ลมเปลี่ยนทิศ ‘ฟอร์มูลา 1’ ยังเสี่ยงควัน

ลมเปลี่ยนทิศ ‘ฟอร์มูลา 1’ ยังเสี่ยงควัน

สิงคโปร์โล่งอก ควันไฟป่าอินโดนีเซียเปลี่ยนทิศ ส่งผลท้องฟ้าปลอดโปร่งและคุณภาพอากาศดีขึ้น แต่ผู้จัดฟอร์มูลาวันยังไม่วางใจเตรียมแผนรับมืออากาศเลวร้าย

สิงคโปร์ต้องเผชิญกับสภาพหมอกควันหนาทึบจากไฟป่าอินโดนีเซียปกคลุมมาตั้งแต่สุดสัปดาห์ก่อน ส่งผลคุณภาพอากาศตกต่ำถึงระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ท้องฟ้าหม่นไม่เห็นทิวทัศน์ และน่าห่วงว่าการแข่งขันรถฟอร์มูลาวัน ในคืนวันอาทิตย์ (22 ก.ย.) อาจได้รับผลกระทบไปด้วย

ล่าสุดวานนี้ (20 ก.ย.) ลมที่พัดควันไฟป่าอินโดนีเซียเข้ามาสิงคโปร์เปลี่ยนทิศทาง ท้องฟ้าส่วนใหญ่โปร่งขึ้น ควันปกคลุมเพียงบางๆ คุณภาพอากาศปรับตัวดีขึ้นอ่านค่าได้ราว 60 ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง โดยตัวเลขระหว่าง 101-200 ถือว่าไม่ดีต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ก่อนสุดสัปดาห์ทิศทางลมอาจเปลี่ยนแปลงได้อีก และอาจทำให้ควันไฟกลับมาปกคลุมสิงคโปร์อีกครั้ง ผู้จัดการแข่งขันฟอร์มูลาวันเผยว่า เตรียมแผนฉุกเฉินไว้แล้วหากหมอกควันหนักขึ้น รวมทั้งเตรียมหน้ากากป้องกันมลพิษไว้ด้วย ผู้ชมสามารถหาซื้อได้ที่สนามแข่ง

ไฟป่าที่เกิดขึ้นบนเกาะสุมาตราและบนเกาะบอร์เนียวในส่วนของอินโดนีเซีย ควันลอยโขมงไปถึงเพื่อนบ้านเป็นประจำทุกปี อินโดนีเซียและมาเลเซียต้องปิดโรงเรียนหลายพันแห่ง สนามบินหลายแห่งของอินโดนีเซียบนเกาะบอร์เนียวปิดให้บริการเนื่องจากทัศนวิสัยย่ำแย่

วานนี้ กระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียแถลงว่าปิดโรงเรียนไปแล้วกว่า 2,600 โรง รัฐที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือรัฐซาราวักบนเกาะบอร์เนียว ปิดโรงเรียนไปกว่า 1,000 โรง พื้นที่หนึ่งบริเวณชายแดนอินโดนีเซียคุณภาพอากาศทะลุระดับอันตราย

ส่วนที่อินโดนีเซีย นายอากุส วิโบโว โฆษกสำนักงานภัยพิบัติแห่งชาติ แถลงว่า อินโดนีเซียทำฝนเทียมที่ จ.ริเอา บนเกาะสุมาตราที่เกิดไฟป่าอย่างหนักได้สำเร็จ

เฉพาะ 2 จังหวัดบนเกาะบอร์เนียว พบจุดเสี่ยงไฟป่ากว่า 2,800 แห่ง แม้จุดเสี่ยงใน จ.ริเอาจะลดลงแล้วก็ตาม

ทางการอินโดนีเซียยืนยันว่า ทำทุกอย่างที่ทำได้ ระดมเจ้าหน้าที่จากทั่วประเทศ 29,000 คนมาช่วยดับไฟ หลายจุดไหม้ใต้ป่าพรุที่อุดมด้วยคาร์บอน

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ไม่น่าจะสกัดไฟป่าได้ก่อนถึงฤดูฝนในเดือน ต.ค. จนหวั่นว่าจะเกิดวิกฤติควันไฟป่าซ้ำเหมือนในปี 2558 ที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 20 ปี

นายโรเบิร์ต ฟิลด์ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันก็อดดาร์ดเพื่อศึกษาอวกาศ ผู้ติดตามไฟป่าอินโดนีเซีย กล่าวว่า ปัญหาหลักของนักดับเพลิงคือ ไฟใต้ดินป่าพรุดับยาก ยิ่งเป็นการตั้งใจเผายิ่งยากเพราะมีเชื้อเพลิงหนุนไฟไม่มีวันหมด “ต้องรอฝนฤดูมรสุมเท่านั้นที่ดับไฟได้”