วิศวกรชีวการแพทย์ 5.0 ภารกิจรับอนาคตที่ ม.รังสิต

วิศวกรชีวการแพทย์ 5.0 ภารกิจรับอนาคตที่ ม.รังสิต

วิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต เดินหน้าสร้างวิศวกรชีวการแพทย์ 5.0 เป็นยุคตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป มุ่งพัฒนาบัณฑิตเป็นนวัตกรและผู้ประกอบการ

 วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เดินหน้า 100% ในการสร้างวิศวกรชีวการแพทย์ 5.0 มุ่งพัฒนาบัณฑิตเป็นนวัตกรและเป็นผู้ประกอบการทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ ทางด้านปัญญาประดิษฐ์  IoT ทางการแพทย์ และวิศวกรรมเนื้อเยื่อ พัฒนาการของโลกตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเบา ในแต่ละเทคโนโลยีที่ค้นพบนั้นจะสามารถทำให้มนุษย์เรานำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเอง สังคม และประเทศชาติ ประมาณช่วงละ 50 ปี 

ทางด้านการแพทย์นั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรคของมนุษย์ก็คือ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับร่างกายมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยการวัดสัญญาณชีพต่างๆ และองค์ความรู้ต่างๆ ในโลกที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยและรักษาโรคโดยหน้าที่และความรับผิดชอบของวิศวกรชีวการแพทย์สามารถแบ่งเป็นยุคต่างๆ ได้ดังนี้

วิศวกรชีวการแพทย์ยุคที่ 1.0 คือ ยุคก่อนที่มีการค้นพบระบบ Internet ซึ่งการข้อมูลและการวินิจฉัยโรคทั้งในลักษณะ First Opinion และSecond Opinion มาจากแพทย์ ดังนั้น วิศวกรชีวการแพทย์จึงทำงานในลักษณะ Technician หรือช่างเครื่องมือแพทย์ที่ทำหน้าที่บำรุงรักษา หรือสนับสนุนการทำงานทางด้านเครื่องมือแพทย์เท่านั้น

วิศวกรชีวการแพทย์ยุค 2.0 เป็นยุคตั้งแต่ปี 2000-2008 เป็นยุคที่เริ่มมีอินเทอร์เน็ต แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลและการวินิจฉัยโรคในลักษณะ First Opinion ส่วนใหญ่ก็มาจากแพทย์ โดยที่ Second Opinion เริ่มมาจากการสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ทำให้บทบาทและหน้าที่ของวิศวกรชีวการแพทย์มีการพัฒนาขึ้น โดยเริ่มมีการพัฒนาระบบช่วยในการตัดสินใจเบื้องต้นได้บ้าง

วิศวกรชีวการแพทย์ยุค 3.0 เป็นยุคตั้งแต่ปี 2008-2015 เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย มีการเข้าถึงในระดับรากหญ้ามากขึ้น ทำให้เริ่มมีระบบการตัดสินใจทางการแพทย์ที่สมบูรณ์มากขึ้น เริ่มมีระบบการแพทย์ออนไลน์ทำให้การวินิจฉัยโรคในลักษณะ First Opinion เริ่มมาจากระบบการตัดสินใจทางการแพทย์และเริ่มทำให้ Second Opinion มาจากแพทย์ ดังนั้น ทำให้บทบาทและหน้าที่ของวิศวกรชีวการแพทย์มีความสำคัญ และมีบทบาทในการพัฒนา และทำงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์มากขึ้น

วิศวกรชีวการแพทย์ยุค 4.0 เป็นยุคตั้งแต่ปี 2015-2020 เป็นยุคที่มีความก้าวหน้าทางด้านอินเทอร์เน็ตในทุกมิติ ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ มีการประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีการเข้าถึงในระดับรากหญ้า ทำให้เริ่มมีระบบ IoT และปัญญาประดิษฐ์(AI) ทางการแพทย์ มีหุ่นยนต์ที่ช่วยในการตัดสินใจ และการรักษาทางการแพทย์ที่มากขึ้น ทั้งในแง่คุณภาพและในแง่การกระจาย มีความต้องการข้อมูลทางการแพทย์ในเชิงบุคคลมากขึ้น 

