ศาลยกฟ้อง 'จ่านิว-กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง' ไม่ผิดมาตรา 116

ศาลยกฟ้อง 'จ่านิว-กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง' ไม่ผิดมาตรา 116

ศาลยกฟ้อง "จ่านิว-กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ไม่ผิดมาตรา 116 ชี้ชุมนุมเรียกร้องเลือกตั้งปี 61-วิจารณ์ "ประวิตร" ยืมนาฬิกาเพื่อน ชุมนุมเพื่อให้มีเลือกตั้งตามระบอบ ชุมนุมโดยสงบ ไม่สร้างความรุนแรง

ที่ห้องพิจารณา 701 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ชุด RDN50 คดีหมายเลขดำ อ.2893/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ฉายา จ่านิว อายุ 26 ปี นักเคลื่อนไหวทางการเมือง จบการศึกษารัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ , นายอานนท์ นำภา อายุ 34 ปี อาชีพทนายความ , น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด อายุ 26 ปี , นายสุกฤษฎ์ เพียรสุวรรณ อายุ 25 ปี นักกิจกรรม อดีตนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ , น.ส.ณัฏฐา มหัทธนาหรือโบว์ อายุ 40 ปี วิทยากรอิสระ และนายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ อายุ 26 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ชุด RDN50 เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันกระทำการให้ปรากฏด้วยวาจา หรือวิธีการใด ท่ไม่ใช่ความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญ เพื่อก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง เกิน 5 คน

โดยพฤติการณ์ตามฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ.61 เวลากลางวันเนื่องกัน จำเลยทั้งหก กับนายรังสิมันต์ โรม จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1197/2561 ของศาลอาญา กับพวกอีก 42 คน ที่แยกไปดำเนินคดียังศาลแขวงดุสิต ได้ร่วมกันมั่วสุมและชุมนุมทางการเมืองและกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ โดยจำเลยกับพวก ร่วมกันใช้รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงเวทีด้านข้างของตัวรถยนต์ได้ติดป้ายโจมตีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล และปราศรัยโจมตีการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยผลัดเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวปราศรัย และร่วมกันปลุกระดมมวลชนปลุกปั่นให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาล และคณะ คสช. รวมทั้งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ภายในสิ้นเดือน พ.ย.61 พร้อมกับชูนิ้วสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง) บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถ.ราชดำเนิน อันเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ในทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น ซึ่งไม่ใช่กระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจว่ารัฐบาลและทหารจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับรัฐบาลและเป็นการยุยง ปลุกปั่น สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐบาล ซึ่งจำเลยทั้งหก ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี โดยวันนี้จำเลยทั้งหก เดินทางมาศาล และมีญาติ-คนใกล้ชิด รวมทั้งสื่อต่างประเทศและนักสิทธิมนุษยชนต่างชาติ กับแนวร่วมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเดินทาง เกือบ 20 คน มาร่วมสังเกตการณ์ในการพิพากษาและให้กำลังใจพวกจำเลยด้วย

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ก่อนการสืบพยานหัวหน้า คสช. ได้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 แล้ว ทำให้การกระทำตามฟ้องในข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่เป็นความผิด ให้จำหน่ายข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.

ส่วนจำเลยที่ 1-6 กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือไม่ ศาลเห็นว่าก่อนการชุมนุม จำเลยได้ยื่นหนังสือแจ้งชุมนุมต่อ สน.สำราญราษฎร์ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กำหนดชุมนุม 16.00 -20.00 น. ซึ่งข้อยุติรับฟังได้ว่ายุติการชุมนุมในเวลา 19.30 น. และจำเลยได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เบิกความถึงผู้ชุมนุมว่าเดินทางมาเองตามการเชิญชวนเปิดเผย ใช้ความสงบ ไม่รุนแรง ไม่มีอาวุธ

