แชร์ความคิด "บราเดอร์" พลิกโมเดลธุรกิจฝ่าพายุเทคโนโลยี

แชร์ความคิด "บราเดอร์" พลิกโมเดลธุรกิจฝ่าพายุเทคโนโลยี

ผู้บริหารบราเดอร์ แบรนด์เครื่องพริ้นเตอร์รายใหญ่ แชร์โมเดลการปรับตัวสู้กระแสดิสรัป โดยแตกไลน์เพิ่มโปรดักที่หลากหลายฉีกตัวไปจากการพิมพ์ แถมยังเล่าถึงโมเดลธุรกิจของแบรนด์ดังอื่นๆ ด้วย

กระแสดิจิทัลทรานส์ฟอร์มยังคงเป็นตัวเร่งให้องค์กรต่างๆ ทั่วโลกตื่นตัวกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเพื่อรับมือได้ทันท่วงที แต่ใช่ว่าทุกองค์กรจะทำได้สำเร็จ เนื่องจากต้องอาศัยตัวแปรสำคัญหลายประการที่จะนำไปสู่บทสรุปของความสำเร็จในภาคองค์กรธุรกิจ

พงษ์พันธ์ สุระวัฒน์เจริญ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยในการเสวนาหัวข้อ “บิสิเนส โซลูชั่น ฟอร์ ทรานส์ฟอร์ม” ที่ถูกจัดขึ้นภายใต้งานสัมมนา “พลิกวิกฤติสร้างเศรษฐกิจไทย : Do or Die” จัดโดย ฐานเศรษฐกิจว่า เทคโนโลยีนั้นไม่ได้เป็นทางออกของธุรกิจเสมอไป คน ความคิดต่างหากที่เป็นทางออกที่ดีที่สุด หากว่าเราต้องการจะปรับโมเดลองค์กร และนำเทคโนโลยีไปปรับใช้เราพึงต้องมีไอเดียก่อนว่าจะนำเทคโนโลยีอะไรไปใช้กับสถานการณ์ของเรา แล้วจงเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ


จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้องค์กรธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ต่างตื่นตัวและเร่งพัฒนาธุรกิจโดยการนำโซลูชั่นต่างๆมาใช้กับการบริหารจัดการ และก็เช่นเดียวกันกับผู้บริหารโมบายโอเปอร์เรเตอร์รายใหญ่รายหนึ่งของประเทศไทย ได้เปิดใจพูดถึงมุมมองการปรับเปลี่ยนองค์กรในใจความที่ว่า

“สิ่งที่เราทำในวันนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องทำในอนาคต โมบายโอเปอร์เรเตอร์จะไม่ได้เป็นแบบเดิมอีกต่อไป จะผันตัวไปเป็นดิจิทัลเซอร์วิสโปรไวเดอร์ จากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของประเทศที่มีรายได้ 70-80% เป็นค่าโทรและค่าดาต้า จะผันตัวไปเป็นดิจิทัลเซอร์วิสโปรไวเดอร์ หรือกำลังจะปล่อยแพลตฟอร์มของการทำโฆษณา แพลตฟอร์มของการทำประกัน และแพลตฟอร์มของการทำนาโนไฟแนนซ์ เขามองเห็นภาพในอนาคตเนื่องจากวันนี้ที่จรวด SpaceX ส่งดาวเทียมสัญญาณเน็ตเฟซบุ๊กของอีรอน มัค กำลังซุ่มทำฟรีอินเตอร์เน็ต หรืออินเตอร์เน็ตราคาถูกออกมาในตลาด ซึ่งหากเขาทำสำเร็จรายได้กว่า 80% ของค่าโทรและค่าดาต้าจะไม่เหลืออะไร ดังนั้นองค์กรระดับหลายๆหมื่นล้าน หรือแสนล้านก็ยังต้องปรับตัวเช่นกัน"

เร่งปรับตัวก่อนถูก Disruption


แนวคิดการทำ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม กับเคสที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าเราควรมีการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้กับองค์กรเราในเรื่องใดบ้าง ซึ่งจากข้อมูลการวิจัยของ IDC Research ที่เป็นบริษัทชั้นนำของโลกสำรวจองค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า 25% จาก 1 ใน 4 ที่ทำการสำรวจยังไม่มีการเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงองค์กร ยังเป็นดิจิทัล Resister และอีก 40% ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของภูมิภาคนี้เกิดการตื่นตัวว่าจะต้องเปลี่ยนแต่ไม่รู้จะเปลี่ยนไปในทิศทางใด เริ่มต้นจากจุดไหน Explorer อย่างไร และมีแค่ 30% เท่านั้นที่ปรับตัวแล้วก้าวหน้าท่ามกลางเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ตื่นตัวและกำลังจะก้าวข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงแต่ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็กำลังเริ่มเช่นกัน


