ตามรอยเส้นทาง นิราศสุนทรภู่

ตามรอยเส้นทาง นิราศสุนทรภู่

นิราศที่สุนทรภู่ เขียน เล่าถึงวิถีชีวิตคนไทยดั้งเดิม และยังทำให้คนยุคนี้เข้าใจอดีตมากขึ้น

  

เมื่อไม่นานนี้ KTC PR Press Club พาไปดูร่องรอยในอดีต ผ่านเรื่องเล่านิราศสุนทรภู่ บนเส้นทางคลองบางกอกน้อย และนนทบุรี ในกิจกรรม เยือนบางกอก ยลอารามนนทบุรี เลียบชลนทีตามรอยมหากวีเอก 

ว่ากันว่า สุนทรภู่ เกิดในยุคสมัยรัชกาลที่ 1 เคยใช้ชีวิตแถววังหลัง คลองบางกอกน้อย และเมื่อเติบโตเข้ารับราชการในวัง

สุนทรภู่ชอบแต่งโคลง กลอง ดังนั้นเวลาเดินทางไปไหนไกลๆ ต้องใช้เวลานานและค่อนข้างลำบาก เขาจะแต่งโคลง กลอน พรรณนาถึงการเดินทาง สภาพภูมิประเทศ และบางโคลงกลอนก็สอดแทรกข้อคิดคติธรรม รวมถึงเปรียบเปรยกับชีวิตตัวเอง 

นั่นทำให้นิราศที่แต่งไว้ กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์  อย่างตอนที่สุนทรภู่ นั่งเรือผ่านวัดเสาประโคน หรือวัดดุสิตารามวรวิหาร เขาเขียนไว้ในนิราศพระประธม

ว่า 

“...ถึงอารามนามวัดประโคนปัก ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน เป็นสำคัญปักแดนในแผ่นดิน มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา...”

เสาประโคน ที่กล่าวถึง เป็นเสาหินโบราณ ใช้กำหนดอาณาเขตเมืองหลวงระหว่างธนบุรีกับกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเสาหินโบราณที่วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้พระอุโบสถที่สร้างขึ้นตามคติความเชื่อสมัยอยุธยา มีการสร้างปรางค์เล็กไว้สี่มุมของพระอุโบสถ ภายในกำแพงแก้ว

ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระประธาน ส่วนจิตรกรรมฝาผนังด้านในเป็นภาพเทพชุมนุม เรื่องทศชาติ พุทธประวัติตอนผจญมาร และตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ เป็นภาพเขียนฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งได้รับการยกย่องว่า งดงามมาก

ส่วนอีกวัดที่คนไทยทั้งประเทศรู้จักจากละครบุพเพสันนิวาส คือ วัดชีปะขาว หรือ วัดศรีสุดารามวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย สร้างขึ้นสมัยอยุธยา และต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอของรัชกาลที่ 1 ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ เนื่องจากน้ำเซาะตลิ่งพังจนถึงหน้าพระอุโบสถ จนมาถึงรัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยามุขมนตรีสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ โดยเลื่อนให้พ้นตลิ่ง วัดนี้เป็นเสมือนแหล่งเรียนรู้ของสุนทรภู่ มีบันทึกไว้ในนิราศสุพรรณว่า

“วัดปะขาวคราวรุ่นรู้ เรียนเขียน ทำสูตรสอนเสมียน สมุดน้อย เดินระวางระวังเวียน หว่างวัดประขาวเอย เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย สวาทห้องกลางสวน...” 

นั่นคือ สองวัดในย่านฝั่งธนบุรี 

ส่วนวัดย่านนนทบุรีที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ วัดบางอ้อยช้าง แม้จะไม่ใช่วัดหลวง แต่ที่นี่เคยเป็นชุมชนเก่าแก่ เป็นทั้งแหล่งรวมไพร่พล และแหล่งเสบียงอาหารเวลาเกิดศึกสงคราม เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกข้าว และมีต้นอ้อยช้าง ซึ่งเป็นอาหารที่ช้างกินได้ทั้งเปลือกและราก รวมถึงใช้รักษาบาดแผลของช้างได้ด้วย จึงมีความสำคัญต่อกองทัพในสมัยโบราณ ชุมชนในอดีตแห่งนี้ยังมีหน้าที่ส่งส่วยอ้อยขึ้นไปเลี้ยงช้างหลวงที่กรุงศรีอยุธยา สุนทรภู่เขียนไว้ในนิราศพระประธมว่า

“...บางอ้อยช้างโอ้ช้างที่ร้างโขลง มาอยู่โรงรักป่าน้ำตาไหล พี่คลาดแคล้วแก้วตาให้อาลัย เหมือนอกไอยราร้างฝูงนางพังฯ...” 

เนื่องจากเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความสำคัญต่อกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีสิ่งของหายากมากมายเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง อาทิ ตาลปัตรของร.5 ที่มีสัญลักษณ์นารายณ์ทรงครุฑ เครื่องถ้วยชามของจีนในสมัยราชวงศ์ชิงและสมุดข่อยโบราณ ชุดแสดงข้าวของเครื่องใช้ชาวสวนเมืองนนท์ ตู้พระธรรมลายรดน้ำไม้สักที่ยังไม่ปิดทอง พระคัมภีร์เก่าแ่ก่ และภาพเขียนขรัวอินโข่งที่เก่าแก่มากฯลฯ

ส่วนวัดสุดท้ายที่มาเยือน เป็นวัดใกล้แม่น้ำ คือ วัดชลอ สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในยุคสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ หากใครอยากเห็นวัดโบราณเก่าแก่ มีีพระอุโบสถแอ่นโค้งแบบท้องเรือสำเภา ต้องมาวัดนี้ และยังได้มานมัสการหลวงพ่อดำและหลวงพ่อมงคลแสนสุข โดยปัจจุบันมีการสร้างโบสถ์เรือสุพรรณหงส์ ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และยังไม่แล้วเสร็จ

ทั้งหมดคือ ร่องรอยในอดีต ซึ่งทำให้เรารู้และเห็นว่า ศิลปะและวัฒนธรรมไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว