กรมอุทยานฯ ยังไม่ทำลายซากเสือของกลางวัดหลวงตาบัว

กรมอุทยานฯ ยังไม่ทำลายซากเสือของกลางวัดหลวงตาบัว

ระบุ สังคมยังคลางแคลงใจ

นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า แบะพันธุ์พืช กล่าวว่า ทางกรมอุทยานฯ จะยังไม่เร่งทำลายซากเสือของกลางที่ยึดมาจากวัดหลวงตาบัวแล้วมีการล้มตายจำนวนมาก เพราะสังคมยังคลางแคลงใจ หลังจากทางวัดออกมาตั้งคำถามว่าซากหายไปไหน แต่จะเร่งทำความเข้าใจสังคมให้เรียบร้อยก่อน อย่างเช่น ในวันนี้ ที่พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูการเก็บรักษาซากที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จังหวัดราชบุรี เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริงกระบวนการเก็บรักษาซาก

โดยนายสมโภชน์กล่าวว่า เสือเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของของกลางที่คดีสิ้นสุดแล้ว จึงสามารถดำเนินการตามขั้นตอนของกรมได้ แต่ต้องหลังจากทำความเข้าใจกับสังคมก่อน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน พร้อมกับยกตัวอย่างคดีงาช้างที่มีลักษณะคล้ายๆกันคือ เป็นของกลางมีค่าที่ต้องทำความเข้าใจ และเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาสักระยะหลังคดีสิ้นสุด พร้อมกับยืนยันว่า ทุกซากมีการตรวจสอบและบันทึกทำรายงานเป็นขั้นตอน

และหากมีการอนุมัติการทำลายซากของกลาง วิธีที่ใช้กันโดยปกติคือการเผาทิ้ง นายสมโภชน์กล่าว 

ขณะนี้ สถานีเพาะเลี้ยงฯ ได้เก็บรักษาซากหลังจากการผ่าพิสูจน์โดยการบรรจุไว้ในถังแช่ฟอร์มาลีน แต่บางถังที่สารเคมีได้ระเหยและทำให้ซากเกิดกลิ่นเน่าเหม็น ก็จะนำถึงไปฝังกลบเอาไว้ก่อน

กรมอุทยานฯ ตรวจยึดเสือสายพันธุ์ไซบีเรียจากวัดป่าหลวงตาบัวจังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงต้นและกลางปี 2559 จำนวน 147 ตัวก่อนนำมาฝากเลี้ยงที่สถานีเพาะเลี้ยงฯ เขาประทับช้างและเขาสนจังหวัดราชบุรี นานกว่า3 ปี 

โดยเสือโคร่งเหล่านี้ เกิดจากเสือโคร่งรุ่นแรกสายพันธุ์ไซบีเรียจำนวน 7 ตัวที่ทางกรมป่าไม้เคยเข้าตรวจยึดในปี 2544 แต่ไม่ได้นำของกลางออกไป จนกระทั่งขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนเป็น 147 ตัว

ในช่วงต้นปี 2558 ทางกรมพบว่า มีเสือหายไปจากวัด 3 ตัวจึงเร่ิมดำเนินการเคลื่อนย้ายของกลางในช่วงต้นและกลางปี 2559 โดยนำไปไว้ที่สถานีฯเขาประทับช้าง 85 ตัวและที่เขาสน 62 ตัวก่อนที่เสือจะทยอยตายลงเหลือที่เขาประทับช้าง 31 กับ30 ตัวตามลำดับ

จากการตรวจสอบผ่าซากพบว่า เป็นอัมพาตลิ้นกล่องเสียงทำให้การหายใจเข้าออกลำบาก เมื่ออาการหนักมากขึ้นจะไม่กินอาหาร มีอาการชักเกร็งและตายในที่สุด

นอกจากนั้น ยังพบการติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุนัขและสัตว์ป่าหลายชนิดรวมทั้งเสือโคร่ง ซึ่งหลังการติดเชื้อ จะพบอาการผิดปกติในระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร โดยปัจจุบันยังไม่มียารักษาเป็นการเฉพาะทำได้เพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น

นายบรรพต มาลีหวล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างกล่าวว่า ทางทีมสัตวแพทย์ยังไม่ได้ระบุถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เสือป่วยและตาย และความเชื่อมโยงระหว่างสองโรค แต่กำลังสืบสวนหาสาเหตุดังกล่าว แม้ในเบื้องต้น จะพบว่าเสือทุกตัวเป็นอัมพาตลิ้นกล่องเสียง แต่บางตัวก็พบเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัขร่วมด้วย โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ที่รับมาและยังไม่มีการปรับปรุงสถานที่และสวัสดิภาพของเสือ

โดยทางสถานีฯ รับเสือของกลางชุดแรก 5 ตัวช่วงปลายเดือนมกราคมปี 2559 และอีก5 ตัวในเดือนกุมภาพันธุ์ ก่อนจะรับชุดใหญ่ 137 ตัวในเดือนมิถุนายน 2559 ก่อนที่จะพบว่า เสือเริ่มทยอยตายตั้งแต่เดือนพฤกษภาคม 

โดยหลังจากที่รับมา ได้มีการตรวจประเมินพฤติกรรมและสุขภาพภายใน 30 วันแรกและพบว่า เสืออย่างน้อย 40 ตัว แสดงอาการมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ ซึ่งเป็นอาการของอัมพาตลิ้นกล่องเสียง  ซึ่งมักเกิดขึ้นหากอยู่ในสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมและเครียดจากสภาพแวดล้อม ก่อนที่จะตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข 

นายบรรพตกล่าวและเพิ่มเติมว่า การขนย้ายเสือในช่วงแรกเป็นไปด้วยความกดดันเร่งรีบ และอาจทำให้เสือมีอาการเครียด บวกกับไม่ได้มีการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดก่อนรับเข้ามา ทั้งนี้ ไม่ได้ระบุว่า เสือเหล่านั้นติดเชื้อมาจากที่ใด

หลังเกิดเหตุการณ์ ทางกรมได้ให้แนวทางดำเนินการสำหรับเสือตัวที่เหลือ โดยปรับปรุงสวัสดิภาพของเสือด้วยการขยายกรงและพื้นที่พักผ่อนที่มีขนาด40 ตรม. ณ เวลานี้ เพื่อลดความเครียด

นายบรรพตกล่าวพร้อมกับเพิ่มเติมว่า ที่น่าเป็นห่วงคือสภาพอากาศร้อน ซึ่งทางสถานีฯ พยายามปรับอุณหภูมิด้วยการฉีดสเปรย์ละอองน้ำช่วย

ส่วนตัวเสือที่เหลือ ได้แยกกลุ่มอาการของโรคออกเป็นสามกลุ่มเพื่อการรักษา โดยจะมีการพิจารณาในส่วนของการใช้วัคซีนที่จะนำมาใช้ป้องกันโรคไข้หัดสุนัข ซึ่งยังไม่มีวัคซีนโดยตรงในการรักษา และมีข้อกังวลในการใช้ว่าอาจส่งผลต่อการแพร่ระบาดวนสัตว์อ่่นของสถานีได้ จึงต้องพิจารณาการใช้อย่างระมัดระวัง 

และในตัวที่เป็นหนักมาก จะพิจารณาการผ่าตัดลิ้นกล่องเสียงช่วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ใหม่ของการรักษา นายบรรพตกล่าว