คนที่จะทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์มจะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบหลัก 3 ข้อดังนี้ 1.การปรับปรุงเรื่องของประสบการณ์ของลูกค้า คือโอกาสที่ลูกค้าจะเป็นลูกค้าของคุณอย่างต่อเนื่องมีสูง 2.ปรับปรุงเรื่องของกระบวนการปฏิบัติงานให้กระชับรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ให้มีต้นทุนที่ถูกลง อะไรที่ไม่สำคัญก็เอาท์ซอสออกไปและให้บุคคลอื่นที่เชี่ยวชาญเข้ามาทำ และหลักสุดท้ายคือการขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการสร้างโปรดักส์หรือธุรกิจใหม่ๆขึ้นมาในองค์กรหรือในบริษัทโดยทั้ง 3 มุมมองนี้จะถูกแบ็คอัพด้วยความสามารถด้านดิจิทัล ซึ่งเราต้องทำให้ชัดใน 3 ข้อและขั้นตอนต่อปคือการวางแผนว่าเราจะปรับปรุงเรื่องเหล่านั้นอย่างไร เราถึงจะใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนซัพพอร์ตในขั้นตอนสุดท้ายได้

แบรนด์ดัง ยังกล้าเปลี่ยน

อีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่เห็นได้เด่นชัดว่ามีการทรานส์ฟอร์มธุรกิจแล้วนั้นคือ แบรนด์ดังอย่าง Burberry ที่ในอดีตมีกลุ่มเป้าหมายคือ เบบี้บูมเมอร์ หรือ เจนเอ็กซ์ แต่วันนึงอยากจะเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าใหม่เป็นมิลเลเนียนที่มีทุนทรัพย์สิ่งที่แบรนด์ดังนี้ทำคือ ปรับปรุงเรื่องของเว็บไซต์แบรนด์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ปรับปรุงเรื่องของการสื่อสารกับคนในยุคมิลเลเนียนในการเข้าถึงโซเชียลมีเดียมากขึ้น เช่น ทวิตเตอร์ พร้อมทั้งนำแพลตฟอร์มวีแชทของจีนมาปรับใช้กับธุรกิจ รวมถึงเข้าถึงระบบอีคอมเมิร์ซให้ลูกค้าสามารถคลิกสั่งซื้อแฟชั่นใหม่ๆจากเว็บไซต์ได้เลย หรือสามารถเลือกสโตร์ที่จะไปรับได้ แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมต่อออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ทำให้ ณ วันนี้แบรนด์เสื้อผ้าหรูอย่างเบอร์เบอรี่มีฐานข้อมูลลูกค้าเชื่อมถึงกันทั่วโลก อีกทั้งยังส่งผลต่อสมรรถภาพในการบริหารงานอีกด้วยไม่ว่าจะเป็นการประหยัดเวลาในการตอบลูกค้า การดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ๆผ่านการใช้ดิจิทัลเป็นตัวเชื่อม และสุดท้ายคือการทรานส์ฟอร์มธุรกิจที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาดหมาย


ประเด็นง่ายๆ ที่ธุรกิจเหล่านี้ทำคือ 1.โฟกัสออนไลน์มากขึ้น 2.ให้ความสำคัญกับการบริการลูกค้ามากขึ้น ซึ่งการบริการคือสิ่งสำคัญที่อีคอมเมิร์ซไม่สามารถให้ลูกค้าได้ 3.สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า และเมื่อพร้อมก็ชนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ทันที

ขณะเดียวกัน พงษ์พันธ์ ยังกล่าวต่อไปว่า ในฐานะที่บราเดอร์เองเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่มีผลประกอบการปีล่าสุดเติบโตถึง 7% มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 5% และหากมองย้อนไปตลอด 6 ปีที่ผ่านมา (ช่วงปี 2013 -2018) รายได้ของบราเดอร์เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 1.6 เท่า สวนทางกับภาพรวมตลาดเครื่องพิมพ์ที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทที่ตลาดหดตัวลง 5% ส่วนเครื่องพิมพ์เลเซอร์ลดลง 3% แสดงให้เห็นว่า บราเดอร์พยายามปรับเปลี่ยนและพัฒนาองค์กรให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยแตกไลน์ไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆมากมายที่นอกเหนือจากเครื่องพิมพ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบซอฟต์แวร์ตรวจสอบทรัพย์สินผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หรือที่เรียกว่า TRACKMO หรือแม้กระทั่งการทำสายรัดข้อมือผู้ป่วยที่มีการออกแบบมาอย่างดีเพื่อรองรับการใช้งานในปัจจุบัน เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดรวมทั้งพยายามมองหาโอกาสใหม่ๆ จากตลาดและขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของลูกค้าทั้งในมิติของนวัตกรรมและคุณภาพของผลิตภัณฑ์

ด้าต้า กุญแจสำคัญของเรื่อง

จุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่เป็นจุดสำคัญที่สุดของหลายๆหลักการที่ทำให้บราเดอร์ หรือองค์กรที่มีการทรานส์ฟอร์มแล้วนั้นประสบผลสำเร็จ คือ ‘ดาต้า’ ที่ถือเป็นกุญแจสำคัญของภาคธุรกิจ หากเราไม่มีการจัดเก็บฐานข้อมูลของลูกค้า หรือ ตลาดเอาไว้เราไม่สามารถจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปป้อนในระบบที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเองแม้เราจะทำการตรวจสอบย้อนหลังไปสัก 30-40 ปีข้อมูลในระบบเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่และเมื่อถึงจุดเปลี่ยนที่จะมีการนำเอไอมาใช้ก็จะสามารถต่อยอดสู่ขั้นตอนต่อไปได้อย่างสมบูรณ์ซึ่งถือเป็นบิสิเนสโซลูชั่นฟอร์ทรานส์ฟอร์มที่แท้จริง