ทำให้การวินิจฉัยและการรักษาในลักษณะ First Opinion เป็นแบบออลน์มากขึ้น และเริ่มทำให้ Second Opinion มีความต้องการจากแพทย์ที่ต่างออกไป เป็นการดูแลรักษาส่วนบุคคลโดยใช้ข้อมูลทางการแพทย์ที่มาจาก First Opinion  ในการนี้ทำให้บทบาทและหน้าที่ของวิศวกรชีวการแพทย์มีบทบาทและความสำคัญในการพัฒนา และทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถที่จะหาแนวทางในการประกอบอาชีพด้วยตนเองในด้าน Data Technology เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยและการรักษาทางการแพทย์มากขึ้น

วิศวกรชีวการแพทย์ยุค 5.0 เป็นยุคตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป ยุคนี้โลกจะเปลี่ยนจากยุค IT หรือ Information Technology เป็นยุค DT หรือ Data Technology ดังนั้น ต่อจากนี้อีกประมาณ 30 ปี ถือว่าเป็นยุคทองของวิศวกรชีวการแพทย์ เนื่องจากจะเป็นยุคมีความก้าวหน้าทางด้านอินเทอร์เน็ตในทุกมิติแบบสมบูรณ์มากที่สุด ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณมีการใช้ระบบ IoT ทางการแพทย์ การประยุกต์ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีปริมาณมากหรือที่เรียกว่า Big Data ระบบ Machine Learning จะสมบูรณ์แบบมากจนสามารถทำให้หุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่ทำด้วยปัญญาประดิษฐ์ มีความถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย 

มีการเข้าถึงในระดับรากหญ้า ทำให้ข้อมูลประจำตัวของมนุษย์เปรียบเสมือนเป็นแหล่งทองคำที่ทำให้สามารถทำการวินิจฉัยและรักษาเป็นปัจเจกบุคคลได้สมบูรณ์ ทำให้ First Opinion ทั้งหมดมาจากระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของหุ่นยนต์ และในส่วนของ Second Opinion จึงจะเป็นของแพทย์ที่ต่างออกไปเป็นการดูแลรักษา หรือให้คำปรึกษาส่วนบุคคลที่ได้ข้อมูลมาจาก First Opinion ในการนี้ทำให้บทบาทและหน้าที่ของวิศวกรชีวการแพทย์มีบทบาทและความสำคัญมากที่สุดในการพัฒนาและบริหารจัดการ Algorithm และต้องทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์อย่างเต็มตัว รวมทั้งทำให้สามารถประกอบอาชีพด้วยตนเอง หรือเป็นผู้ประกอบการที่เป็นที่ต้องการของสังคมอย่างแพร่หลาย

จากพัฒนาการดังกล่าวทางวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้ติดตามความก้าวหน้าและได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตร และแนวทางการผลิตบัณฑิตทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา ได้มองเห็นว่าองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางวิศวกรรมชีวการแพทย์แบบเดิมๆ ที่เราได้ใช้ในการผลิตบัณฑิตมาเป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปีนั้นล้าสมัยและกำลังที่จะไม่สามารถนำไปใช้กับแพลตฟอร์มของโลกในอนาคตได้ 

ดังนั้น ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและสร้างบัณฑิตให้ออกไปพัฒนาประเทศทางด้านการแพทย์ในอนาคต จึงได้มุ่งเดินหน้าสร้างบัณฑิตทางด้านปัญญาประดิษฐ์ และ IoT ทางวิศวกรรมชีวการแพทย์ ขึ้นมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2560  เป็นต้นไป 

เรามีความพร้อมในทุกๆ ด้าน 100 เปอร์เซ็นต์ ในการขับเคลื่อนการผลิตบัณฑิตตามแนวทางดังกล่าว โดยได้แสดงศักยภาพเพื่อเปิดตัวในระดับประเทศ โดยร่วมกับสมาคมอุปกรณ์การแพทย์ไทยหรือ Thai BMI และศูนย์วิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ชีวการแพทย์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมเรื่อง Medical IoT Bigdata Analysis Machine Learning และ Artificial Intelligence ให้กับบุคลากรทางการแพทย์เมื่อ ส.ค.ที่ผ่านมา 

การเดินหน้าเปลี่ยนแปลงแบบ Transformation โดยสร้างบัณฑิตทางด้านปัญญาประดิษฐ์ และ IoTทางการแพทย์ ดังกล่าว จะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และดำริของท่าน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ในเรื่อง Regenerative Education ของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่มุ่งทำให้มหาวิทยาลัยไม่ใช่ที่เรียนหนังสือ แต่เป็นที่ที่จะทำให้ โลกแห่งการเรียนรู้ โลกแห่งการทำงาน และโลกแห่งอนาคต เป็นโลกเดียวกัน 

*บทความโดย รศ.นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต