‘5หุ้นรสก.’ส่อตั้งสำรองเพิ่ม5.5พันล้าน ตามก.ม.แรงงานใหม่

‘5หุ้นรสก.’ส่อตั้งสำรองเพิ่ม5.5พันล้าน ตามก.ม.แรงงานใหม่

บล.ทิสโก้ ส่อง 5 หุ้นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น คาดรับผลกระทบจากร่างประกาศแรงงานรัฐวิสาหกิจฉบับใหม่ หนุนตั้งสำรองฯเพิ่ม-ฉุดกำไรรวมลดลง 5.54 พันล้าน คาดแบงก์กรุงไทยตั้งสำรองฯมากสุดในกลุ่มกว่า 2 พันล้าน

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยจะกลับมากังวลแนวโน้มกำไรที่ยังถูกปรับลงต่อเนื่อง เนื่องจากการที่มีหุ้นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะได้รับผลกระทบจากร่างประกาศแรงงานรัฐวิสาหกิจฉบับใหม่ หลังจากเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจฉบับใหม่ที่จะเพิ่มอัตราค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไปให้ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายไม่น้อยกว่า 400 วัน เช่นเดียวกับกรณีกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ของบริษัทเอกชนที่มีการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงานเกษียณอายุไปแล้วในงบไตรมาส 4/2561 และงวดไตรมาส 2/2562 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้เบื้องต้นคาดว่าร่างประกาศดังกล่าวจะมีการออกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ ซึ่งภายหลังการออกประกาศคาดว่าบริษัทรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างๆจำเป็นต้องมีการตั้งสำรองฯในส่วนนี้ทันทีและจะมีผลกระทบทำให้กำไรของรัฐวิสาหกิจในตลาดลดลงรวมประมาณ 5,540 ล้านบาท

ขณะที่ประเมินว่าบริษัทรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นจำนวน 5 แห่งที่คาดว่าจะต้องตั้งสำรองฯในงวดไตรมาส 4/2562 มากที่สุด ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB คาดตั้งสำรองฯมูลค่า 2,000 ล้านบาท รองลงมาคือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI มูลค่า 1,500 ล้านบาท,บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มูลค่า 800 ล้านบาท, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่า 740 ล้านบาท และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT มูลค่า 500 ล้านบาท

ส่วนกำไรที่ปรับตัวลดลงดังกล่าวอิงมาจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 98,946 บาทต่อคน ซึ่งผลจากปัจจัยดังกล่าวกระทบต่ออัตรากำไรตลาด (EPS) ให้ลดลงประมาณ 0.6 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็น 0.6%จากคาดการณ์ EPS เดิมในปีนี้ที่อยู่ระดับ 100 บาทต่อหุ้น ให้ลดลงเหลือ 99.4 บาทต่อหุ้น และปีหน้าที่อยู่ระดับ 109.8 บาท อย่างไรก็ตามต้นทุนการตั้งสำรองฯที่แท้จริงของแต่ละรัฐวิสาหกิจจะแตกต่างกันไปตามฐานเงินเดือนและอายุการจ้างงานของพนักงานโดยเฉลี่ย ดังนั้นต้องเลขดังกล่าวจึงอาจเปลี่ยนแปลงได้อีก

“เราประเมินว่าตัวที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ THAI เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าปีนี้จะยังขาดทุนกว่า 5,120 ล้านบาท ซึ่งหากเพิ่มการตั้งสำรองฯดังกล่าวเข้าไปอีกคาดว่าผลประกอบการจะปรับตัวแย่ขึ้นไปอีก ขณะที่ตัวอื่นๆคาดว่าจะกระทบต่อกำไรรวมไม่มากนักโดยเฉพาะปตท.ที่คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% จากกำไรปีนี้ที่คาดจะทำได้ 1.05 แสนล้านบาท”