การชุมนุมจึงไม่ใช่ลักษณะม็อบจัดตั้งเพื่อหวังผลทางการเมือง และจากคำถอดเทปที่จำเลยพูดขณะเกิดเหตุ ไม่ปรากฏว่ามีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย หรือที่จะสร้างความรุนแรง และไม่ได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ขณะที่การชุมนุมมีเป้าหมายเดียวคือการเรียกร้องให้รัฐบาลและหัวหน้า คสช. จัดการเลือกตั้ง ภายในเดือน พ.ย.61 เพราะผู้ชุมนุมไม่เชื่อคำพูดของหัวหน้า คสช. หลังมีการเลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้ง โดยการเรียกร้องนั้นก็เป็นภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 บังคับใช้ โดยหัวหน้า คสช. ก็ได้ประกาศที่จะให้มีการเลือกตั้ง ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1-6 จึงเป็นไปตามความมุ่งหมายของกระบวนการประชาธิปไตย

ส่วนที่จำเลยได้พูดถึง พล.อ.ประวิตร เกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบเรื่องยืมนาฬิกาเพื่อนมา และการตรวจสอบการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์นั้น ก็ปรากฏว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนรับทราบและรับรู้อยู่เป็นการทั่วไปอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ติชมโดยสุจริต ตามหลักประชาธิปไตย และหลังมีการประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วพวกจำเลยก็ไม่เรียกร้องอีก จึงฟังได้ว่าการชุมนุมนั้นเป็นไปโดยสงบ ไม่ได้ยุยงให้ปั่นป่วนกระด้างกระเดื่อง และเมื่อคำนึงถึงสภาพการณ์และหลักการตรวจสอบแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ติชมรัฐบาลตามหลักประชาธิปไตยแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งหกไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 พิพากษายกฟ้อง

นายสิรวิชญ์ หรือจ่านิว ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่า ขอขอบคุณองค์คณะผู้พิพากษาที่ได้พิพากษาตามแนวทางที่เราสนับสนุน เห็นว่าเราใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้สร้างความกระด้างกระเดื่องรุนแรง เรายึดหลักการชุมนุมโดยสันติวิธีมาตลอด และเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน เป็นบรรทัดฐานแรกที่จะให้เห็นว่าการที่ประชาชนออกมาเรียกร้องสิทธิ แสดงความเห็น ไม่ถือเป็นการยุยงปลุกปั่น ประชาชนสามารถใช้สิทธิได้ และเป็นการบอกกับเจ้าหน้าที่รัฐว่าคุณไม่สามารถใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มาปิดปากหรือสร้างความยุ่งยากให้กับชีวิตประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้

เมื่อถามถึงความมั่นใจในการสู้คดีที่เหลือของกลุ่มชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง นายสิรวิชญ์ หรือจ่านิว กล่าวว่า คดีอื่นต้องดูตามเนื้อหา แต่ถ้าเป็นข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ไม่น่าจะมีปัญหาแล้ว นี่คือการวางแนวพื้นฐานว่าเราออกมาใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่ได้ยุยงปลุกปั่นสร้างความรุนแรงประการใด เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล สิ่งที่เราเรียกร้องมาเป็นแนวทางเดียวกันมาโดยตลอด

เมื่อถามถึงความคืบหน้าคดีที่จ่านิวถูกลอบทำร้าย นายสิรวิชญ์ กล่าวว่า ตำรวจไม่ได้แจ้งความคืบหน้าอะไรมาเลย เดี๋ยวพอใกล้ครบ 3 เดือนจะไปติดตามในท้องที่ก่อน ตนก็ให้เวลากับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ไม่อยากจะเร่งรัดอะไร เข้าใจว่าตำรวจบอกมีเหตุระเบิดอะไรต่างๆ ต้องสอบสวนอย่างเร่งด่วน ก็ให้เวลาแล้ว ถ้าครบ 3 เดือน ตนก็จะเริ่มติดตามอย่างเร่งรัด

ส่วนกรณีที่จะเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดียนั้น นายสิรวิชญ์ ระบุว่า จากช่วงที่ตนต้องพักรักษาตัวจากการถูกทำร้าย ทำให้ไปรายงานตัวไม่ทัน ตนยื่นหนังสือไปแล้วแต่เขาก็ไม่ได้ตอบอะไรกลับมา โดยนัยยะการที่ไม่สามารถไปรายงานตัวได้ตามกำหนดนั้น เขาอาจจะไม่พิจารณาในส่วนนี้ให้

