เรื่องเล่าจากสุสาน

เรื่องเล่าจากสุสาน

ไม่ใช่สืบจากศพ หากเป็นสืบค้นจากวัตถุที่พบในสุสาน วันนี้เราชวนนักโบราณคดีมาเล่าถึงความสำคัญของอาวุธ รถม้า ทหารดินเผา และสมบัติที่นำไปใช้ในโลกหน้า โดยถอดรหัสจากโบราณวัตถุ ในนิทรรศการ จิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพดินเผา

20190914200936993 (Large)

"เกอ อาวุธที่ทรงประสิทธิภาพของกองทัพฉิน"

สมชาย ณ นครพนม นักโบราณคดีทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แนะนำให้เรารู้จักกับ เกอ และเกาทัณฑ์ อาวุธชิ้นสำคัญที่พลิกประวัติศาสตร์การสู้รบเมื่อสองพันกว่าปีที่ผ่านมา

 “เกอทำมาจากสำริดมีลักษณะคล้ายง้าว ใช้ผูกติดกับด้ามไม้ บางด้ามติดใบง้าวถึง 3 ชุด เป็นอาวุธจู่โจมที่ทรงประสิทธิภาพมากของกองทัพฉิน สามารถต่อสู้กับทหารม้าได้เพราะเป็นอาวุธยาว ต่อสู้กับทหารราบก็ได้ โดยใช้เกี่ยว ฟัน และยังสามารถแทงย้อนเสื้อเกราะเข้าไปได้ เป็นอาวุธที่ทรงพลังมาก น่าเสียดายที่ในการขุดค้นพบอาวุธบางชิ้นก็ถูกลักลอบขโมยไป ทำให้เจอน้อย”

นอกจากเกอแล้ว อาวุธที่ค้นพบในสุสานยังมีเกาทัณฑ์ (หน้าไม้) ที่มีอานุภาพร้ายแรงไม่แพ้กัน

“เกาทัณฑ์ พัฒนาขึ้นมาจากธนู เป็นอาวุธที่มีความล้ำหน้ามากลูกศรที่ยิงจากเกาทัณฑ์ทำมาจากดีบุกทำให้มีความแข็งแกร่ง แรง เร็ว สามารถเจาะเกราะทุกชนิดของข้าศึก สังหารข้าศึกได้จากระยะไกล ที่สำคัญการฝึกเกาทัณฑ์ใช้เวลาเพียง 3 วัน ในขณะที่การฝึกพลธนูต้องใช้เวลาถึง 1 ปี ด้วยเหตุนี้กองทัพของจิ๋นซี จึงสามารถเกณฑ์ไพร่พลซึ่งเป็นชาวนาให้มาร่วมรบได้ในเวลาสั้นๆ”

20190914192942005 (Large)

สำหรับรถม้า(จำลอง)หล่อด้วยสำริด ขนาดครึ่งเท่าของรถม้าจริง มีความสำคัญอย่างไร  ดวงใจ พิชิตณรงค์ชัย ภัณฑารักษ์ชำนาญการ อธิบายว่า รถม้าคันนี้อาจจำลองรถม้าพระที่นั่งของจักรพรรดิจิ๋นซีที่ทรงใช้เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปต่างถิ่นเพื่อตรวจราชการในแว่นแคว้นต่างๆ พระองค์สวรรคตระหว่างเดินทางและใช้รถม้าบรรทุกพระศพกลับมาฝังที่เมืองเสียนหยาง

“รถม้าที่นำมาจัดแสดงนี้จำลองมาจากของจริงที่ค้นพบในสุสาน ซึ่งของจริงจะไม่นำออกแสดงในต่างประเทศ อยากให้สังเกตการณ์ควบคุมม้าทั้งสี่ตัว คนขับรถม้าจะมีบังเหียนบังคับม้ามือซ้ายสามเส้น มือขวาสามเส้น ม้าสองตัวกลางควบคุมการวิ่งทางตรง ม้าตัวริมขวาจะควบคุมเวลาเลี้ยวขวา ส่วนตัวซ้ายควบคุมการเลี้ยวซ้าย คล้ายกับไฟเลี้ยว” ภัณฑารักษ์เล่ายิ้มๆ

