“อุบลฯ"ประกาศภัยพิบัติระดับ3 มท.1สั่ง"4จว.อีสาน"รับฝนหนัก

“อุบลฯ"ประกาศภัยพิบัติระดับ3    มท.1สั่ง"4จว.อีสาน"รับฝนหนัก

"อนุพงษ์" ในฐาน ผบ.ปภ.แห่งชาติ ประกาศให้ จ.อุบล ฯ เป็นเขตภัยพิบัติระดับ 3 สั่งทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือประชาชน ตามแผนปฏิบัติ ร่วมกับพื้นที่ 4 จว.อีสาน "อุบลฯ- ยโสฯ- ศรีสะเกษ - ร้อยเอ็ด" ที่ยังประสบภัยน้ำท่วม

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ออกประกาศกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณ์ภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เรื่องยกระดับ การจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) วานนี้ (20 ก.ย.) ความว่า ตามที่ได้เกิดพายุโพดุลและพายุคาจิกิ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก และเกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ตั้งแต่ 29 ส.ค. 

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยต่อเนื่องในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และสถานการณ์ยังคงรุนแรง ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก โดย บกปภ.ช.ได้ตรวจสอบแนวโน้มสถานการณ์ ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ พบว่าอิทธิพลของลมมรสุมอาจส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

ประกอบกับข้อมูลของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน เห็นว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล มีระดับลดลงแต่ยังคงล้นตลิ่ง สอดคล้องกับความเห็นเชิงพื้นที่ของ จ.อุบลราชธานี ยังเสียหายเป็นวงกว้างและยังรุนแรงต่อเนื่อง

ในฐานะ ผบ.บกปภ.ช.จึงได้ประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยเป็นระดับ 3 ซึ่งถือเป็นสาธารณภัยขนาดใหญ่ ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด โดยให้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง ดำเนินการและปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล และรายงานผู้บังคับบัญชา

รวมทั้งให้จัดตั้ง บกปภ.ช. ส่วนหน้าขึ้น ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 13 อุบลราชธานี โดยมีนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัด มท. กำกับควบคุมพื้นที่ โดยมีส่วนราชการต่าง ๆ ร่วมบูรณาการช่วยเหลือประชาชน และให้ บกปภ.ช.จัดตั้งส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉิน โดยให้ประสานภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน จิตอาสา เร่งดำเนินการ และเมื่อสถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลาย จะเร่งสำรวจความเสียหายด้านต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว

"การยกระดับการจัดการสาธารณภัยเป็นระดับ 3 ในพื้นที่ 4 จังหวัด เพื่อให้เกิดการประสานและบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงาน ทั้งในระดับนโยบายและระดับการปฏิบัติในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อตอบสนองและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ"