บิ๊กคัมปานีลุยงานวิจัย ‘สแตนฟอร์ด’ บรรลุภารกิจ Do Good -Do Well

บิ๊กคัมปานีลุยงานวิจัย ‘สแตนฟอร์ด’ บรรลุภารกิจ Do Good -Do Well

เป้าหมายระยะยาวของโครงการชื่อ "The Stanford Thailand Research Consortium" ที่ว่าด้วยเรื่องของการวิจัยแบบเจาะลึก มีอยู่ 2 เรื่อง

ก็คือ “Do Good” และ “Do Well” ซึ่งหมายถึงการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรไทยและของประเทศไทย


โครงการฯเกิดขึ้นจากองค์กรชั้นนำของประเทศไทยจับมือกันทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท หวังผลักดันทั้งองค์กรและประเทศไทยให้เกิดความสามารถต่อกรกับความเปลี่ยนแปลงของโลกท่ามกลางกระแสดิสรัปชั่น และมุ่งสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอพี, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ล่าสุดคือบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)


ความโดดเด่นอยู่ตรงที่ได้อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญของ “สแตนฟอร์ด” มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกมาเป็นผู้ดำเนินการศึกษาค้นคว้าและวิจัยแบบเจาะลึก ครอบคลุม 4 มิติองค์ความรู้เพื่ออนาคต ได้แก่ 1. ยกระดับความสามารถคนไทยให้เท่าทันโลก 2. นำเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจไทย 3. เสริมสร้างมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนไทยให้สูงขึ้น อย่างยั่งยืน และ 4. ส่งเสริมการพัฒนาสังคมเมืองที่คิดถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน


ซึ่งโครงการฯอยู่ภายใต้การดูแลและสนับสนุนจาก เอสอีเอซี (SEAC) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน และมีระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี


“อริญญา เถลิงศรี” กรรมการผู้จัดการ SEAC เล่าว่า เพราะมีโอกาสร่วมทำงานกับองค์กรชั้นนำของประเทศไทยมายาวนานทำให้รู้ว่าองค์กรกำลังเผชิญหน้าบริบทของการแข่งขันที่ไม่เหมือนเดิม สภาพของสังคมเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนเดิม มีความท้าทายแบบทวีคูณจึงเกิดคำถามว่า SEAC ต้องทำอย่างไรเพื่อช่วยให้องค์กรอยู่รอดและรักษาอันดับที่ดีเหมือนเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิม


"ทุกวันนี้ เราไม่สามารถเอาตำราเดิมๆ มาตอบโจทย์ในวันนี้ได้เลย เพราะสิ่งที่ถูกเขียนมา มันถูกเขียนมาจากในอดีต เราพยายามมองหางานวิจัยใหม่ ๆ ว่าจะเอามาใช้อย่างไรได้บ้าง แต่ก็พบว่างานวิจัยที่เจอนั้นมันตอบบริบทประเทศอื่น หลายครั้งที่บริษัทไทยเอาวิจัยเหล่านั้นมาใช้ก็ไม่เกิดผลต่อองค์กร ซึ่งเราก็ได้เจอว่าสแตนฟอร์ด เป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เน้นแค่การสอนหนังสือ แต่ยังโดดเด่นในเรื่องของงานวิจัยด้วย ซึ่งผู้บริหารของสแตนฟอร์ดเองก็ไม่เชื่อว่า องค์ความรู้เดิมจะอยู่ได้ตลอดไป ตัวอาจารย์เองก็จำเป็นต้องเสาะหาความรู้ใหม่ๆ จึงเป็นอะไรที่ลงตัว ทางสแตนฟอร์ดจึงตกลงมาทำงานวิจัยที่ตอบบริบทขององค์กรไทยและประเทศไทย"


