เทคโนฯไร้พรมแดน พลิกมิติ‘การทูตดิจิทัล’

เทคโนฯไร้พรมแดน พลิกมิติ‘การทูตดิจิทัล’

"อินเทอร์เน็ตอาจเป็นแหล่งที่มาของความขัดแย้ง และความเข้าใจผิด แต่แน่นอนว่าการทูตดิจิทัลก็สามารถทำหน้าที่เจรจา ประสานทำความเข้าใจแบบคู่ขนานกันไป” รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวย้ำ

หลังศตวรรษที่20 การทูตเปลี่ยนแปลงไปมาก เดิมการสื่อสารโดยตรงระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับประชาชน หรือรัฐบาลประเทศหนึ่งกับประชาชนประเทศหนึ่งถูกคุมเข้มและไม่อนุญาตให้ทำง่ายๆ เพราะเหตุผลด้านความมั่นคง แต่ปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียมาปรับใช้เป็น “การทูตดิจิทัล” ในงานกงสุล เผยแพร่ข่าวสารเร่งด่วนสู่ประชาชน ยื่นขอตรวจลงตรา(วีซ่า) ให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจในต่างแดน ตลอดจนเป็นช่องทางเจรจาระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล หย่นย่อระยะทางและเวลา โดยไม่ต้องเดินทางไปพบกันจริงๆ

ในการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการทูตดิจิทัล 2019 (Regional Conference on Digital Diplomacy) จัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย เรทโน มัรซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวถึงการทูตดิจิทัลกับการท้าทายและโอกาสในกระแสโลกาภิวัตน์ว่า การทูตได้เปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการเทคโนโลยี และคาดหวังว่า เวทีนี้จะช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์นำนวัตกรรมไปใช้กับการทูตในประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือระดับภูมิภาค รวมทั้งเปิดโอกาสดึงภาคเอกชนเข้าร่วมพัฒนาการทูตดิจิทัลเพื่อประชาชน

“นวัตกรรมและดิจิทัลกลายเป็นสิ่งจำเป็นกับการทูตไปแล้ว ซึ่งเทคโนโลยีได้ฉีกวิถีแนวปฏิบัติแบบเดิมๆออกไป โดยที่การทูตยังให้ความสำคัญกับความมั่นคงและเคารพสิทธิ มุ่งประโยชน์ที่เป้าหมายใหญ่คือการเข้าถึง และดูแลประชาชนให้รับความสะดวกแบบรวดเร็วยิ่งขึ้น” รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย ระบุ

เรทโน ได้ยกตัวอย่างในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลอินโดนีเซียได้ใช้เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และโซเชียลมีเดียอื่นๆ เผยแพร่ข่าวสารมุ่งสร้างสันติภาพเป็นประโยชน์กับประชาชน ป้องกันการรับข่าวปลอม ตัดตอนความเข้าใจผิดและหยุดการปลุกปั่นสร้างกระแสในสังคม

"อินเทอร์เน็ตอาจเป็นแหล่งที่มาของความขัดแย้ง และความเข้าใจผิด แต่แน่นอนว่าการทูตดิจิทัลก็สามารถทำหน้าที่เจรจา ประสานทำความเข้าใจแบบคู่ขนานกันไป” รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวย้ำ

สำหรับการประชุมครั้งนี้ มุ่งเน้น 3 ประเด็นสำคัญๆ ได้แก่ 1.การทูตดิจิทัลกับการท้าทายและโอกาส 2.บทบาทนักการทูตดิจิทัลในสถานการณ์วิกฤติและ 3.การทูตดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ทั้งได้เชิญผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนรัฐบาลจากประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์เข้าร่วม เพื่อแบ่งปันทัศนะและประสบการณ์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

ด้านหลัว หลินเฉวียน รองประธานสมาคมการทูตสาธารณะของจีน ชี้ว่า การทูตยุคดิจิทัลได้เปลี่ยนวิธีการทำงานและขยายขอบเขตกิจการทางการทูตออกไป อย่างเช่นประเทศจีนได้มีการเปิดแอพพลิเคชั่น เพื่ออำนวยความสะดวกด้านวีซ่า การให้คำแนะนำเดินทาง และข้อมูลทางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย

ขณะที่ ทรงพล สุขจันทร์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา กล่าวถึงเปลี่ยนประสบการณ์ใช้การทูตดิจิทัลที่ผ่านมาว่า สถานทูตฯ ได้ใช้การทูตดิจิทัลสำหรับงานกงสุล เช่น การให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เกาะลอมบอก และเกิดเหตุสึนามิที่เมืองปาลู เมื่อปี 2561 ซึ่งสถานทูตฯ ได้ใช้ประโยชน์จากแอพพลิเคชั่นเปิดให้คนไทยได้ลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อติดต่อสื่อสารและรับแจ้งความช่วยเหลือจากผู้ประสบภัย แบบทันทีและตลอดเวลา (เรียลไทม์)

“เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้การทูตทำงานเกิดประสิทธิผล ทราบข้อมูลผู้ประสบภัย รายงานสถานการณ์ ณ เวลานั้น รวมทั้งตำแหน่งที่ประสบภัย และจุดนัดหมาย อันเป็นข้อมูลสำคัญของผู้ประสบภัยที่ครบถ้วน ซึ่งนำไปใช้ในการเจรจาขอความช่วยเหลือกับฝ่ายอินโดนีเซีย และวางแผนประเมินสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สถานทูตสามารถช่วยเหลืออพยพคนไทยกว่า 300 คนที่ประสบภัยพิบัติในทุกกรณีได้อย่างรวดเร็ว” เอกอัครราชทูตไทย ระบุ

ทรงพล กล่าวด้วยว่า สถานทูตฯ ยังใช้ประโยชน์จากเฟซบุ๊คของสถานทูต ในการแจ้งเตือนคนไทย กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติ การชุมนุมประท้วง และล่าสุดยังให้คำแนะนำด้านความปลอดภัยในการแข่งขันฟุตบอล นอกจากนี้ ยังได้เชื่อมต่อสถานทูตกับเว็บไซต์บริษัทการบินไทย และสายการบินต่างๆ เพื่อเผยแพร่ข่าวสารประชาสัมพันธ์ การลงทะเบียนออนไลน์ สำหรับคนไทยที่เดินทางมายังอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม การประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการทูตดิจิทัลครั้งนี้ ยังได้เห็นชอบเอกสาร “จาการ์ตา ว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาคว่าด้วยการทูตดิจิทัล” ที่ตอกย้ำในการดำเนินงานแบบทูตดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และรักษาเสถียรภาพให้กับประเทศที่ปราศจากข้อมูลอันเป็นเท็จ นอกจากนี้ ยังได้กำหนดแผนปฏิบัติการของการทูตดิจิทัลเพื่อสร้างเครือข่ายระดับภูมิภาค อีกด้วย