"ธนาธร"เปิดข้อมูล ปล่อยกู้การเมือง “191 ล้าน”

"ธนาธร"เปิดข้อมูล  ปล่อยกู้การเมือง “191 ล้าน”

ทันทีที่่สำนักงานคณะกรรมการ​ป้องกัน​และ​ปราบปราม​การ​ทุจริต​แห่งชาติ​(ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รอบสอง จำนวน 80 คน จากทั้งหมด 500 คน ในกรณีเข้ารับตำแหน่ง 79 ราย เมื่อ 25 พ.ค. 2562 และพ้นจากตำแหน่ง 1 คน

ทำให้สาธารณชนทราบว่า ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีทรัพย์สิน แหล่งที่มาของรายได้จากการประกอบการธุรกิจต่างๆ รวมถึงหนี้สิน รายจ่าย ที่จะเป็นข้อมูลสำคัญในการตรวจสอบความสุจริตโปร่งใส จากการทำหหน้าที่ในสภาอันทรงเกียรติ 

หนึ่งในบรรดา ส.ส.ทั้ง 79 คน  ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แจ้งทรัพย์สินรวมคู่สมรส 5,632,536,266 บาท หนี้สิน 683,303 บาท มีรายได้รวม 188,606,720 บาท รายจ่าย 66 ล้านบาท และประเด็นที่ถูกจับจ้อง คือ การปล่อยเงินกู้ 6 รายการ โดยมี 2 รายการ ที่เป็นสัญญาเงินกู้ที่ทำไว้กับพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งหมด 191.2 ล้านบาท

21-SePpD-221

ตามรายการแสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน ที่แจ้ง ป.ป.ช.มีรายละเอียด ดังนี้่  สัญญาฉบับแรกทำเมื่อวันที่ 2 ม.ค.2562 ระหว่าง ธนาธร (ผู้ให้กู้) กับ นิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรคอนาคตใหม่ ปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้าพรรค (ผู้กู้)  

โดยการทำสัญญา ทั้ง 2 ฝ่าย ตกลงกันว่า ธนาธร ให้เงินกู้แก่พรรค อนค.161.2 ล้าน บาท โดยพรรค อนค. ยอมเสียดอกเบี้ยให้ธนาธร ให้อัตรา 7.5% ต่อปี คิดจากจำนวนเงินต้น  มีกำหนดส่งดอกเบี้ยทุกเดือน จนกว่าสัญญาจะสิ้นสุดลง หากผิดชำระหนี้ ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม พรรค อนค.จะรับผิด ในเบี้ยปรับวันละ 100 บาท 

สำหรับพรรค อนค.การชำระเงินกู้ตามสัญญา จะเกิดขึ้นภายใน 3 ปี โดยในปีแรก ชำระหนี้เงินต้น 80 ล้านบาท ปีที่ 2 ชำระหนี้เงินต้น 40 ล้านบาท และปีที่ 3 ชำระหนี้เงินต้น 41.2 ล้านบาท

ขณะที่สัญญาที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 โดยธนาธร ปล่อยกู้ 30 ล้านบาท ซึ่งมีการลงนามด้วยบุคคลเดียวกับสัญญาฉบับแรก โดยในวันทำสัญญาพรรค อนค.ได้รับเงิน 2.7 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 2% ต่อปีของเงินต้น และ่ตกลงจะชำระภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา

เวลาต่อมาในระหว่างที่ ธนาธร รับเชิญจากสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แห่งประเทศไทย ( FCCT) ให้ขึ้นเวทีบรรยาย ในหัวข้อ “อะไรคืออนาคตของพรรคอนาคตใหม่”  เมื่อ 15 พ.ค.2562 โดยในการบรรยายช่วงหนึ่งได้ระบุถึงการบริหารการเงินว่า เพื่อให้พรรคสามารถเดินหน้าในช่วงการเลือกตั้งได้ ปัจจุบันตนจึงให้เงินทางพรรค ยืมไปแล้วราว 110 ล้านบาท

"ให้ผมเปิดเผยถึงวิธีบริหารการเงินของพรรคนี้สักหน่อย พรรคออนาคตใหม่เป็นหนี้ผมอยู่ ผมให้เงินพรรคยืมอยู่ 110 ล้านบาท ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งรอบนี้ (24 มี.ค.62) พรรคไม่สามารถระดมทุนได้ทันเวลา สำหรับการหาเสียง อย่างที่ผมบอกไปว่า พรรคเพิ่งมีตัวตนในทางกฎหมาย เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถระดมเงินได้ทันการหาเสียงเลือกตั้ง แต่เราก็ไม่ต้องการทำเหมือนพรรคอื่น เราต้องการความโปร่งใส ดังนั้นผมจึงไม่ได้ให้เงินพรรค แล้วบอกว่าให้พรรคใช้เงินก้อนนี้ โดยไม่ต้องแจ้ง กกต. ผมต้องการที่จะเปิดเผยตรงไปตรงมา และเราก็แจ้งเรื่องเงินก้อนนี้ รวมถึงวิธีการใช้เงินของเรา ตอนนี้ในบัญชีของพรรค ผมเป็นเจ้าหนี้การค้า (Account Payable) ร้อยกว่าล้าน ผมจำตัวเลขที่แน่ชัดไม่ได้ แต่น่าจะประมาณ 105 หรือ 110 ล้านบาท ผมให้พรรคยืมเงิน" นายธนาธร กล่าวไว้เมื่อ 15 พ.ค.2562

