กสทช.ถกรัสเซียหวังเพิ่มโอกาสธุรกิจ

กสทช.ถกรัสเซียหวังเพิ่มโอกาสธุรกิจ

กสทช. จับมือกระทรวงพัฒนาดิจิตอลโทรคมฯและการสื่อสารมวลชนรัฐรัสเซีย จัดสัมมนาเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างโอกาสทางธุรกิจ

ชู 3 เรื่องเด่น ประกอบด้วย การลดค่าโรมมิ่ง ระหว่างประเทศ , การจับมือทางธุรกิจกับทีวีดิจิทัล และการให้ความรู้ด้านไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ รับ 5จี หวังพัฒนาสู่แพลตฟอร์มและหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกันในอนาคต

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีโทรคมนาคม และกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจและการดำรงชีวิตประจำวัน ประชาชนมีความต้องการเข้าถึงสื่อและต้องการติดต่อสื่อสารได้ในทุกที่ ทุกเวลา แบบ เรียลไทม์ซึ่ง กสทช. และ กระทรวงพัฒนาดิจิตอล โทรคมนาคม และการสื่อสารมวลชน แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ต่างให้ความสำคัญทั้งในส่วนของการพัฒนาและส่งเสริมกิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยทั้งสององค์กรได้ลงนามใน Joint Statement ในวันที่ 30 พ.ค. 2560 เพื่อสร้างความร่วมมือและยกระดับการพัฒนาด้านกิจการวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมของทั้งสองประเทศ ใน 3 ประเด็นหลัก

ประกอบด้วย 1. อินเตอร์เนชั่นแนล โมบาย โรมมิ่ง เน้นความร่วมมือ และส่งเสริมการเจรจาเชิงธุรกิจเพื่อลดต้นทุนการให้บริการ โดยมีเจตนาให้เกิดการลดอัตราค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติ ระหว่างกัน ซึ่งต้องขึ้นกับการเจรจาของแต่ละโอเปอเรเตอร์ 2.ดิจิทัล บรอดคลาสติ้ง เทเลวิชั่น แลกเปลี่ยนข้อมูล แนวปฏิบัติในการพัฒนาโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล รวมถึงการพัฒนาเนื้อหาที่ออกอากาศ ที่ได้มีการเชิญทีวีดิจิทัลไทย และ รัสเซีย มาหารือ จับมือทางธุรกิจในการนำรายการไทยออกอากาศในรัสเซีย และนำรายการรัสเซีย เช่น สารคดี มาออกอากาศในไทย และ 3.การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านความปลอดภัยในการใช้บริการโทรคมนาคม เพื่อรับมือกับ 5จี ในอนาคต

“สำหรับการประชุมแบ่งเป็นด้านโทรคมนาคมและวทยุโทรทัศน์ รวมถึงด้านการศึกษา ซึ่งมีหัวข้อสำคัญในการประชุม คือ ด้านกิจการโทรคมนาคม หารือเรื่องการอำนวยความสะดวกและบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้บริโภคในการใช้งานโทรศัพท์มือถือ โอกาสและความท้าท้ายในการประกอบกิจการ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแผนในการเปิดให้บริการ 5จีของทั้งสองประเทศ ตลอดจนนโยบายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และแนวทางการป้องกันภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต”

ด้านกิจการวิทยุโทรทัศน์ หารือประเด็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางธุรกิจในการนำเสนอเนื้อหาสื่อผ่านช่องทางใหม่ๆ ทักษะและเทคนิคในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร การปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ทางเทคโนโลยีที่ผู้คนหันมาใช้งานดิจิทัล แพลตฟอร์มมากขึ้น ผ่านการบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีการหารือในเรื่องสถานการณ์โอทีที ส่วนด้านการศึกษา มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาการศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาทางเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