“มร. พอล มาร์คา” ผู้บริหารระดับสูง Stanford Center for Professional Development (SCPD) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรต่างๆ ในแต่ละประเทศให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิสรัปชั่นได้อย่างทันท่วงที ข้อเท็จจริงก็คือประเทศที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการทำวิจัยอย่างเจาะลึกเป็นจำนวนหลายหมื่นวิจัยต่อปี เพื่อวิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหาที่องค์กรกำลังเผชิญ หรือการคิดค้นและเร่งพัฒนาองค์กรสู้ “ความท้าทายใหม่”  ที่กำลังเข้ามา จนเกิดมาเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ ประสิทธิภาพสูง พร้อมประสิทธิผลที่เป็นรูปธรรม ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว

"สำหรับประเทศไทย มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของคนไทย รวมไปถึงขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรไทย ล่าสุดเราได้เข้ามาเริ่มดำเนินการเพื่อศึกษาระบบต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา เป็นต้น"


“อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับเอพีการวิจัยจะแบ่งเป็น 2 เรื่อง โดยเรื่องแรกเป็นการศึกษา เป้าหมายทำเพื่อส่วนรวมโฟกัสที่การ Reskill และ Upskill ให้คนมีทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เรื่องที่สองก็คือ Well being มุ่งเน้นที่ลูกบ้าน และ Innovation Culture ให้สอดคล้องกับวิถีทรานส์ฟอร์มของบริษัท


"ที่ผ่านมาสแตนฟอร์ดส่งคนมานั่งที่เอพีเป็นเวลา 5 เดือนเพื่อทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมขององค์กร คนของเขายังออกไปใช้ชีวิตหลังเวลางานกับพนักงานของเราด้วย โดยให้เหตุผลว่าเพื่อจะได้รู้ว่าพนักงานเรามีรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างไร เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นสิ่งที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบมาจากการทำงานด้วย ถามว่าเป้าหมายนวัตกรรมที่อยากเห็นเป็นจริงหรือยัง ต้องบอกว่าผมเห็นแสงสว่างที่ปลายทางแล้วแต่มันก็ยัง (โคตร)ไกล"


“กานติมา เลอเลิศยุติธรรม” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของเอไอเอสคือความต้องการที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ ซึ่งภาคเอกชนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เคลื่อนตัวในเรื่องของการพัฒนาประเทศ และมีความเชื่อในเรื่องของการร่วมมือกันเป็นอย่างมาก


"สิ่งสวยงามจะเกิดขึ้นจากการที่ภาคเอกชนมาช่วยกันสนับสนุนภาครัฐในการเคลื่อนตัว และการที่เรามีมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เข้ามาช่วยสนับสนุนซึ่งจะทำให้การทำงานออกมาดีมากขึ้นกว่าที่เราจะทำเองคนเดียวเพราะจะทำให้ได้เห็นภาพที่ชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งทุกองค์กรสามารถใช้สิ่งที่องค์กรเชี่ยวชาญมาหนุนนำกัน"


นอกจากนี้ยังมองว่าคนไทยทุกคนก็ควรต้องรับผิดชอบตัวเอง ต้องพัฒนาองค์ความรู้และทักษะที่พร้อมที่สุดให้กับตัวเองด้วย เพราะสิ่งที่ท้าทายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชันจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นคนก็ต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องเริ่มต้นเปลี่ยนกันที่มายด์เซ็ท


“ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมากสิกรไทยขับเคลื่อนทั้งในเรื่อง“Do Good” และ “Do Well”มาอย่างต่อเนื่อง การได้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเข้ามาช่วยในโครงการนี้หมายถึงการได้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถระดับอินเตอร์เนชั่นนอล ซึ่งจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น


"เวลานี้ในการเดินไปข้างหน้าของทุกๆองค์กรคงไม่สามารถทำให้เราอยู่รอดเพียงลำพัง แต่ต้องทำให้สังคมและประเทศชาติไปด้วยกันได้ กสิกรไทยไม่ต้องการสร้างแค่เพียงผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่เราต้องการตอบแทนต่อสังคม ประเทศด้วยซึ่งมันก็เป็นเทรนด์ของโลกที่องค์กรหรือบริษัทไม่สามารถทำมาหากินโดยไม่ใส่ใจความยั่งยืน"