ในช่วงเวลาเดียวกัน พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค อนค.ก็ได้ยืนยันว่า พรรคการเมืองสามารถทำสัญญากู้ยืมได้ แต่การให้ข้อมูลของพรรณิการ์ ยิ่งสร้างความสับสน เมื่อมีการระบุ จำนวนเงินที่กู้ยืมจำนวน 250 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขที่แตกต่างกันนี้ มีความพยายามอธิบายถึงที่มาจากวงเงินสูงสุดที่กำหนดให้พรรคกู้ อยู่ที่เพดาน 250 ล้านบาท แต่ อนค.กู้ยืมในช่วงก่อนเลือกตั้ง 90 ล้านบาท และกู้เพิ่มหลังวันเลือกตั้งอีก โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 110 ล้านบาท จึงถูกตั้งคำถามถึงสาเหตุที่ตัวเลขไม่ตรงกัน

นั่นทำให้ประเด็นการกู้ยืมเงิน ยิ่งเป็นที่สนใจของสังคม ด้วยความเห็นที่แตกต่างหลากหลายกัน ฝ่ายหนึ่งมองว่า ไม่อาจดำเนินการได้ ด้วยข้อจำกัดในกฎหมายพรรคการเมือง ที่พบว่า เรื่องเงินรายได้ และการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย(พ.ร.ป.)พรรคการเมือง ปี 2550 กับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2560 เขียนไว้ต่างกัน

 โดยฉบับปี 2550 มาตรา 53(7) กำหนดให้มีรายได้อื่น พรรคจึงอาจมีรายได้จากการกู้ยืมเงินได้ ซึ่งที่ผ่านมา มีเพียงบางพรรคที่กู้ยืมเงินโดยอาศัยบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ในการหารายได้ แต่ใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองปี 60 มาตรา 62 ไม่มีบทบัญญัติเรื่องรายได้อื่นแล้ว ทำให้มองกันว่า พรรคการเมืองไม่อาจกู้ยืมเงินมาเป็นรายได้

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมือง เพื่อดำเนินกิจการของพรรค ตามมาตรา 87 ประกอบมาตรา 62 วรรคท้าย พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายจากเงินและทรัพย์สินของพรรคเท่านั้น ทั้งนี้เงินหรือทรัพย์สินของพรรคมีที่มาจากรายได้

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ซึ่งเผยแพร่ประกาศ กกต.เรื่องกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 (เมื่อ 24 ม.ค.62) ที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่เกิน 35 ล้านบาท ห้ามผู้สมัคร ส.ส.ใช้เงินหาเสียงเกิน 1.5 ล้านบาท ยิ่งตอกย้ำจากความเห็นของ ประธาน กกต. อิทธิพล บุญประคอง

เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2562 ที่ให้ความเห็นว่า ในกฎหมายพรรคการเมือง ไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองกู้เงิน"

ขณะที่ความเห็นต่าง จาก ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าพรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินได้ เนื่องจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่เกี่ยวข้องกับการเงินของพรรคการเมืองไม่ได้ระบุ "ห้ามการกู้เงินไว้" แต่ระบุแหล่งที่มาว่า อาจมีรายได้ 7 รายการ ในหมวด 5 มาตรา 62 ซึ่งชัดเจนว่า ไม่มีเรื่องการกู้เงิน แต่รวมเงินทุนประเดิม 

ฉะนั้นโดยนัยของกฎหมาย การไม่ระบุเงินกู้ แต่ระบุเงินทุนประเดิม ไม่น่าจะมีนัยว่าการกู้เงินทำไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาโครงสร้างของกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมือง

กรณีนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบจาก กกต. ซึ่งที่ผ่านมา มีการรับฟังความเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังเชิญ ธนาธร ผู้ถูกร้อง และ ศรีสุวรรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ในฐานะผู้ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ มาให้ถ้อยคำ เพื่อประกอบการพิจารณาในข้อกฎหมาย 

ประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายจับจ้องว่า ข้อมูลที่ ธนาธร เปิดเผยรายละเอียดอย่างเป็นทางการในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน เรื่อง"เงินกู้การเมือง" จะเกิดผลอย่างไรกับพรรคอนาคตและธนาธร รวมถึงผลต่อทิศทางการเมืองไทยด้วย