ด้าน น.ส.ณัฏฐา หรือโบว์ ก็กล่าวขอขอบคุณศาล ผู้พิพากษา และว่าผลของคดีในวันนี้ไม่เป็นที่แปลกใจสำหรับพวกเรา เพราะเราเป็นจำเลยย่อมรู้ข้อเท็จจริงคดีที่สุด ก่อนหน้านี้สิ่งที่เรามุ่งหวังอยากจะทราบว่า คำพิพากษาจะยืนยันหลักการของสังคมนิติรัฐนิติธรรมและเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ในการที่ประชาชนออกมาเรียกร้องการเลือกตั้งและตรวจสอบการทุจริต ซึ่งเป็นไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์และเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ดี

วันนี้คำพิพากษาที่เราได้ฟังเป็นคำพิพากษาที่งดงามหมดจด ใครที่บอกว่าพวกเราเป็นคนชังชาติ คิดว่ารายงานขบวนการคนทำลายประเทศคงมีชื่อคนแถวนี้บ้างก็ได้ ถึงแม้เราชนะคดี แต่สิ่งที่ คสช. ทำให้เกิดขึ้นสำเร็จไปแล้ว พวกเรามีความยากลำบากเดือดร้อนในการเดินทางมาศาล นายสุกฤษฏิ์ หนึ่งในจำเลยเรียนหนังสืออยู่ต่างประเทศต้องบินไปบินมาด้วยค่าใช้จ่ายส่วนตัว ทำให้เกิดความหวาดกลัวในสังคมจากการที่คนเราออกมาใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย การปิดปากตัวเองของผู้คนได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว น.ส.ณัฏฐา กล่าวและว่า วันนี้ขบวนการทำลายชาติไม่ใช่พวกเรา ขบวนการทำลายชาติคือขบวนการที่พยายามจะใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเพื่อปิดปากประชาชน และเปิดทางให้ทรราชทำงานได้อย่างสะดวก คิดว่าวันนี้น่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับทุกคน แล้วก็อยากจะให้ทุกๆ คนเฝ้ารอการเผยแพร่คำพิพากษาในวันนี้

ด้าน นายอานนท์ กล่าวถึงคำพิพากษาว่า เป็นการวางหลักกฎหมายที่ดีว่าการชุมนุมอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญคืออะไร คดีที่เราโดนก็ปราศรัยเนื้อหาทำนองเดียวกัน หวังว่าอีก 3-4 คดีจะวินิจฉัยให้อยู่ในกรอบเช่นเดียวกัน เป็นผลการต่อสู้ร่วมกันของคนอยากเลือกตั้งทุกคน นอกจากแกนนำแล้วมีชาวบ้านถูกดำเนินคดีที่ศาลแขวงอีกหลายสิบคน เราก็ให้กำลังใจและหวังว่าคำพิพากษานี้เป็นบรรทัดฐานให้มวลชนด้วย

ขณะที่ น.ส.ชลธิชา กล่าวว่า วันนี้มีนักการทูตจากหลายประเทศมาสังเกตการณ์ ฟังคำพิพากษาไปกับพวกเรา ถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแล้ว แต่เรายังไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตย การที่ต่างประเทศจับตามองสถานการณ์ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องจำเป็น ตนเพิ่งกลับจากสหรัฐอเมริกา เพื่อตอกย้ำกับรัฐบาลอเมริกาว่าเรายังไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่ผ่านมามีการคอร์รัปชั่น มีการตั้งคำถามมากมาย และคดีคนอยากเลือกตั้ง นี่ไม่ใช่คดีสุดท้ายในยุคของ คสช. มีอีกหลายคดี ขอเชิญชวนประชาชนคนไทยทุกคน องค์กรระหว่างประเทศช่วยกันเฝ้าจับตามองสถานการณ์ในประเทศไทยหลังจากนี้ด้วย