เปิดกฎเหล็ก ‘แคร์รี หล่ำ’ พบประชาชน

เปิดกฎเหล็ก ‘แคร์รี หล่ำ’ พบประชาชน

“แคร์รี หล่ำ” ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงพร้อมพบปะรับฟังปัญหาของประชาชนในสัปดาห์หน้า แต่งานนี้ต้องมีระเบียบ ผู้เข้าร่วมประชุมต้องลงทะเบียนล่วงหน้า รับแค่ 150 คน และห้ามนำโทรโข่ง ธง หรือร่มมาด้วยอย่างเด็ดขาด

การพบปะระหว่างแคร์รี หล่ำ กับชาวฮ่องกงจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 26 ก.ย. หลังจากเกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลยืดเยื้อมากว่า 3 เดือน บางครั้งบานปลายกลายเป็นความรุนแรง งานนี้เปิดรับแค่ 150 คนโดยต้องแจ้งรายชื่อทางออนไลน์

แถลงการณ์จากรัฐบาลฮ่องกงระบุว่า การประชุมเป็นการเสวนาในเวทีเปิด หวังเปิดให้ชาวฮ่องกงทุกช่วงวัย ได้แสดงความคิดเห็นไปถึงรัฐบาล ตามที่หล่ำรับปากว่า จะหารือกับประชาชนเพื่อพยายามยุติความปั่นป่วนในศูนย์กลางการเงินเอเชียแห่งนี้ และเพื่อความปลอดภัยของทุกคน ผู้ร่วมประชุมจะต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย

“ห้ามนำวัตถุใดๆ ที่ผู้จัดงานมองว่า เข้ามาป่วนหรือทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญหรือเป็นอันตรายกับคนอื่นได้”

วัตถุดังกล่าว ประกอบด้วย โทรโข่ง/เครืื่องขยายเสียง ร่ม เครื่องมือป้องกันตัว (เช่น หน้ากากช่วยหายใจและหมวกนิรภัย) ธง ป้ายผ้า ธงทิว พลาสติก แก้ว ขวดหรือภาชนะโลหะ เครื่องดื่มบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง ฯลฯ

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ประท้วงได้สร้างความโกลาหลไปทั่วเมือง หลายคนสวมหน้ากากและกางร่มเพื่อป้องกันตนเองจากการฉีดน้ำสลายการชุมนุมของทางการ ไปปาระเบิดขวดใส่สถานีตำรวจ บุกสภานิติบัญญัติ ทำลายสถานีรถไฟใต้ดิน และจุดไฟเผากลางถนน ด้านตำรวจตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา ฉีดน้ำ และกระสุนยาง

ย้อนไปในอดีต ฮ่องกง เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ กลับคืนสู่จีนในปี 2540 ภายในสูตร “1 ประเทศ 2 ระบบ” เพื่อรับรองว่า ชาวฮ่องกงยังมีเสรีภาพอย่างที่จีนแผ่นดินใหญ่ไม่เคยมี ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการรวมตัวกัน หรือระบบยุติธรรมที่เป็นอิสระ

แต่ผู้ประท้วงโกรธเกรี้ยวเมื่อเห็นว่า ทั้งๆ ที่มีข้อตกลงเรื่องความเป็นอิสระของฮ่องกง แต่รัฐบาลปักกิ่งก็แทรกแซงเข้ามามากขึ้นทุกที ส่งผลให้การประท้วงขยายวงออกไปเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารฮ่องกงโดยตรง

จีนยืนยันว่า ตนยังเคารพหลักการ “1 ประเทศ 2 ระบบ” อยู่เสมอไม่เคยเข้าแทรกแซงฮ่องกง แต่มหาอำนาจภายนอก โดยเฉพาะสหรัฐและอังกฤษ เป็นฝ่ายยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ เมื่อเข้ามาป่วนแล้วก็ขอให้ทั้งสองประเทศระมัดระวังด้วยว่า สุดท้ายแล้วธุรกิจสหรัฐและอังกฤษนั่นเองจะได้รับความเสียหาย

ตัวอย่างล่าสุดของความเสียหายเกิดขึ้นเมื่อวันพุธ (18 ก.ย.) สนามแข่งม้า “จ็อกกีคลับ” ยกเลิกการแข่งขันก่อนถึงเวลาแข่งเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังผู้ประท้วงประกาศว่า จะมาประท้วงที่สนามแข่งแฮปปี้วัลเลย์ เนื่องจากม้าตัวหนึ่งที่ ส.ส. จูเนียส โฮ ผู้สนับสนุนจีนเป็นเจ้าของร่วมมีกำหนดลงแข่ง

โฮ เคยเรียกผู้ประท้วงว่า “อันธพาลเสื้อดำ” วานนี้ (19 ก.ย.) เขาถอนตัวม้านาม “เดิมพันฮ่องกง” ออกจากการแข่งขันทุกรายการจนกว่าการประท้วงสิ้นสุด ทั้งๆ ที่ม้าของเขามีสิทธิที่จะลงแข่ง

“เราพูดถึงสิทธิมนุษยชนอยู่ทุกวี่ทุกวัน สัตว์ก็มีสิทธิขั้นพื้นฐานของมันเหมือนกัน” ส.ส.รายนี้ประชด

จ็อกกีคลับจัดการแข่งขันเพียงปีละ 80 วัน แต่ทำรายได้มหาศาลจนกลายเป็นผู้เสียภาษีรายใหญ่สุดของฮ่องกง ส่งเงินเข้าคลังปีละกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง รวมทั้งยังบริจาคเงินอีกหลายล้านให้กับองค์กรการกุศลดูแลเรื่องสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และสวนสาธารณะ

อังกฤษเป็นคนนำการแข่งม้ามาสู่ฮ่องกงในศตวรรษที่ 19 และอยู่รอดปลอดภัยหลังฮ่องกงกลับสู่อ้อมกอดจีน แม้ว่าแผ่นดินใหญ่ห้ามการเล่นพนัน แต่จ็อกกี้คลับเป็นบริษัทพนันถูกต้องตามกฎหมายแห่งเดียวของฮ่องกง มีสนามแข่ง 2 สนาม และร้านรับพนันอีกหลายสิบแห่งได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาล

เท่านั้นยังไม่พอ ทางการฮ่องกงยังประกาศยกเลิกการแสดงพลุและดอกไม้ไฟ เฉลิมฉลองวาระครบรอบ 70 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยอ้างถึงความปลอดภัยของสาธารณชน นี่แค่เป็นตัวอย่างเล็กๆที่สะท้อนว่าการประท้วงในฮ่องกงย่อมส่งผลกระทบในวงกว้างต่อไปอีกนาน