการใช้สถาปัตกรรมแบบกระจายและแบบเปิดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเอไอ จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของสถาบันการเงินในอนาคต”

ทุกวันนี้ ธนาคารต่างพยายามใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้คุ้มค่าที่สุด แต่มักเผชิญความท้าทายต่างๆ เช่น ข้อมูลหลายประเภทจากหลายช่องทาง ความยากลำบากในการวิเคราะห์ข้อมูลแบบหลอมรวม และการใช้ข้อมูลไม่เต็มที่ ด้วยเหตุนี้โซลูชันข้อมูลทางการเงินอัจฉริยะของหัวเว่ยจึงนำเสนอโซลูชันครบวงจรเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ด้วยสถาปัตยกรรมแบบสามชั้น ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานข้อมูลอัจฉริยะ คลังข้อมูลส่วนกลางแบบหลอมรวม และความพร้อมของข้อมูลและธุรกิจ เพื่อรับประกันการเข้าถึงข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การวิเคราะห์ข้อมูลแบบหลอมรวม และการใช้งานในชั้นที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารต่างๆ สามารถทำการตลาดแบบเจาะจง ควบคุมความเสี่ยงแบบเรียลไทม์ และดำเนินงานอย่างคล่องแคล่วว่องไว

ที่ผ่านมา โซลูชันข้อมูลทางการเงินอัจฉริยะของหัวเว่ยช่วยให้สถาบันการเงินหลายแห่งในจีนสามารถสร้างรูปแบบการใช้งานที่เฉพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่น ช่วยให้ธนาคารสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นนำแห่งหนึ่งสามารถความคุมความเสี่ยงแบบเรียลไทม์ และขัดขวางการทำธุรกรรมที่น่าสงสัย ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 1 พันล้านหยวนต่อปี นอกจากนั้น ยังช่วยให้บริษัทประกันแห่งหนึ่งตรวจพบการฉ้อโกงต่างๆ และลดกรณีการฉ้อโกงได้กว่า 50%

วินเซนต์ จู รองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายธุรกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของซีเอสไอ กล่าวว่า ซีเอสไอร่วมมือกับธนาคารชั้นนำแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทดลองใช้โซลูชันดังกล่าวในหลายรูปแบบ เช่น ใช้ในการนำเสนอบริการอัจฉริยะและการควบคุมความเสี่ยงแบบเรียลไทม์ โดยคาดว่าจะสามารถใช้งานเชิงพาณิชย์ได้ภายในปีนี้ ซึ่งถือเป็นหลักชัยสำคัญของความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยกับซีเอสไอในอุตสาหกรรมการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จู กล่าวด้วยว่า “การใช้งานเชิงพาณิชย์ในมาเลเซียจะเป็นตัวอย่างที่มีค่าสำหรับสถาบันการเงินอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อจากนี้ไป 3-5 ปี หัวเว่ยและซีเอสไอจะช่วยสนับสนุนสถาบันการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการให้บริการทางการเงินอัจฉริยะแบบไร้พรมแดน เพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้าและประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ เร่งสร้างโอกาสในการเติบโต และลดต้นทุนการดำเนินงาน ในอนาคต ธนาคารต่างๆ จะให้ความสำคัญมากขึ้นกับบริการทางการเงินอัจฉริยะที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ให้บริการข้อมูลและคลังข้อมูลส่วนกลางแบบหลอมรวม ยุคของการเงินเอไอกำลังจะมาถึง”

จุดแข็งสามด้านที่ทำให้โซลูชันนี้แตกต่างคือ การหลอมรวม อัจฉริยภาพ และประสิทธิภาพ โดยโซลูชันนี้ ช่วยให้ธนาคารต่างๆ สามารถกำหนดนิยามใหม่ของคลังข้อมูลส่วนกลางแบบหลอมรวมสำหรับอุตสาหกรรมการเงิน ทั้งยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น รวมทั้งเร่งการเปลี่ยนข้อมูลให้มีค่า และมีประโยชน์ต่อการพลิกโฉมธุรกิจสู่ระบบดิจิทัล