20190914192942273 (Large)

ส่วนหุ่นทหารดินเผาที่จัดวางเรียงกัน 3 นาย เริ่มต้นจากพลธนูที่อยู่ในท่านั่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าในมือน่าจะเคยถือหน้าไม้มาก่อน ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่ามีการเขียนสีแดงที่ได้จากแร่ธรรมชาติลงบนเชือกผูกผม ทำให้ทราบว่ามีการระบายสีลงบนตัวหุ่นด้วย

นายทหารที่ยืนตรงกลางไม่สวมเสื้อเกราะ นักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นหุ่นของทหารระดับแม่ทัพ

“เราดูจากหมวกที่สวมใส่ เพราะมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ถึงลักษณะของหมวกที่ระบุถึงตำแหน่ง หุ่นทหารสวมเสื้อเกราะที่ยืนถัดไปคาดว่าเป็นนายทหารที่มีตำแหน่งรองลงมา ในมือน่าจะเคยมีดาบเป็นอาวุธ หุ่นทหารที่นำมาจัดแสดงนั้นเราอยากให้เห็นถึงตำแหน่งในกองทัพที่แตกต่างกัน”

ทั้งนี้ทหารและม้า เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของกองทัพ

ในส่วนสิ่งของเครื่องใช้ที่ผู้ตายเชื่อว่าจะนำไปใช้ในโลกหน้าที่ค้นพบในสุสานยุคราชวงศ์ฮั่นนั้น ประกอบไปด้วยสิ่งของที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตในสังคมเกษตรกรรม

จุฑารัตน์ เจือจิ้น ภัณฑารักษ์ชำนาญการ เล่าถึงเครื่องปั้นดินเผาที่ค้นพบว่า

“มีตั้งแต่สัตว์ที่เลี้ยงได้แก่ วัว แตกต่างสายพันธุ์ หมูป่า หมูบ้าน แกะ สุนัข โม่หิน บ้าน บ่อน้ำที่พบในสุสานเดียวกันสะท้อนให้เราเห็นภาพการดำรงชีวิตของคนสมัยนั้น

นอกจากนี้เรายังพบว่าในสมัยฮั่น มีความนิยมในเรื่องภาชนะดินเผามากกว่าสำริด มีการคิดค้นน้ำเคลือบสีต่างๆ มีการทำเครื่องเคลือบที่เลียนแบบภาชนะสำริด มีชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจคือ จุน -ฝาทำเป็นรูปภูเขาตามความเชื่อว่าภูเขาเป็นที่อยู่ของเซียน คนจีนเชื่อว่าสูงสุดคือความเป็นเซียน คือความไม่ตาย”

20190914200819748 (Large)

(ซ้าย) จุน เครื่องเคลือบดินเผาที่ฝาทำเป็นรูปภูเขาและภาพชนะดินเผาที่พบในสุสานราชวงศ์ฮั่น

20190914200824110 (Large)

ตุ๊กตาดินเผารูปหญิงรับใช้

การค้าขายแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมบนเส้นทางสายไหมในช่วงราชวงศ์ฮั่น ยังนำมาซึ่งแฟชั่นเครื่องแต่งกายชุดคลุมยาวจากเปอร์เซียที่สวมซ้อนกันหลายชั้น ดังรูปปั้นตุ๊กตาหญิงรับใช้ที่นำมาจัดแสดงให้ชมกัน รวมทั้งตุ๊กตาดินเผารูปคนขี่ม้าที่ใบหน้าและเครื่องแต่งกายบ่งบอกว่าเป็นชาวต่างชาติ

โบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ มีให้ผู้สนใจร่วมค้นหาความหมายและสืบค้นถึง 133 ชิ้น จัดแสดงที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันนี้ – 15 ธันวาคม ศกนี้ พุธ-อาทิตย์ 09.00 – 16.00 น.ค่าธรรมเนียมเข้าชม คนไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท โทร.0 2224 1333

20190914200935527 (Large)

เรื่องน่ารู้ก่อนเข้าชม

นิทรรศการจิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทัพดินเผา นำเสนอเนื้อหาจัดแสดงออกเป็น 4 หัวเรื่อง ได้แก่

พัฒนาการก่อนการรวมชาติ : ยุคราชวงศ์โจวตะวันออก นำเสนอความเป็นแคว้นต่าง ๆ ที่มีการปกครองเป็นเอกเทศ แต่ก็ได้มีพัฒนาการ การสั่งสมทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรม อันเป็นปัจจัยส่งเสริมให้แคว้นฉินกลายเป็นจักรวรรดิที่แข็งแกร่งและสามารถผนวกแคว้นต่าง ๆ เข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันในกาลต่อมา ซึ่งโบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดง ก็ทำให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางด้านโลหกรรมเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ภาชนะสำริด อาวุธและเงินตรา

จิ๋นซีฮ่องเต้: จักรพรรดิองค์แรกของจีน ผู้ผนวกโลกมนุษย์และสวรรค์ จัดแสดงความสำเร็จในการรวมรัฐทั้ง 7 ให้เป็นอาณาจักรหรือจักรวรรดิหนึ่งเดียว เป็นปึกแผ่นเดียวกัน พร้อมกับการปฏิรูประบบการปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง พัฒนาเทคโนโลยีการสงคราม มีการกำหนดมาตรฐานหน่วยชั่ง ตวง วัด ระบบเงินตรา ภาษาเขียน และพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ

รวมถึงทำการเชื่อมต่อแนวกำแพงดินอัดของแคว้นต่างๆ เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึกศัตรูจนกลายเป็นกำแพงเมืองจีนที่มีความยิ่งใหญ่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก

สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ มหาอาณาจักรใต้พิภพ ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะมีชีวิตเป็นอมตะ ทำให้จิ๋นซีฮ่องเต้ เสาะแสวงหายาอายุวัฒนะและสร้างสุสานเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตหลังความตายหรือโลกหน้า เรื่องราวของจิ๋นซีฮ่องเต้ ได้รับการบันทึกไว้โดย“ซือหม่าเฉียน” อาลักษณ์สมัยราชวงศ์ฮั่น ได้พรรณนารายละเอียดอันน่าทึ่งของมหาสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี และปริศนานี้ได้กระจ่างขึ้น เมื่อมีการค้นพบหุ่นทหารดินเผาครั้งแรก เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2517 นับเป็นการค้นพบทางโบราณคดีครั้งสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 ซึ่งองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ยกย่องและประกาศให้สุสานจักรพรรดิจิ๋นซีเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี 2530 โบราณวัตถุในส่วนจัดแสดงนี้ จะเป็นส่วนสำคัญของนิทรรศการ เช่น หุ่นดินเผาทหารแม่ทัพ แม่ทัพสวมชุดเกราะ พลธนูสวมชุดเกราะนั่งชันเข่า นักรบสวมชุดเกราะ และม้าประกอบรถม้า สมัยราชวงศ์ฉิน พ.ศ.322 – 337 แสดงให้เห็นถึงความสามารถขั้นสูงของช่างและเทคโนโลยีในสมัยนั้น

สืบสานความรุ่งโรจน์: ยุคราชวงศ์ฮั่น แสดงถึงการต่อยอดความรู้มรดกภูมิปัญญาจากราชวงศ์ฉิน มาสู่ราชวงศ์ฮั่น ปรากฏผ่านความรุ่งเรืองทางด้านวัฒนธรรม การเมืองการปกครอง สังคม เกษตรกรรม และเทคโนโลยีทางการทหาร ตลอดจนด้านเศรษฐกิจการค้าและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างชาวจีนโบราณกับชาวต่างชาติอีกซีกโลกบนเส้นทางสายแพรไหม จนได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของงานศิลปกรรมและอารยธรรมจีนโบราณอย่างแท้จริง

20190914200821796 (Large)